จากการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาด Mintel ประเทศไทย ถึง 4 เทรนด์มาแรงของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของโลกในปี 2561 พบว่า Full Disclosure, Self-Fulfilling Practices, New Sensations และ Science Fare จะเป็นเทรนด์สำคัญที่อยู่ในกระแสความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่
Full Disclosure เมื่อผู้บริโภคอยากรู้เรื่องราวผลิตภัณฑ์มากขึ้น
เป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคมีความอยากรู้เกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์มากขึ้น อยากรู้ว่าสิ่งที่เขากำลังทานอยู่นั้นมาจากไหน มีกระบวนการผลิตยังไง ดังนั้นแบรนด์จึงเริ่มถูกผลักดันให้พยายามบอกเล่าเรื่องราวของตัวผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบที่ใช้และกระบวนการในการผลิตมากขึ้น
ด้านนักวิเคราะห์อย่าง สุดธัญญา อยู่โพธิ์ บอกว่า ปัจจุบันผู้บริโภคอยู่ในช่วง loss of trust หรือ ขาดความมั่นใจและไม่เชื่อในตัวแบรนด์ ดังนั้นพวกเขาจึงมีความอยากรู้ถึงข้อมูลต่างๆ ว่าผลิตภัณฑ์ที่เขากิน อาหารที่อยู่ในมือนั้นมาจากไหน มีขั้นตอนการผลิตเป็นอย่างไร
จากการเก็บข้อมูล พบว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชาวจีน ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของอาหารเป็นอันดับหนึ่งในการพิจารณาเลือกซื้ออาหารจากแหล่งผลิตอย่างตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือแม้กระทั่งบนออนไลน์ หรือ 65 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยบอกว่าพวกเขาจะรู้สึกว่าถูกหลอกเมื่อแบรนด์นั้นๆ มีการระบุถึงปริมาณน้ำตาลในตัวสินค้าอย่างไม่ชัดเจน นอกจากนี้ 55 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวอเมริกันที่มีลูกอายุไม่เกิน 5 ปีบอกว่าความปลอดภัยของตัวแพ็กเกจจิ้งอาหารสำหรับลูกๆ นั้น เป็นสิ่งที่น่ากังวลที่สุด ในขณะที่ 20 เปอร์เซ็นต์ของชาวแคนาดาเชื่อในข้อมูลโภชนาการที่ทางแบรนด์ให้ไว้บนตัวบรรจุภัณฑ์
ทุกวันนี้แบรนด์ทั่วโลกออกมาหาวิธีต่างๆ ที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อในตัวผลิตภัณฑ์มากขึ้น อย่างการเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น ในประเทศเวียดนามมีการใช้แอปพลิเคชั่น Te-Food ที่ผู้บริโภคสามารถสแกนบาร์โค้ดหรือคิวอาร์โค้ดบนแพ็กเกจของเนื้อหมูแล้วรับรู้ได้ตั้งแต่ต้นว่าหมูตัวนี้ถูกเลี้ยงที่ฟาร์มไหน วันไหนที่ถูกส่งไปโรงฆ่าสัตว์ วันไหนที่มีคนมารับไปแล้วมาเข้าตลาด ซึ่งถือว่าเป็นโปรเจกต์ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ โดยปัจจุบันครอบคลุมถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของซัพพลายเออร์เนื้อหมูทั้งหมดในเวียดนาม
หรือจะเป็นการใช้ประโยชน์ของพื้นที่บนตัวบรรจุภัณฑ์ในการบอกเล่าเรื่องราวไปยังผู้บริโภค เช่น แบรนด์ EcoBrown ของประเทศมาเลเซีย ได้บอกถึงที่มาที่ไปว่าข้าวนั้นถูกปลูกที่ภูมิภาคไหนของประเทศ ผ่านกระบวนการอะไรมาบ้างจนถึงการบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์
นอกจากนี้ การใช้คลิปวิดีโอถ่ายให้เห็นกระบวนการผลิตและที่มาที่ไปของตัวผลิตภัณฑ์ การใช้โลโก้ขององค์กรต่างๆ ที่รับรองในความปลอดภัยของสินค้า และการบอกถึงส่วนผสมที่ชัดเจนบนตัวบรรจุภัณฑ์เป็นอีกเครื่องมือที่แบรนด์สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคได้
Self-Fulfilling Practices การกินที่สามารถตอบโจทย์ด้านอารมณ์
ถือเป็นอีกขั้นที่ถัดจากเทรนด์สุขภาพ วันนี้ผู้บริโภคเริ่มต้องการอย่างอื่นมากขึ้นจากอาหาร ที่ไม่ใช่แค่การกินเพื่อสุขภาพด้านร่างกาย แต่เป็นการกินอาหารที่ตอบโจทย์และมีประโยชน์ทางด้านจิตใจมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคนเราต้องเจอกับภาวะความเครียดอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ผู้บริโภคหันมากินอาหารอย่างมีจุดประสงค์มากขึ้น โดยคาดหวังว่าอาหารที่กินนั้นจะช่วยลดภาวะต่างๆ ได้
จากการเก็บข้อมูลพบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชาวไทยและอินโดนีเซียมีการกิน functional food หรืออาหารที่มีสารอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกเหนือจากสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายทั่วไปอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งใน 6 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงการวางแผนที่จะกินผักและผลไม้มากขึ้นและลดการทานน้ำตาลเพื่อการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคมีการกินที่มีจุดประสงค์มากขึ้น
นอกจากนี้ 31 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชาวจีนยังให้ความสนใจที่จะซื้อเครื่องดื่มที่สามารถลดความเครียดได้ ขณะที่ 21 เปอร์เซ็นต์ของชาวบราซิลบอกว่าการกินขนมขบเคี้ยวนั้นช่วยลดภาวะตึงเครียดได้ โดย 52 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยมองว่าการขจัดความเครียดได้นั้นเป็นหนทางสู่การมีสุขภาพที่ดี
ร้านไอศกรีมในจีนอย่าง Ice Cream Clinic เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงเทรนด์นี้ได้ โดยมีไอเดียมาจากเวลาที่คนมีความรู้สึกเครียดหรือเบื่อก็ต้องอยากที่จะกินของหวาน ทางร้านจึงออกแบบมาในลักษณะการเป็นคลินิกไอศกรีมที่มีเชฟด้านขนมหวานคอยหารสชาติของไอศกรีมที่ช่วยบรรเทาความรู้สึกแย่ๆของลูกค้าได้
เทรนด์นี้ยังรวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ผู้บริโภคสามารถรู้สึกสนุกไปด้วยได้ เช่น Starbuck ได้ออกแก้วกาแฟในช่วงคริสต์มาสให้คนสามารถระบายสีได้ ซึ่งเป็นวิธีช่วยให้คนมีความคิดสร้างสรรค์และผ่อนคลายความเครียดมากขึ้นผ่านทางตัวผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ บางแบรนด์อาจใช้วิธีง่ายๆ ในการที่ทำให้คนรู้สึกได้ว่าพวกเขาสามารถกินขนม กินช็อคโกแลตโดยไม่ต้องรู้สึกผิด เช่น การบอกปริมาณที่ควรบริโภค การทำไซส์ขนมให้เล็กลงหรือการใส่ส่วนผสมที่มีประโยชน์ลงไป เพื่อทำให้ผู้บริโภคกล้าที่จะปลดปล่อยตัวเองและรู้สึกดีเวลากิน
New Sensations เพิ่มความว้าว! ด้วยรสสัมผัสใหม่ๆ
นอกจากจะกินเพื่ออิ่มท้องและมีประโยชน์แล้ว ผู้บริโภคยังอยากได้ไอเดียแปลกๆ หรือประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้จากอาหาร กล่าวคือเทรนด์นี้เป็นเรื่องของความดึงดูด เรื่องรูปลักษณ์ภายนอกของตัวผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคสนใจได้ เป็นอีกมุมหนึ่งที่คนอยากได้จากอาหาร
โดยเทรนด์สำคัญที่จะมาแรงคือ การใช้ texture หรือเนื้อสัมผัสเข้ามาสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผู้บริโภค โดย 32 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชาวจีนอยากได้โยเกิร์ตที่ใส่ซีเรียลหรือธัญพืช 31 เปอร์เซ็นต์ของชาวแคนาดาบอกว่าสนใจในผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมระหว่างคุ้กกี้กับมันฝรั่งทอด 25 เปอร์เซ็นต์ของคนอังกฤษให้ความสนใจในน้ำอัดลมที่มีการเพิ่มเนื้อผลไม้เข้ามา และ 11 เปอร์เซ็นต์ของคนบราซิลบอกว่าการมีส่วนผสมของธัญพืชในน้ำผลไม้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเลือกดื่ม ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคมีการเปิดรับตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีการใช้ texture แตกต่างกันในส่วนผสมของอาหารและเครื่องดื่ม
อย่างกระแสฮิตของชีสในเวลานี้ก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ texture มาเล่น เช่น ชาชีส ที่เปลี่ยนรสสัมผัสของเครื่องดื่มเดิมๆ อย่างชาไทยหรือชาเขียวให้มีความแปลกใหม่มากขึ้น หรืออย่างแบรนด์ Fanta ของออสเตรเลียที่ผลิตน้ำอัดลมที่พอเขย่าแล้วจะเกิดวุ้นเนื้อเยลลี่ออกมา หรือการผลิตน้ำอัดลมที่มีรสเปรี้ยวของตัวราสเบอร์รี่และมีความซ่ามากออกมาถือเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับคนออสเตรเลียที่ไม่เคยชินกับการกินของที่มีรสเปรี้ยว อีกผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ Calbee ของญี่ปุ่นได้ผลิตมันฝรั่งทอดที่ข้างนอกเคลือบด้วยซอสถั่วเหลืองให้ความรู้สึกนุ่มและชุ่มแต่พอกัดเข้าไปแล้วข้างในมีความกรอบถือเป็นการเล่นเรื่องเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี
การออกแบบตัวบรรจุภัณฑ์เป็นอีกวิธีที่สามารถตอบโจทย์เทรนด์นี้ได้ อย่างแบรนด์ Fairfields Farm ออกแบบแพ็กเกจจิ้งแผ่นมันฝรั่งทอดให้มี 3 ชั้นที่ผู้บริโภคสามารถทำการฉีกซองแล้วนำเข้าไปอุ่นในไมโครเวฟได้ โดยแบรนด์ต้องการสื่อถึงการเป็นมันฝรั่งที่เหมือนทอดกรอบใหม่ๆ และร้อนอยู่เสมอ ซึ่งต่อให้นำไปอุ่นก็ยังมีความกรอบเหมือนเดิม เป็นการเพิ่มความรู้สึกและประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคให้รู้สึกถึงความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลา
Science Fare ใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมช่วยผลิต
การใช้เทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในกระบวนการผลิต เพื่อแก้ปัญหาการบริโภคของมนุษย์ที่ไปมีผลต่อทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด แม้จะยังเห็นภาพไม่ชัดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่แบรนด์ใหญ่ๆ ของโลกโดยเฉพาะจากประเทศฝั่งตะวันตกเริ่มมีการนำมาใช้และตื่นตัวมากขึ้น
จากข้อมูล พบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของคนอังกฤษบอกว่าจะเลิกซื้อน้ำดื่มที่ขวดน้ำสามารถส่งผลเสียหรือผลกระทบต่อธรรมชาติ 24 เปอร์เซ็นต์ของคนอินโดนีเซียและ 20 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยเห็นพ้องต้องกันว่าการทำกิจกรรมอย่างลดการใช้ถุงพลาสติกและขี่จักรยานแทนการขับรถเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีได้ นอกจากนี้ 22 เปอร์เซ็นต์ของคนบราซิลบอกว่ายินดียอมจ่ายมากขึ้นให้กับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือรีไซเคิลได้
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเทรนด์นี้คือการใช้เทคโนโลยีด้านวิศวกรรมมาใช้ในการผลิตอาหารที่ช่วยลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่นแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Unilever ได้ร่วมมือกับทางมหาวิยาลัย Wageninen University ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ทำการพัฒนาการผลิตเนื้อที่เป็น Meat Free คือไม่มีเนื้อสัตว์ในนั้น หรือทำมาจากพืช 100 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่แบรนด์พยายามจะทำคือการทำเนื้อในแล็ปโดยการสังเคราะห์มาจากพวกโปรตีนถั่วเหลืองและถั่วต่างๆ โดยตั้งเป้าที่จะทำให้เนื้อมีรสชาติที่เหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ มีลักษณะและเนื้อสัมผัสเหมือนของจริง โดยทางแบรนด์คาดว่าตัวผลิตภัณฑ์นี้จะออกมาสู่ตลาดได้ในปีหน้านี้
การออกแบบบรรจุภัณฑ์หรือแพ็กเกจจิ้งกินได้เป็นอีกรูปแบบที่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น แบรนด์ Evoware บริษัทสตาร์ทอัพจากอินโดนีเซียผลิตแพ็กเกจจิ้งที่สามารถกินได้โดยสกัดมาจากสาหร่าย แต่ถ้าคนไม่อยากกินตัวแพ็กเกจจิ้งนั้นก็สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ไอเดียนี้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ผลิตซองซอสที่สามารถกินได้แทนการใช้ซองพลาสติก
แม้เทรนด์จะไปอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่ทางผู้ผลิตหรือแบรนด์จะลืมไม่ได้เลยคือ การใส่ใจในเรื่องของรสชาติ เพราะการกินอาหารที่อร่อยและมีรสชาติดีนั้นยังคงเป็นเรื่องพื้นฐานของความต้องการของผู้บริโภค
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี