​เปิดเพลงให้ข้าวฟัง สร้างตำนาน...ข้าวเพลงรัก





 
     เพราะเชื่อจากผลวิจัยว่า คลื่นเสียงที่อ่อนหวานจะทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี ทำให้ เกริกกฤษณ์ กมลวิมุตศานต์ ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการทำเกษตรแบบเดิมๆ ใส่เรื่องราวของความรักเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแปลงนา ด้วยการเปิดเพลงให้ต้นข้าวฟัง เป็นที่มาของ “ข้าวเพลงรัก” ที่ผู้ชายคนนี้ทั้งทะนุถนอมและใส่ใจในการปลูกเป็นอย่างดี เน้นการปลูกแบบอินทรีย์และยังสร้างเครือข่ายชาวนาปลูกข้าวอินทรีย์ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ตลอดทั้งเปลี่ยนกฎเกณฑ์การตั้งราคาข้าวที่ให้ชาวนาเป็นคนกำหนด จึงทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพถึงมือผู้บริโภค เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องราคาอีกต่อไป


     เกริกกฤษณ์เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ทำงานธนาคารมาก่อน ไม่เคยมีความรู้เรื่องการทำนามาก่อน แต่ด้วยความสงสัยว่า ทำไมชาวนาถึงลำบากอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งๆ ที่คนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลัก จึงเป็นที่มาของการศึกษาเรียนรู้การปลูกข้าวเพื่อหาทางออกให้ชาวนา





     “ผมเริ่มจากไปเรียนทำนาที่มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เพื่อนำองค์ความรู้มาทำตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากที่เรียนก็ค้นพบว่า การทำนาอินทรีย์จะเป็นทางออกของชาวนา เลยคิดว่าถ้าเราสามารถจูงใจให้ชาวนาหันมาทำนาอินทรีย์ได้ก็คงดี แต่เราทำนาไม่เป็น ดังนั้น ก็ต้องเริ่มจากทำนาก่อน เรียนเสร็จผมเลยหาที่ทำนาโดยไปขอเช่าที่ใน จ.นนทบุรี เพื่อพิสูจน์สิ่งที่อาจารย์สอน และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของข้าวเพลงรัก ผมถอนหญ้าเอง เพราะไม่ได้ใช้ยาฉีดคลุมหญ้า ก็เลยเปิดเพลงฟังไปด้วย”





     “ส่วนตัวแล้วผมเป็นคนชอบฟังเพลงเวลาทำงาน เลยจุดประกายขึ้นมาว่า ถ้าเราเปิดเป็นจริงเป็นจัง ต้นข้าวจะรู้สึกเหมือนเราไหม จึงไปค้นหางานวิจัยระหว่างเสียงเพลงกับความสัมพันธ์ของพืช พบว่า มันมีงานวิจัยรองรับเยอะมาก โดยสรุปคือ พืชโตได้ดีขึ้นเมื่อมีคลื่นเสียง โดยเฉพาะงานวิจัยของ ดร.มาซารุ อิโมโต ชาวญี่ปุ่น เขาวิจัยว่า คำพูดเชิงบวกมีผลกับน้ำสามารถเปลี่ยนเป็นผลึกที่สวยงามได้ ผมว่ามันก็สอดคล้องกัน ก็เลยเชื่อมโยงเรื่องนี้กับเรื่องของเสียงเพลง โดยเลือกที่จะเปิดเพลงรักเพราะส่วนตัวผมเองก็ค่อนข้างจะโรแมนติก เลยคิดถึงพี่บอย โกสิยพงษ์ ผมมองว่าเวลาเขาแต่งเพลงเขาแต่งมาจากข้างใน จากแรงบันดาลใจ แต่งเพื่อให้ภรรยาและลูก แต่งให้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต พอมีไอเดียนี้ก็เลยไปขอพี่บอย บอกว่าอยากจะเปิดเพลงของพี่ในนาข้าวเป็นการให้เกียรติ พี่เขาก็โอเค พอปี 2558 ก็เลยได้เริ่มข้าวเพลงรัก”

               



     จากการทดลอง ลงมือทำ และเห็นผลเป็นที่น่าพอใจ เขาจึงเริ่มหาเช่าที่นาเพิ่มขึ้นจาก 1 ไร่ เป็น 17 ไร่ ใน จ. สุพรรณบุรี และยื่นขอใบรับรองพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นมาตรฐานสากล เพราะวางแผนการทำตลาดส่งออกด้วย




     “เราทำนาและทำการตลาดไปพร้อมๆ กัน โดยใช้ช่องทางออนไลน์ในการสื่อสารให้คนรู้จักเรา ถ่ายรูปโพสต์กิจกรรมตั้งแต่ปลูกข้าว ดูแล จนกระทั่งเก็บเกี่ยวได้ผลผลิต ทำให้เขามีความเชื่อมั่นในข้าวเพลงรัก บวกกับพี่บอยได้บอกผ่านเฟซบุ๊กของตัวเองด้วยว่า เรากำลังทำอะไร ก็ทำให้มีคนรู้จักเรามากขึ้น ผมว่าการทำตลาดมีส่วนนำการผลิต เพราะผมคิดว่า ถ้าจะไปให้ถึงจุดที่จะต้องช่วยชาวนาให้ทำเกษตรอินทรีย์ได้ เราก็จะต้องมีตลาดรองรับ ซึ่งในปี 2558 เราขายข้าวหมดภายใน 20 วัน แค่ขายผ่านไลน์ ผ่านเฟซบุ๊กก็หมดแล้ว ต่อมาก็เริ่มวางตามร้านค้าเพื่อสุขภาพ และร้านอาหาร โดยร้านค้าจะหุงข้าวเพลงรักให้ลูกค้าได้รับประทาน เหมือนเป็นการทำ CSR ไปในตัว ทำให้ลูกค้ารู้สึกได้ว่า ได้กินข้าวที่ถูกดูแลด้วยเสียงเพลง และเป็นเพลงรัก อิ่มทั้งกาย และยังได้อิ่มใจที่ได้ช่วยชาวนาอีกด้วย”





     ข้าวเพลงรักโดดเด่นทั้งกระบวนการ ตั้งแต่มีแนวคิดที่ต้องการให้ชาวนาพ้นจากความยากจน ต้องการให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคห่างไกลจากสารเคมี ได้กินข้าวที่มีคุณภาพ และต้องการให้ตัวเขาเองมีธุรกิจที่ไม่เอาเปรียบสังคม เพราะเชื่อว่า ธุรกิจที่ดีต้องทำให้ทุกคนอยู่ได้





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน