โลกการแข่งขันยุคก่อน ขอเพียงผู้ประกอบการขยันขันแข็ง ยิ่งผลิตสินค้าได้มาก และเร็วเท่าไร ก็ยิ่งสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นเจ้าสัวได้เร็วเท่านั้น เพราะดีมานด์ล้นเกินซัพพลาย แต่เวลานี้รูปการณ์กลับตรงกันข้าม เมื่อเทรนด์ดิจิทัลถาโถม พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ซัพพลายมีมากกว่าดีมานด์ ยุคทองของการเปิดโรงงานผลิตสินค้าแล้วรวยจึงเป็นอันสิ้นสุด ทำให้ผู้ประกอบการยุคนี้ต้องงัดทุกกลยุทธ์ขึ้นสู้ ทั้งการเล่นสงครามราคาแบบเก่า หรือการคิดต่างสร้าง Business Model ใหม่ๆ ออกมาพิชิตใจลูกค้า
“ทฤษฎี 4P ที่เคยเรียนมา และทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมานักต่อนัก กระทั่ง Business Model แบบเดิม ผมว่าวันนี้มันใช้ไม่ได้แล้ว” ภาววิทย์ กลิ่นประทุม ผู้อำนวยการส่วนที่ปรึกษาการลงทุน บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง (BLS) เปิดประเด็นพร้อมเสริมว่า การปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงถือเป็นเรื่องจำเป็น สมัยก่อนบริษัทยักษ์ใหญ่ทุนหนาอาจได้เปรียบ แต่สมัยนี้ผู้ประกอบการที่เข้าใจ ตลาดมากกว่าคือ ผู้ชนะ
ภาววิทย์กล่าวว่า SME สายพันธุ์ใหม่ที่เข้าใจตลาดต่างรู้ดีว่า โจทย์ที่ยากที่สุดในการทำธุรกิจ ณ เวลานี้ ไม่ใช่ว่าขาย สินค้าอะไร แต่ลูกค้าคือใครต่างหาก เพื่อที่จะได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหา หรือสร้างประโยชน์ให้กับคนกลุ่มนั้นได้ เช่น Google ที่แก้ปัญหาเรื่องการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต จนกลายเป็นธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดในโลก หรือ Facebook ที่ช่วยตามหาเพื่อนเก่าให้มาสมาคมกันได้บนโลกออนไลน์
“SME ต้องคิดมุมกลับ โดยเอาลูกค้าหรือตลาดเป็นตัวตั้ง แล้วก็ไม่ใช่การหว่านขายด้วย แต่ต้องโฟกัสหาเผ่าพันธุ์สักกลุ่มที่มีวัฒนธรรมความชอบบางอย่างเหมือนกัน เช่น กลุ่มคนรักกาแฟ กลุ่มคนชอบแฟชั่น กลุ่มคนรักจักรยาน กลุ่มคนที่คุณจะสามารถขึ้นเป็นผู้นำ หรือหัวหน้าเผ่าเล็กๆ ได้ เพียงแต่คุณต้องเป็นตัวจริงด้วย แล้วโลกออนไลน์จะแจ้งเกิดให้กับคุณ แต่ก่อนอื่นคุณต้องหาความรู้ในสิ่งที่ตนสนใจอย่างลึกซึ้ง สร้างตัวเองให้เป็นแหล่งความรู้ที่คนในเผ่าต้องตามหาและติดตาม เพื่อขอความรู้ คำแนะนำ หรือซื้อสินค้าจากคุณ เมื่อคนเชื่อว่าคุณเป็นกูรูทางด้านนี้ ความรู้ จะเปลี่ยนเป็น รายได้ ในทันที”
ยิ่งหากสินค้า บริการ หรือโซลูชั่น ที่ SME มอบให้นั้นดีจริง และเป็นของแท้ สามารถแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคได้ ก็ย่อมจะก่อให้เกิดการบอกต่อในกลุ่มเพื่อนฝูงตามมา โดยไม่ต้องอาศัยแรงโปรโมทแต่อย่างใด เพราะโฆษณายุคนี้ไม่มีพลัง และไม่มีน้ำหนักมากเท่ากับสิ่งที่เพื่อนบอก ส่งผลให้ธุรกิจที่เป็นตัวปลอมหรืออ่อนแอก็จะถูกคัดออก และปิดตัวไปโดยปริยาย
การทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ตลอดจนการทำ Digital Transformation เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในยุคดิจิทัลนั้นไม่ง่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่หรือว่ารายเล็ก ภาววิทย์เผยว่า อุปสรรคชิ้นโตที่มักกั้นขวางไม่ให้ผู้ประกอบการได้ไปต่อคือ Mindset หรือ ความคิดของเรานั่นเอง
“คนเรามักจะกลัวการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแล้วจะเวิร์กไหม เราต้องทิ้ง Mindset อันนี้ไป อย่างตัวผมแต่ก่อนเป็นกุ๊ก ทำธุรกิจร้านอาหาร แต่เพราะการเรียนรู้อย่างจริงจัง จากเชฟจึงกลายเป็นกูรูด้านการเงินในวันนี้ หรือถ้าคิดจะทำอะไรใหม่ อย่างอาชีพใหม่ๆ ในโลกยุคปัจจุบัน ก็ต้องสร้างขึ้นเอง เพราะไม่มีประกาศรับสมัคร เช่น เทรนเนอร์ ใช้ความรู้สั่งเศรษฐีให้วิ่งอย่างนั้น กินอย่างนี้ ถ้าลูกค้ายอมจ่ายเงิน เพราะช่วยแก้ปัญหาและสร้างประโยชน์ให้กับเขาได้ ทำอย่างไรก็รวย”
การเอาชนะความกลัว ไม่หลงติดอยู่กับความสำเร็จในอดีต และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งยังเป็นสิ่งที่ต้องคิดและทำในจังหวะเวลาอันเหมาะสม เพราะหากผู้ประกอบการไม่ปรับตัว ก็อาจถูกปรับแพ้ในที่สุด
“ธุรกิจยุคต่อไปคือ ธุรกิจที่ฆ่าธุรกิจยุคปัจจุบัน ดังนั้น ทุกคนต้องตั้งโจทย์เพื่อ Disrupt ตัวเอง แล้วธุรกิจของคุณจะเปลี่ยน อย่ารอให้คนอื่นมาฆ่าเรา ตัวอย่างในอดีตมีให้เห็น เช่น Nokia รู้ว่าสมาร์ทโฟนดี แต่มันทำลายธุรกิจเดิมที่ลงทุนไปมหาศาล สุดท้ายก็ปล่อยให้ iPhone ขึ้นมาแทนที่ในเวลาเพียงไม่กี่ปี หรือ Walmart ร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ที่คุมทั้งอเมริกา ก็ยังให้บริษัทที่ตั้งในโรงรถเล็กๆ อย่าง Amazon ชนะไปได้ และกลายเป็นหนึ่งในร้านค้าปลีกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก”
ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงแบบมองมุมกลับ หรือคิดตรงกันข้าม คือคีย์ที่ภาววิทย์ยังคงเน้นย้ำ เขายกตัวอย่างการ Disrupt ธุรกิจโบรกเกอร์ที่ทำอยู่ จากที่ลูกค้าต้องเสียค่าธรรมเนียมในการซื้อ-ขายหุ้น แต่รับข้อมูลและเข้าห้องเรียนการลงทุนฟรี เขาคิดตรงข้ามด้วยการให้ลูกค้าเทรดหุ้นฟรี แล้วมองหารายได้จากช่องทางอื่นๆ เช่น เก็บค่าใช้จ่ายจากค่าคอร์สอบรมและค่าข้อมูลแทน ซึ่งพบว่าลูกค้าก็แฮปปี้พอใจที่จะจ่าย เพื่อแลกกับผลตอบแทนทางการลงทุนที่ดีนั่นเอง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี