​Lineen แบรนด์เสื้อลินินของสาวอารมณ์ดี

 


 

     การได้เริ่มต้นทำในสิ่งที่รักสิ่งที่ชอบ มักเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดเรื่องราวธุรกิจที่น่าสนใจมานักต่อนักแล้ว เช่นเดียวกันกับเสื้อผ้าแบรนด์ Lineen ที่เกิดขึ้นมาจากความรักความชอบ หลงใหลในเสน่ห์ผ้าลินินของ อาภาสิริ อภิชิต หรือ นิด หญิงสาวอารมณ์ดีที่มีสไตล์การแต่งตัวเป็นแบบฉบับของตัวเอง จากชอบใส่ กลายเป็นชอบทำ กลายเป็นธุรกิจเล็กๆ ขึ้นมา
 

     “ตัวเองเป็นคนชอบใส่เสื้อลินินอยู่แล้ว ชอบสัมผัสของผ้า ชอบคุณสมบัติ เป็นผ้าที่ใส่สบายสามารถระบายอากาศได้ดี ยิ่งใส่ยิ่งนิ่ม ยิ่งเก่ายิ่งดี กอปรกับเป็นคนชอบใส่เสื้อผ้าสไตล์ไม่เหมือนใคร เวลาเพื่อนเห็นเพื่อนก็จะชอบ เลยทำให้เราคิดอยากทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองขึ้นมา ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่าแบรนด์ Lineen เริ่มต้นมาจากบ้านนารีสโมสร ซึ่งเป็นริ่มต้นมาจากโฮมคาเฟ่เล็กๆ อยู่ในซอยรัชดาภิเษก 32 เกิดขึ้นมาจากการรวมตัวกันของสมาชิกในบ้านที่อยากหาอะไรทำเพื่อใช้เวลาร่วมกันในวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยมีคุณพ่อเป็นคนทำอาหาร พี่สาวทำเบเกอรี คุณแม่สอนตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งตัวนิดเองในช่วงแรกหลังจากร้านเปิดมาได้พักหนึ่ง พอออกจากงานประจำมา เราก็ลงมาทำเต็มตัวจากเปิดแค่เสาร์-อาทิตย์ก็เปลี่ยนมาเปิดทุกวัน หยุดแค่อาทิตย์ละวัน จน 3 ปีผ่านมาเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเรียนรู้เรื่องอาหารมาเยอะแล้วจากคุณพ่อ ก็อยากลองไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยากเรียนรู้การตัดเย็บเสื้อผ้าจากคุณแม่บ้าง ซึ่งคุณแม่เป็นช่างแพทเทิร์นที่เก่งมาก เราอยากลองทำเสื้อผ้าใส่เอง พอเริ่มทำใส่เอง ก็อยากลองทำขายด้วย เลยสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา”
 




     นิดเล่าให้ฟังว่าในช่วงเริ่มต้นนั้น เธอเริ่มทำขึ้นมาจากปริมาณน้อยๆ ก่อน เพื่อทดลองขาย โดยออกแบบจากสิ่งที่ตัวเองชอบ และทำเป็นเสื้อฟรีไซส์ขึ้นมา
 

     “เราค่อยๆ เริ่มต้นทำจากทีละน้อยๆ ก่อนประมาณ 10 กว่าตัว อย่างน้อยถ้าขายไม่ได้ก็เอาไว้ใส่เอง แต่ปรากฏว่าพอทำออกมาแล้วกลับมีคนชอบเหมือนเราเยอะเหมือนกัน ซึ่งเสื้อของเราจะมีความพิเศษตรงนี้เป็นฟรีไซส์ที่เป็นฟรีไซส์จริงๆ ไม่ใช่ฟรีไซส์เล็กๆ คนหุ่นอย่างเราสามารถใส่ได้ โดยทำงานจากผ้าลินินเป็นหลัก อาจมีผ้าคอตตอนบ้าง แต่ต้องเป็นคอตตอนที่ใส่สบายจริงๆ โดยแต่ละแบบที่ทำออกมาเราจะทดลองตัดใส่เองก่อน เพื่อดูว่าต้องปรับแก้ไขอะไรบ้าง หรือใส่แล้วสบายไหม จากนั้นจึงค่อยทำออกมาขาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบบเรียบๆ โทนสีพื้น ขาว ดำ กรมท่า เทา ฟ้า แต่ก็แอบมีสีสดใสเอาไว้ใส่ในบางโอกาสบ้าง สไตล์ส่วนใหญ่ก็มาจากรูปแบบที่ตัวเองชอบ อยากใส่อะไร ก็ทำแบบนั้น ไม่หวือหวาตามแฟชั่น เพราะอยากให้ใส่ได้นานๆ ใส่ได้ไม่เบื่อ”


 

     ราคาเสื้อผ้าของ Lineen นั้นมีตั้งแต่ 800 – 2,500 บาท มีให้เลือกหลายรูปแบบ แขนกุด เสื้อเชิ้ต ชุดแซก กระโปรง ในบางโอกาสพิเศษจะมีผลิตสินค้าอื่นเพิ่มเติมขึ้นมาด้วย อาทิ ผ้าพันคอ เข็มกลัดดอกไม้จากผ้า โดยนิดเล่าว่าราคาอาจจะค่อนข้างสูงกว่าเสื้อผ้าในรูปแบบเดียวกันสักเล็กน้อย เพราะทุกอย่างตั้งใจทำแบบพิถีพิถัน ใส่ใจในคุณภาพจริงๆ
 

     “แต่ละงานที่ทำออกมา เราตั้งใจออกมาอย่างดี เราให้ค่าราคากับทุกๆ ขั้นตอนของเรา ตั้งแต่การออกแบบแพทเทิร์น การตัดเย็บ ช่างเย็บของเราก็เป็นช่างฝีมือ ไม่ใช่งานเสื้อโหล คนที่ดูรู้เขาก็จะยอมจ่าย ซึ่งมีลูกค้าค่อนข้างเข้าใจเราเยอะมากเหมือนกัน”
 




     ทุกวันนี้เสื้อผ้าแบรนด์ Lineen เปิดเป็นช้อปเล็กๆ อยู่ที่บ้านนารีสโมสร รวมถึงช่องทางออนไลน์ต่างๆ อาทิ Facebook Instagram นิดวางเป้าหมายการทำงานของเธอไว้ว่า จะเริ่มหันมาจริงจังทำงานให้มากขึ้น โดยคิดไว้ว่าวันหนึ่งเธออาจเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้าที่เก่งได้เหมือนกับคุณแม่บ้าง
 

     “ตั้งแต่หลังปีใหม่มา เราวางแผนไว้ว่าจะเปิดหน้าร้านเหลือแค่ 4 วัน คือ พฤหัส – อาทิตย์ จากนั้นเวลาที่เหลืออยากเอามาทำเสื้อผ้าให้จริงจังมากขึ้น เพราะอนาคตข้างหน้าวันหนึ่งถ้าอายุมากขึ้นแก่ตัวไปเราอาจจะทำอาหารไม่ไหว แต่เราสามารถทำเสื้อได้ เพราะคุณแม่เอง 70 ปีแล้ว แต่ก็ยังทำงานได้อยู่ เราอยากจะเป็นแบบนั้นเมื่ออายุถึงวัยนั้นบ้าง”
 
 
     และนี่เองคือ เรื่องราวของ Lineen แบรนด์เสื้อผ้าของหญิงสาวที่ชอบลินิน
 
 


IG : baannaree samosorn
Line : lineen.


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน