เกาะกระแสออเจ้า เวิร์กช้อปขนมไทยกำลังมา!







      จากกระแสละครดังเรื่องบุพเพสันนิวาสที่กำลังฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้อะไรๆ ที่เป็นไทยๆ กลับมาได้รับความนิยมกันอย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายด้วยชุดไทย การท่องเที่ยวตามโลเคชั่นการถ่ายทำอย่างเมืองเก่าอยุธยาที่ทำเอารถติดยาวเป็นหางว่าว หรือแม้แต่เหตุการณ์ล่าสุด สดๆ ร้อนๆ เมื่อคืนที่ผ่านมากับการขึ้นครองแชมป์ติดแฮชแท็กเป็นอันดับ 1 ของโลกในทวิตเตอร์ ฉะนั้นคงไม่ต้องกล่าวแล้วว่าละครเรื่องนี้ส่งผลแรงเกินคาดขนาดไหน และหนึ่งในธุรกิจที่ดูจะได้รับอานิสงส์ตามมาติดๆ ไม่แพ้กัน คือ เวิร์กช้อปสอนขนมไทย ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นอยู่เรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด La Malila (ลา มะลิลา) ก็เป็นหนึ่งในนั้น
 
      La Malila (Thai dessert & studio) คือ เวิร์กช้อปสอนทำขนมไทยเล็กๆ ย่านซอยทองหล่อ 18 ที่เกิดขึ้นมาจากความรักความตั้งใจของ ทัชชา พรจนกาญ หญิงสาวที่มีดีกรีจบเบเกอรี่จากสถาบันชั้นนำ William Angliss Institute ประเทศออสเตรเลีย แต่ด้วยความที่มีใจรักในขนมไทยและชื่นชอบขนมไทยอยู่แล้ว จึงทำให้สนใจศึกษาเรียนรู้การทำขนมไทยควบคู่กันไปด้วยตั้งแต่เรียนอยู่ที่ออสเตรเลีย เพราะบางอย่างก็ใช้พื้นฐานใกล้เคียงกัน ต่างกันที่วัตถุดิบเท่านั้น กระทั่งได้กลับมาอยู่เมืองไทยจากความตั้งใจแรกที่อยากเปิดร้านเบเกอรี่เล็กๆ ขึ้นมาสักแห่งหนึ่ง แต่เมื่อมองเห็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ดูจะให้ความสำคัญกับบรรยากาศร้านมากกว่าตัวเบเกอรี่จริงๆ เธอจึงลองเบนเข็มมายังขนมไทยที่ชื่นชอบ และเนื่องด้วยในขณะนั้นตลาดขนมไทยเองก็ยังไม่ได้มีคู่แข่งมากนัก เธอจึงคิดเริ่มต้นทำขนมไทยขายผ่านช่องทางออนไลน์ในรูปแบบขนมไทยโบราณ ขนมไทยหายากบ้าง จัดเป็นชุดของขวัญมอบในโอกาสพิเศษต่างๆ จนเมื่อได้ลองทำไปเรื่อยๆ มีคนสนใจติดต่อเข้ามาอยากขอเรียนด้วย จึงได้เปิดเวิร์กช้อปสอนทำขนมไทยขึ้นมา และก็ค้นพบว่า นี่คือ สิ่งที่อยากทำมากกว่า จึงได้หันมาเน้นการสอนทำขนมไทยอย่างเต็มตัวมากขึ้นจนถึงทุกวันนี้





      “การทำขนมขายเราต้องอยู่กับที่ คอยรับออร์เดอร์ จัดส่งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราเป็นคนเดินทางเยอะ ชอบเรียนรู้ชอบทำอะไรหลายอย่าง ทำให้บางทีลูกค้าสั่งออร์เดอร์เข้ามาเราก็ไม่เห็น จึงคิดว่าการเปิดเวิร์กช้อปน่าจะเหมาะกับเรามากกว่า รู้สึกสนุกด้วยเวลาได้สอนได้ถ่ายทอดออกไป ทำให้เราได้ไปค้นหาข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติมเวลานักเรียนถาม บางทีก็ไปหาตำรับขนมเก่าๆ ที่คนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยรู้จักมาสอน ทำให้เราเองก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมมากขึ้นไปด้วย”

      ทัชชาเล่าว่าการเรียนการสอนทำขนมไทยในช่วงนั้น ยังมีอยู่เพียงไม่กี่เจ้า ส่วนใหญ่เป็นสถาบันดั่งเดิมที่เปิดสอนอยู่แล้ว กระทั่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาที่เธอเองเริ่มหันมาเปิดคอร์สสอนทำขนมไทย ก็พบว่ามีการเปิดเวิร์กช้อปทำขนมไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กๆ อย่างเธอ





      “จะเห็นได้ว่าในช่วง 1-2 ปีนี้มีการเปิดเวิร์กช้อปสอนทำขนมไทยเกิดขึ้นเยอะมาก คนเริ่มหันกลับมาสนใจอะไรที่เป็นไทยมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเหมือนช่วงหนึ่งเราหันไปสนใจเทคโนโลยี วัฒนธรรมใหม่ๆ ที่เข้ามา จนลืมนึกถึงคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ พอมันเริ่มจะหายไปคนเลยหันกลับมาให้ความสนใจมากขึ้น”

      โดยกลุ่มลูกค้าที่สนใจสมัครเข้ามาเรียนนั้นมีหลากหลายด้วยกัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย วัยเริ่มต้นทำงาน ไปจนถึงคนที่ทำงานมาแล้วพักหนึ่ง แต่อยากกลับมาค้นหาตัวเอง บางคนก็เรียนเพื่อเป็นงานอดิเรก โดยคอร์สเรียนทำขนมไทยของ La Malila นั้นจะเน้นสอนทั้งรูปแบบขนมไทยโบราณ ขนมไทยหายาก และขนมไทยที่ต้องใช้ฝีมือประดิดประดอยในการทำ เช่น ดาราทอง ทองเอก เสน่ห์จันทร์ ช่อม่วง สัมปันนี ในแต่ละคอร์สจะสอนด้วยกันทั้งหมด 3 อย่าง และเปิดรับครั้งละ 1 - 3 คน โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้ามาจากทาง instagram, pinterest และ facebook โดยจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของ La Malila คือ การเรียนการสอนที่เข้าใจง่าย เป็นกันเอง รวมถึงรูปภาพที่ดูโดดเด่น สวยแปลกตาจากรูปขนมไทยที่เคยเห็นกันมา





      “ลูกค้าส่วนใหญ่จะมาจากทาง IG เขาเห็นจากรูปที่เราโพสต์ลงและชอบก็เลยติดต่อเข้ามา เพราะรู้สึกว่าแตกต่างจากภาพของขนมไทยที่เขาเคยเห็นมา ดูมีความทันสมัย มีดีไซน์มากกว่า ซึ่งพอได้มาลองเรียนแล้ว ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เราสอนเข้าใจง่าย สนุก และเป็นกันเอง หลายคนลงเรียนคอร์สหนึ่งแล้ว ก็กลับมาเรียนซ้ำคอร์สอื่นอีก ซึ่งเรามองว่าอาจเป็นเพราะตัวเองก็ชอบเรียนเวิร์กช้อปมาแล้วหลายอย่างเหมือนกัน จึงทำให้รู้ว่าคนที่มาเรียนนั้นเขาต้องการอะไรบ้าง ต้องสื่อสารหรือสอนยังไงให้เขาเข้าใจได้ง่าย โดยในการสอนแต่ละครั้งเราจะรับนักเรียนไม่เกิน 3 คน เพื่อจะได้ดูแลทั่วถึง

      นอกจากเรียนทำขนมไทยแล้ว เราพยายามสอดแทรกเรื่องแพ็กเกจจิ้ง การสื่อสารขนมไทยในรูปแบบใหม่ให้เขาไปด้วย โดยพยายามทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างว่า ขนมไทยถ้าอยู่บนแพ็กเกจจิ้งที่ดี ก็สามารถเพิ่มมูลค่าได้ โดยเมื่อเรียนเสร็จเราจะทำเป็นแพ็กเกจจิ้งดีๆ ให้เขาใส่กลับบ้านไปด้วย หรืออย่างแผ่นชีทที่ใช้สอนเราก็จะปริ้นท์ใส่กระดาษอาร์ตอย่างดี มีรูปที่ถ่ายเอง เขียนบอกประวัติ สูตร และวิธีการทำ ให้เขาได้เอากลับไปอ่านเพิ่มเติมด้วย”





      สุดท้ายเมื่อถามว่ากระแสจากละครดังอย่างบุพเพสันนิวาส ส่งผลอะไรกับการเรียนการสอนขนมไทยบ้างไหม ทัชชากล่าวว่ามีผลแน่นอน นักเรียนที่สมัครเข้ามาเรียนกับเธอหลายคนต่างสนใจและชวนคุย รวมถึงอยากรู้เรื่องการทำขนมไทยเพิ่มมากขึ้น โดยในละครเองก็มีหลายฉากที่พยายามเอาขนมไทยเข้าไปประกอบ รวมถึงเนื้อหาของเรื่องยังได้กล่าวถึงบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของขนมไทย นั่นคือ ท้าวทองกีบม้า ซึ่งในเรื่อง คือ แม่มะลิ หรือมารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา หญิงสาวเชื้อสายโปรตุเกส ผู้ริเริ่มการนำไข่มาใช้กับขนมไทยด้วยที่รู้จักกันดี ได้แก่ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง

      “ถามว่าละครส่งผลไหม มีนะ ทำให้คนหันมาสนใจอะไรที่เป็นของไทยเพิ่มมากขึ้น นักเรียนที่มาเรียนช่วงนี้ก็พูดถึงเรื่องนี้บ่อย มีความสนใจอยากเรียนรู้ รู้จักเรื่องราวขนมไทยมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ตอนนี้เนื้อเรื่องอาจจะยังไม่ได้พูดถึงขนมไทยมากนัก แต่หลายฉากก็มีการนำขนมไทยเข้าไปประกอบอยู่ในเนื้อเรื่องด้วย ทำให้หลายอย่างเราต้องไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาตอบ บางอย่างเขาก็มาเล่าให้ฟัง สนุกดีคะ เหมือนได้แลกเปลี่ยนความรู้กันไปด้วย”





      และนี่คือ หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากกระแสออเจ้าฟีเวอร์!! ของพี่หมื่นเดชและแม่หญิงการะเกด นั่นเอง
 
IG : @la_malila_1st




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน