YENJAI ไอศกรีม อยากกินตอนไหนก็ทำ!







      หน้าร้อนกำลังคืบคลานเข้ามาอย่างช้าๆ ถ้าได้ไอศกรีมสักแท่งมาช่วยดับกระหายคลายร้อนก็คงจะดีไม่น้อย แต่จะดีกว่าแค่ไหนหากสามารถทำไอศกรีมกินเองที่บ้านได้ง่ายๆ ไม่ต้องตากแดดออกไปซื้อเพิ่มอุณหภูมิความร้อนให้กับร่างกายตัวเอง และแล้วฝันก็เป็นจริงขึ้นมาเมื่อเจอกับ ‘YENJAI’ (เย็นใจ) ชุดทำไอศกรีมแท่งผลไม้สำเร็จรูป ที่ผลิตขึ้นภายใต้บริษัท เอ็นทูไอซ์ จำกัด ผู้ทำธุรกิจไอศกรีมแบบครบวงจร
 
      นิมณิชา กรรณเลขา ผู้อยู่เบื้องหลังของไอเดียบรรเจิดดังกล่าว เล่าถึงที่มาของการคิดชุดทำไอศกรีมแท่งผลไม้สำเร็จรูปออกมาว่า เป็นการต่อยอดจากธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ ให้บริการไอศกรีมแบบครบวงจร ตั้งแต่การจำหน่ายเครื่องทำไอศกรีม หลักสูตรสอนทำไอศกรีม รวมถึงวัตถุดิบ อุปกรณ์ต่างๆ





      “ปกติเรามีสูตรไอศกรีมสำเร็จรูปที่เป็นผงอยู่แล้ว เพื่อจำหน่ายให้กับร้านค้าต่างๆ ที่อยากทำไอศกรีมของตัวเองขาย เพราะสะดวกและง่ายต่อการขนส่ง โดยส่วนใหญ่เป็นรสชาติที่นิยมทานกันอยู่ในท้องตลาด แต่สำหรับผงไอศกรีมผลไม้ไทยที่เราคิดค้นขึ้นมาใหม่นี้ เรามองว่าเมืองไทยเองเป็นเมืองแห่งผลไม้ และผลไม้ไทยหลายชนิดก็ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสหากทำตรงนี้ขึ้นมา เพราะการหาไอศกรีมผลไม้ไทยที่เป็นรสชาติผลไม้แท้ๆ สักแท่ง ไม่ใช่แค่แต่งกลิ่นสังเคราะห์ค่อนข้างหาได้ยากในต่างประเทศ ถึงมีก็เป็นต้นทุนวัตถุดิบที่สูง ทำให้ต้องขายราคาแพง ซึ่งเรามองว่าชุดทำไอศกรีม YENJAI นี้สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยส่งเสริมผลไม้ไทยได้ออกสู่ตลาดโลกมากขึ้นด้วย เราอยากมีแบรนด์ไอศกรีมไทยดีๆ สักแบรนด์ที่ส่งออกไปขายยังตลาดโลกบ้าง”





      แม้จะตั้งกลุ่มเป้าหมายแรกไว้ที่ตลาดต่างประเทศ แต่ดูเหมือนว่าแค่เพียงเริ่มเปิดตัวออกมาได้ไม่นาน ผู้บริโภคชาวไทยเอง ก็ค่อนข้างให้การตอบรับที่ดีด้วย นิมณิชาอธิบายขั้นตอนการทำนั้นก็แสนง่าย เพียงแค่เทผงไอศกรีมลงไปในชาม ผสมนม กะทิ หรือน้ำเปล่า จากนั้นคนให้เข้ากัน แล้วนำเข้าแม่พิมพ์รูปผลไม้ที่เตรียมไว้ให้ ใส่ตู้เย็นแช่แข็ง เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็จะได้ไอศกรีมรูปผลไม้ออกมา โดยชุดทำไอศกรีมแท่งสำเร็จรูป YENJAI ที่ทำออกมาจำหน่ายนั้น มีให้เลือก 2 รูปแบบ คือ 1.ชุดทำไอศกรีมแท่งผลไม้สำเร็จรูป ใน 1 กล่องจะประกอบด้วย ผงทำไอศกรีมสำเร็จรูป 1 ชุด (สามาทำได้ 10 -12 แท่ง), แม่พิมพ์ซิลิโคนรูปผลไม้, ไม้ไอศกรีมแท่ง และคู่มือการใช้งาน ราคากล่องละ 1,290 บาท และ2.ผงรีฟิวราคากล่องละ 400 บาท ปัจจุบันมีให้เลือก 2 รสชาติ ได้แก่ รสทุเรียนและรสมะม่วง

      “เรามองที่กลุ่มลูกค้าต่างประเทศไว้ก็จริง แต่ความจริงแล้วผู้บริโภคคนไทยที่ต้องการทานไอศกรีมผลไม้ไทยแท้ก็สามารถซื้อไปทำเองที่บ้านได้ง่ายๆ เช่นกัน เป็นอีกกิจกรรมยามว่างในครอบครัว หรือโรงแรมร้านอาหารที่ต้องการนำไปขายต่อก็ทำได้ง่ายๆ เช่นกัน ไม่ต้องมีเครื่องทำไอศกรีมก็สามารถทำได้ ต้นทุนไม่ได้สูง เมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายแล้ว กำไรได้เกินร้อยเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว เฉลี่ยแล้ว 1 กล่องสามารถทำไอศกรีมแท่งได้ประมาณ 10 -12 แท่ง แม่พิมพ์อาจจะซื้อแค่ครั้งแรก จากนั้นสามารถซื้อผงรีฟิวเติมได้ ทำให้ต้นทุนตกเพียงแท่งละ 30-40 บาท ในขณะที่ราคาขายไอศกรีมประเภทนี้อยู่ที่ 80-90 บาทเลยทีเดียว”






      นิมณิชาทิ้งท้ายว่าความพิเศษอีกอย่างของแบรนด์ YENJAI นอกจากทำได้ง่าย สะดวก รสชาติอร่อยถูกใจ เข้มข้นจากเนื้อผลไม้เต็มๆ แล้ว ยังถูกพัฒนาขึ้นมาให้เป็นสูตรไขมนต่ำ low fat, low calories และ 0 % cholesterol  อีกด้วย

      นับเป็นอีกผลงานนวัตกรรมที่สามารถหาช่องว่างของตลาด มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้อย่างน่าสนใจ แถมยังช่วยส่งเสริมสินค้าไทยออกสู่ตลาดโลกได้ด้วย...ที่สำคัญคงช่วยให้อุณหภูมิฤดูร้อนนี้ผ่านพ้นไปได้อย่างเย็นใจกันบ้างแหละ
 
Facebook : clubsweetyicecreams
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน