ในยุคที่ทุกคนพยายามมองหาและสร้างโอกาสให้กับตัวเอง “การเป็นเจ้าของธุรกิจ” คือหนึ่งในคำตอบของเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการหน้าใหม่และ Startup เกิดขึ้นกันเป็นรายวัน แต่ใช่ว่าทุกรายที่เกิดนั้นจะสามารถอยู่รอดและประสบความสำเร็จทั้งหมด อัตราความล้มเหลวของธุรกิจใหม่ ส่วนใหญ่แล้วมักจะมาจากการขาดประสบการณ์ และยังไม่มีความชำนาญมากพอที่จะไปต่อกรกับคู่แข่งที่มีความแข็งแกร่งมากกว่า ด้วยเหตุนี้รูปแบบของ “ธุรกิจแฟรนไชส์” จึงเข้ามาตอบโจทย์และเติมเต็มช่องว่างให้กับว่าที่ผู้ประกอบการมือใหม่ ให้คนเหล่านี้สามารถสร้างสรรค์โอกาสของตัวเองให้เติบโตได้อย่างที่ตั้งใจไว้
เพราะตระหนักดีว่า รูปแบบของธุรกิจแฟรนไชส์มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและช่วยผลักดันความสำเร็จให้กับผู้ประกอบการได้ ธนาคารกสิกรไทย จึงได้จัดงานมหกรรมธุรกิจแฟรนไชส์ครั้งใหญ่ขึ้น “KBank Franchise Expo 2018” โดยเป็นการจับมือร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน พร้อมระดมแฟรนไชส์ชื่อดังระดับประเทศมากถึง 50 แบรนด์มารวมไว้ในที่เดียว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจลงทุนสามารถต่อยอดสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ เรียกได้ว่า เป็นงานเดียวที่ครบทุกความต้องการของผู้สนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ (Total Solutions For Franchise Business) ทั้งในแง่ของความรู้ การสนับสนุนทางการเงิน การให้คำปรึกษา หรือแม้แต่การต่อเติมโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ ตลอดจนเปิดมุมมองให้เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์สามารถที่จะก้าวออกไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้น
คุ้ม ครบ ตอบโจทย์ ทุกเรื่องแฟรนไชส์
ในเรื่องนี้ สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ด้วยธนาคารเองได้เล็งเห็นว่า เทรนด์การจ้างงานในอนาคตจะลดลงเรื่อยๆ ทั่วโลกคาดการณ์ว่าจะเหลือคนทำงานประจำประมาณ 25% โดยอีก 75% นั้นจะหันมาทำธุรกิจของตัวเอง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งจากเทรนด์ดังกล่าวจะส่งเสริมให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีการเติบโตขึ้น สำหรับในประเทศไทย ปีที่ผ่านมาธุรกิจแฟรนไชส์มีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท คาดว่าในปีนี้จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 15% ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตสูงมากในเวลานี้
สำหรับงาน KBank Franchise Expo 2018 ถูกจัดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ “คุ้ม ครบ ตอบโจทย์ ทุกเรื่องแฟรนไชส์” โดยผู้ประกอบการจะคุ้มกับสินเชื่อแฟรนไชส์ ดอกเบี้ยพิเศษ และส่วนลดค่าธรรมเนียมเครื่องรูดบัตร ขณะเดียวกันก็มีครบทุกคำปรึกษาด้านธุรกิจแฟรนไชส์ จากผู้เชี่ยวชาญที่มาให้คำปรึกษาแบบรายธุรกิจ สำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchisor) และเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ที่ต้องการขยายแบรนด์ไปต่างประเทศ รวมถึงการให้คำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เป็นพันธมิตรของงานนี้ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และบริษัท บิสิเนส โค้ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านี้งานดังกล่าว ยังตอบโจทย์สำหรับนักลงทุน ผู้สนใจธุรกิจแฟรนไชส์ สามารถมาเลือกแบรนด์แฟรนไชส์ที่ชื่นชอบได้อย่างจุใจจาก 50 แบรนด์แฟรนไชส์ชื่อดัง จาก 6 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี ค้าปลีก การศึกษาและบริการ ที่สำคัญผู้สนใจยังสามารถเลือกทำเลเช่าเปิดร้านได้ทันที พร้อมทั้งมี SME Solutions หรือ เทคโนโลยีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจแฟรนไชส์ อย่างกลุ่มบัญชี ภาษี และกลุ่มบริหารจัดการร้านอาหาร เพื่อให้การทำธุรกิจนั้นสำเร็จได้ง่ายขึ้น
แน่นอนว่า เพื่อให้ตอบโจทย์ทุกความต้องการในธุรกิจแฟรนไชส์จริงๆ องค์ความรู้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งในงานนี้จัดให้มีการสัมมนาในหลากหลายหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็น แนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ การบริหารคน การบริหารด้านการเงิน และการแชร์ประสบการณ์จากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจแฟรนไชส์ รวมถึงการแนะนำการลงทุนแฟรนไชส์ของแบรนด์ต่างๆ ในห้องสัมมนาย่อยด้วย
ส่องเทรนด์ธุรกิจแฟรนไชส์ปี 2561
หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ นั่นคือเรื่องของเทรนด์ที่เกิดขึ้น เพราะการที่ผู้ประกอบการสามารถจับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ ทำให้ปรับตัวได้เร็วเพื่อคว้าโอกาสก่อนใคร ในเรื่องนี้ ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ซีอีโอ บริษัท บิสิเนส โค้ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด เปิดเผยถึงเทรนด์ธุรกิจแฟรนไชส์ปี 2561 โดยระบุว่า มี 3 เทรนด์ด้วยกัน เทรนด์แรก ได้แก่ จะเกิดกระบวนการแฟรนไชส์ที่เรียกว่า Multi-Unit สำหรับผู้สนใจลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchisee) จากเดิมจะเป็นลักษณะ 1 แฟรนไชซี 1 สัญญา 1 สาขา โดยเทรนด์ใหม่กลายเป็นว่า แฟรนไชซีสามารถมีได้หลายสัญญา หรือหลายสาขา เนื่องจากนักลงทุนในปัจจุบัน เขาจะมองถึงโอกาสของการขยายธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องของการมีอาชีพ เพื่อลี้ยงตัวเหมือนในอดีต ดังนั้น เทรนด์ของแฟรนไชซียุคใหม่จึงไม่ได้ลงทุนเฉพาะแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเท่านั้น
สำหรับเทรนด์ที่สอง เป็น Multi-Unit ของเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchisor) จากยุคแรกๆ ในการสร้างระบบแฟรนไชส์ แฟรนไชซอร์จะจำกัดอยู่ในแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งของตัวเอง แต่ปัจจุบันแฟรนไชซอร์ที่แข็งแกร่ง จะเริ่มสร้างแบรนด์ลูกขึ้นมา เพื่อผลักดันให้แฟรนไชซีลงทุนมากขึ้น และเทรนด์ที่สาม คือ International Franchising จะมีการเติบโตขยายไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น โดยเบื้องต้นระบบแฟรนไชส์ของประเทศไทยนั้นสามารถขยายออกไปได้ใน 11 ประเทศ ได้แก่ กลุ่ม AEC 9 ประเทศ รวมกับจีนและญี่ปุ่น สำหรับในอนาคตนั้น จะมีตะวันออกกลาง รัสเซีย และอินเดีย เป็นตลาดเป้าหมาย
คว้าโอกาสปั้นธุรกิจแฟรนไชส์ ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ดี ด้วยจำนวนแฟรนไชซอร์ที่มีอยู่มากกว่า 400 บริษัทในเวลานี้ ยังสามารถที่จะเติบโตได้อีกมาก เพราะเมื่อเทียบกับจำนวนของประชากรในประเทศ ซึ่งอัตราส่วนที่ดีที่สุดของประเทศไทย คืออย่างน้อยต้องมีแฟรนไชซอร์ให้นักลงทุนได้เลือกไม่น้อยกว่า 800 บริษัท จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถขยายธุรกิจไปสู่รูปแบบของแฟรนไชส์ได้ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางในการสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะถ้าขยายด้วยตัวเอง อาจต้องใช้เวลาและเงินลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่การขยายธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ ถือเป็นทางลัดหนึ่งที่จะทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ และที่สำคัญสามารถนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตได้ด้วย
แต่ทั้งนี้ การจะเป็นแฟรนไชซอร์ที่ประสบความสำเร็จได้ จำเป็นที่จะต้องมีการวางแผน เตรียมพร้อมธุรกิจเป็นอย่างดี เพราะหัวใจของธุรกิจแฟรนไชส์คือ “ระบบ” ไม่ว่าจะเป็น ระบบการจัดการ ระบบการเงิน บัญชี ภาษี ระบบโลจิสติกส์ การดูแลวัตถุดิบ สต็อกสินค้า การตลาด แบรนดิง การวิจัยพัฒนา R&D การควบคุมตรวจสอบคุณภาพ เป็นต้น
ลองมาดูประสบการณ์ตรงจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จในการก้าวเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ ที่ได้มาถ่ายทอดเรื่องราวความน่าสนใจและเป็นประโยชน์ในงาน KBank Franchise Expo 2018 ครั้งนี้
พลิกโอกาสให้เป็นความสำเร็จในแบบ “โกอ่าง ข้าวมันไก่ประตูน้ำ”
ทุกวันนี้หากพูดถึงข้าวมันไก่คงไม่มีใครไม่รู้จัก ข้าวมันไก่ประตูน้ำ ที่ถือเป็นตำนานของธุรกิจร้านอาหารที่มีมาอย่างยาวนานถึง 56 ปี ทำให้วันนี้แบรนด์ดังคิดต่อยอดกิจการและหันมาผันตัวเป็นแฟรนไชซอร์ ขยายอาณาจักรและเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของทายาทรุ่นที่ 3 ที่เข้ามารับช่วงต่อกิจการอย่าง เอกพล พฤกษ์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หยูฮวดเซี้ยง จำกัด (ร้านข้าวมันไก่ประตูน้ำ โกอ่าง) บอกว่า จุดเริ่มต้นของการผันตัวมาเป็นแฟรนไชซอร์ เกิดจากการที่ลูกค้าประจำมักถามว่าทางร้านจะมีการขายแฟรนไชส์บ้างไหมเป็นประจำ จนกระทั่งเมื่อ 4 ปีที่แล้วลูกค้าประจำชาวญี่ปุ่นได้เข้ามาคุยกันอย่างจริงจังและเกิดการตัดสินใจที่จะเริ่มต้นกับความท้าทายนี้
“ด้วยความที่เราเข้ามารับช่วงต่อและต้องการความเปลี่ยนแปลงในการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ การขายแฟรนไชส์จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่เราอยากจะลองทำ ด้วยการไปเปิดสาขาแรกที่ชิบูย่า ประเทศญี่ปุ่นโดยใช้เวลาในการเตรียมงานทั้งหมดประมาณ 10 เดือน เริ่มตั้งแต่การเจรจา เทรนนิ่งพ่อครัว คุยกันเรื่องของรูปแบบร้านและสถานที่ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก เป็นการแสดงให้เห็นว่าศักยภาพของร้านข้าวมันไก่ สามารถไปได้ไกล และการทำแฟรนไชส์ช่วยให้เราโตได้เร็วขึ้น”
“ปัจจัยหลักคือ การหาวัตถุดิบว่าทำยังไงรสชาติถึงจะเหมือนเดิม เราทำอาหารต้องรู้ว่าจะทำยังไงให้คงรสชาติเดิมเอาไว้ คิดว่ามีสูตรเด็ดแล้วจะใช้สูตรนี้ไปตลอดมันไม่ได้ อันนี้อยู่ที่ประสบการณ์และความเข้าใจ ข้าวญี่ปุ่นกับข้าวเราก็ไม่เหมือนกัน ไก่เขากับไก่เราก็ไม่เหมือนกัน ตอนแรกใช้เวลาเกือบเดือนในการทำให้ทุกอย่างมันลงตัว ถือเป็นประสบการณ์การไปต่างแดนที่ได้รับผลตอบรับที่ดีและเป็นตัวจุดไอเดียให้คิดเปิดแฟรนไชส์ที่เมืองไทย โดยตั้งใจว่าภายใน 3 ปี จะเปิด 8 สาขาในประเทศไทย โดยในช่วงนี้จะมีการทำครัวกลางและการเซ็ตระบบที่พร้อมสำหรับการขายแฟรนไชส์”
ในฐานะที่เป็นเจ้าของธุรกิจ เอกพลบอกว่า หัวใจหลักของการทำธุรกิจคือ ความใส่ใจ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่ต้องลงทั้งแรงกายและแรงใจ ที่สำคัญต้องกล้าที่จะคิดให้ไกลกว่าคนอื่น กล้าที่จะทำในสิ่งที่คนอื่นอาจมองว่าเป็นไปไม่ได้ ต้องมองตลอดเวลาว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเราดีขึ้น จะไปช้าหรือเร็ว ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยต้องไม่หยุดอยู่กับที่
ถอดวิธีคิดแบบ Franchisor กับ 2 แบรนด์ดังต่างขั้ว
การทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งพูดถึงเรื่องการเป็นเจ้าของแฟรนไชส์แล้วนั้น ยิ่งยากกว่า เพราะนอกจากที่คุณจะต้องบริหารธุรกิจของตัวเองให้สำเร็จแล้ว ยังต้องแบกรับความคาดหวังในการทำให้แฟรนไชซีของคุณให้ประสบความสำเร็จและมีกำไรเช่นเดียวกัน “ล้มลุกคลุกคลาน” คือนิยามง่ายๆ กว่าจะมาเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จในวันนี้ของ 2 แบรนด์แฟรนไชส์ต่างขั้วอย่าง ณธนพร เอื้อวันทนาคูณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยไดมอนด์ฟู้ด จำกัด สาวรุ่นใหม่ผู้ปลุกปั้นแบรนด์ April’s Bakery และ ภก.ไชยเสน พิศาลวาเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โปรฟาสซิโน จำกัด เภสัชกรที่สร้างแบรนด์ร้านขายยาชื่อดังอย่างฟาสซิโนที่ติดหูใครหลายคน
ด้วยความที่เป็นสองธุรกิจต่างขั้ว แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือเป็นธุรกิจที่คนขาดไม่ได้ อย่าง April’s Bakery ก็วางตัวเองไว้เป็นอาหาร ที่คนสามารถซื้อรับประทานเป็นอาหารเช้าได้ ธุรกิจอาหาร ของกิน ยังไงคนไทยก็ยอมซื้ออยู่แล้ว ทางด้านของฟาสซิโนเป็นเรื่องปัจจัย 4 ที่มีความสำคัญในการดำเนินชีวิตของคน ทำให้ทั้งสองแบรนด์กลายเป็นแบรนด์แฟรนไชส์ที่ใครๆ ก็อยากลงทุน
แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนเดินเข้ามาแล้วจะสามารถเป็นแฟรนไชซีได้ อย่างด้าน April’s Bakery ก็มีหลักการเลือกแฟรนไชซีของตัวเองว่าจะต้องเป็นคนที่เข้าใจในแบรนด์และชอบรับประทานขนมของ April’s Bakery เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ส่วนการจะเป็นแฟรนไชซีของฟาสซิโนอาจจะต้องเป็นคนที่จบด้านเภสัชกรมาจะทำให้ได้เปรียบ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความเฉพาะเจาะจงและเป็นเรื่องของชีวิตคน ห้ามผิดพลาดเด็ดขาด ซึ่งผู้ที่ไม่ได้จบด้านนี้โดยตรง ทางบริษัทแม่จะมีเภสัชกรเอาไว้ให้ยืมในการขายยาหน้าร้านที่จะต้องผ่านการเทรนนิ่งเป็นเวลา 3 เดือน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการทั้งคู่ยังเน้นย้ำในเรื่องของการทำตามกฎของแฟรนไชซอร์ที่เหล่าแฟรนไชซีอาจจะหลงลืมไปในบางครั้ง เพราะนี่เป็นเรื่องสำคัญในการตกลงปลงใจเป็นคู่ค้าทำธุรกิจร่วมกัน เพราะการทำแฟรนไชส์ ไม่ต่างอะไรกับการแต่งงานทางธุรกิจ ถ้าได้คู่ไม่ดีก็จบ การเป็นแฟรนไชซีต้องทำตามกฎที่บริษัทแม่ตั้งไว้ เพราะทุกอย่างถูกคิดมาหมดแล้ว ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้ว เรียกว่าแฟรนไชซอร์มีการวางระบบให้ทุกอย่างให้เกือบ 80% เหลืออีก 20% คือหน้าที่ของแฟรนไชซีในการดูหน้าร้านเท่านั้น
ในการทำธุรกิจ หากคุณเริ่มต้นเองอาจจะต้องเริ่มจากศูนย์ แต่แฟรนไชซอร์ เขาจะรับหน้าที่ล้มลุกคลุกคลานให้คุณเรียบร้อยแล้ว คุณเพียงแค่เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากพวกเขา รับแบรนด์เขาไป ใส่ใจและทำตามกฎที่ตั้งไว้ เท่านี้ความสำเร็จก็ใกล้แค่เอื้อมแล้ว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี