เพราะโลกธุรกิจนั้นไม่เคยหยุดนิ่ง สำหรับคนที่อยากจะก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นแต่อยากจะเพลย์เซฟตั้งแต่เริ่ม การซื้อแบรนด์แฟรนไชส์มาทำธุรกิจต่อนั้น ถือเป็นจุดหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจได้ ซึ่งก็มีให้เลือกให้ทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศ หลายคนบอกว่าซื้อแบรนด์ไทยน่าจะง่ายดี แต่รู้ไหมว่าแบรนด์แฟรนไชส์จากต่างประเทศเองก็มีข้อดีและสร้างโอกาสให้กับผู้ลงทุนได้เช่นกัน
ในเรื่องนี้ เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีโนซิส จำกัด ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในการนำแบรนด์ Texas Chicken ไก่ทอดจากอเมริกาเข้ามาหานักลงทุนในไทย โดยมีทางปตท.เป็นผู้ได้สิทธ์ของการเป็น Master Franchise เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว โดยปัจจุบันมี 20 สาขาในไทยและกำลังจะขยายสาขาเพิ่มขึ้น ได้เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีค่อนข้างสูง โดยสัดส่วนของกิจการในประเทศจะเป็นแบรนด์แฟรนไชส์จากต่างประเทศประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ และ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นแบรนด์แฟรนไชส์ของประเทศไทย แต่ถ้านับมูลค่าของรายได้จะไปตกอยู่กับกลุ่ม 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นถ้ามูลค่าของตลาดแฟรนไชส์ของประเทศอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท จะพบว่า 80 - 90 เปอร์เซ็นต์จะเป็นรายได้ที่มาจากแบรนด์แฟรนไชส์ต่างประเทศ
อย่างล่าสุดในงาน International Franchise Business Matching in Bangkok ทางบริษัทได้นำเข้าแบรนด์แฟรนไชส์ต่างประเทศจำนวน 6 แบรนด์เพื่อมาทำการจับคู่หาผู้ประกอบการ หรือนักลงทุนในไทย เพื่อให้ได้สิทธิขยายแฟรนไชส์แต่เพียงผู้เดียว (Master Franchise) ในประเทศไทยและสามารถขยายแฟรนไชส์ต่อได้ (Sub-Franchising) ได้แก่ Little Caesars เชนร้านอาหารพิซซ่าที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกจากสหรัฐอเมริกา Brotzeit แบรนด์ร้านอาหารสไตล์เยอรมันจากสิงคโปร์ Presotea แบรนด์ชานมไข่มุกจากไต้หวัน First Code Academy สถาบันสอนการโค้ดสำหรับเด็กที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียจากฮ่องกง The Edge Learning Center ศูนย์การเรียนรู้กวดวิชาเพื่อสอบข้อสอบเข้าสถาบันในมหาวิทยาลัยดังในสหรัฐอเมริกา อังกฤษและแคนาดาจากฮ่องกง และ Sureclean แบรนด์ให้บริการและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสุขอนามัยและฆ่าเชื้อโรคจากสิงคโปร์
“จะเห็นว่าแบรนด์อย่าง ธุรกิจการศึกษา กำลังมาแรงและมีความน่าสนใจ เพราะสามารถเปิดตลาดที่คนไทยยังไม่มีได้ ยกตัวอย่าง The Edge Learning Center ศูนย์การเรียนรู้กวดวิชาเพื่อสอบข้อสอบเข้าสถาบันในมหาวิทยาลัยดังในสหรัฐอเมริกา อังกฤษและแคนาดา จากฮ่องกงนี้ ไม่ใช่แค่ติวเฉยๆ แต่เขาสามารถที่จะแนะแนวไปต่างประเทศและประสบความสำเร็จในพื้นภาคเอเชียด้วย แต่ที่ประเทศไทยทำเองก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ หรืออย่างของ First Code Academy สถาบันสอนการโค้ดสำหรับเด็กที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียจากฮ่องกง ที่เป็นสถาบันสอนเด็กๆ ทำและเขียนโปรแกรมให้เป็น ซึ่งต่อจากนี้ไปเป็นโลกของอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว ใครๆ เขาก็อยากจะใช้คอมพิวเตอร์เป็น ใช้มือถือให้เป็นประโยชน์ไม่ใช่แค่เล่นเกม กลายเป็นว่าภาษาสำคัญนั้นไม่ใช่แค่ภาษาไทยและภาษาอังกฤษแล้ว แต่ตอนนี้เขาเรียนภาษาใหม่เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ หรือจะเป็นแบรนด์ Little Caesars เชนร้านอาหารพิซซ่าที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกจากสหรัฐอเมริการองจากแบรนด์ Domino’s Pizza และ Pizza Hut ก็สนใจที่จะเข้ามาเปิดตลาดในไทยด้วยเช่นกัน”
เศรษฐพงศ์ แนะนำด้วยว่า การเลือกซื้อแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จแล้ว คือการลดความเสี่ยงในการล้มเหลว อย่างกรณีของการเลือกซื้อแฟรนไชส์ในต่างประเทศ คือการที่เขามีแบรนด์ มีฐานลูกค้า มีระบบคุณภาพในการตรวจสอบ รวมถึงมีระบบของการทำการตลาด จะช่วยส่งเสริมทำให้แฟรนไชส์ซอร์ของแต่ละแบรนด์สามารถที่จะเติบโตได้เลย เรียกได้ว่าระบบแฟรนไชส์ คือสำเนาความสำเร็จจากคนหนึ่งและให้คนอื่นได้ใช้ และปัจจุบันคนไทยเองก็เริ่มมีการพัฒนาและอยากจะได้แบรนด์ต่างชาติมาเปิดในประเทศไทยมากขึ้น โดยคนที่เลือกซื้อแฟรนไชส์เวลานี้จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น ต่างจากในอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่คนอาจจะรอมีเงินก้อนหลังเกษียณก่อนถึงจะซื้อ
“ธุรกิจแฟรนไชส์เปรียบเสมือนเส้นทางลัดของการเติบโตและประสบความสำเร็จทางธุรกิจ เป็นการเรียนรู้จากธุรกิจของคนอื่น เพราะฉะนั้นการซื้อแฟรนไชส์คือการได้เรียนรู้เหมือนกับเรียน MBA ที่ตัวเองไม่ต้องเลือกเรียน ไปเรียนจากธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมา เพราะสัญญาประมาณ 3 ปี 5 ปี เราก็สามารถที่จะเรียนรู้ระบบการจัดการทั้งหมดได้เลย” เศรษฐพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี