ด้วยมูลค่าของอุตสาหกรรมอาหารในเชิงตลาดโลก ทั้งภาคการผลิต ภาคการค้าและบริการ รวมกันแล้วมีมูลค่าถึง 2 ล้านล้านบาท เฉพาะภาคการผลิตอย่างเดียวประมาณ 800,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20 - 22 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการ SME ไทยต้องมีการพัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถแข่งขันและเอาตัวรอดได้
ในเรื่องนี้ ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยนั้น นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปถือเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเดิมที่มีการส่งออกในรูปวัตถุดิบเป็นหลัก ไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
รูปแบบสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ มีแนวโน้มพึ่งพิงรายได้จากสินค้าหลักลดลง (สินค้าหลัก 8 รายการ ได้แก่ ข้าว ไก่ กุ้ง ทูน่ากระป๋อง น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง สับปะรดกระป๋องและข้าวโพดหวานปรุงแต่ง) โดยจะมีการพัฒนาสินค้าใหม่ๆเข้าสู่ตลาดมากขึ้น เช่น อาหารสำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ
ตลาดส่งออกเปลี่ยนแปลงไป โดยสินค้าอาหารของไทยจะลดการพึ่งพิงตลาดเดิมลดลง เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยจะมีการกระจายการส่งออกไปตลาดใหม่ๆมากขึ้นโดยเฉพาะตลาดภายในภูมิภาคที่มีการตกลงทางการค้า ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่นและจีน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ที่ผ่านมาผู้ประกอบการยังคงชินอยู่กับการทำสินค้าที่เรียกว่าแปรรูปเบื้องต้น หรือไม่มีการพัฒนา ใช้นวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น ซึ่งเมื่อดูที่โครงสร้างของอุตสาหกรรมอาหารไทย จะพบว่ามี 110,000 ผู้ประกอบการ โดย 99.5 เปอร์เซ็นต์เป็น SME พวกรายใหญ่มีแค่ 600 ราย แต่พวกนี้สามารถที่จะสร้างมูลค่าในการส่งออกสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีกแสนกว่ารายเป็นรายย่อยที่มีมูลค่าการส่งออกที่ 30 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือโจทย์ที่จะต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีการเพิ่มศักยภาพตัวเองให้มากขึ้น โดยแนวทางในการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีดังนี้
ติดตามเทรนด์อยู่เสมอ
ทุกวันนี้เทรนด์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารหรือตัวบรรจุภัณฑ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น การใช้นาโนเทคโนโลยีเข้ามาทำเป็นตัวแพ็กเกจจิ้งที่สามารถเปลี่ยนสีได้เมื่อใกล้วันหมดอายุ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภค นอกจากนี้รูปร่างของตัวบรรจุภัณฑ์ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ แปลกใหม่และแตกต่างเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค
ติดฉลากฉลาด
ทุกวันนี้ฉลากของตัวผลิตภัณฑ์จะเป็นแค่ฉลากธรรมดาๆ ไม่ได้อีกต่อไป เพราะจะต้องบอกเรื่องราวและคุณค่าของตัวสินค้าได้ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่สนใจถึงที่มาที่ไปและข้อมูลเบื้องลึกของผลิตภัณฑ์ เช่น ฉลากของน้ำมันรำข้าวต้องสามารถบอกถึงที่มาได้ว่ามาจากนาข้าวผืนไหน ปลูกข้าวมาแล้วกี่ปี ปลูกโดยใคร รุ่นที่เท่าไหร่ ผืนดินนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุตัวไหน แล้วพอสกัดออกมาเป็นน้ำมันรำข้าวแล้วมีแร่ธาตุชนิดใด วิตามินตัวไหน นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีที่ผู้บริโภคสามารถสแกนตัวฉลากแล้วข้อมูลของตัวสินค้าแสดงออกมาในรูปแบบวิดีโอเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น
ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร
ใช้ไอทีผ่อนแรงคน
ปัจจุบันการใช้ไอทีถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นต้องลงทุนเยอะเสมอไป เช่น การใช้บาร์โค้ดเข้ามาช่วยในการเช็คสต็อกสินค้าที่โกดังแทนการคีย์ข้อมูล เพราะเพียงแค่ยิงเลเซอร์ลงบนบาร์โค้ดข้อมูลก็จะปรากฏบนคอมพิวเตอร์ เป็นการช่วยประหยัดเวลา
เลือกหุ่นยนต์เพิ่มความปลอดภัย
Robot and innovation เป็นอีกสิ่งที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึง เช่น การใช้แขนยนต์ในพื้นที่ของกระบวนการผลิตที่มีความเสี่ยงหรือมีความร้อน เป็นเทรนด์ที่เอาเข้าไปเสริมในบางกระบวนการแทนที่การใช้แรงคน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียและลดความเสี่ยงในการทำงาน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี