ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารของไทยมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องมีการพัฒนาศักยภาพเพื่อยกระดับไปสู่การแข่งขันในตลาดโลก ด้วยเหตุนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงได้จับมือ สถาบันอาหาร เปิดตัวกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการด้วยเครื่องมือการบริหารจัดการสมัยใหม่ (Advance SME Programme) ประจำปี 2561 โดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารเป็นโครงการนำร่อง
ในเรื่องนี้ กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปีนี้ถือเป็นปีแรกในการจัดโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ SME ให้ก้าวสู่การเป็น Smart SME และ Global SME โดยมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นๆจำนวน 60 คน โดยการเข้าร่วมโครงการนี้จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนธุรกิจ การบริหารจัดการด้านต่างๆ รวมทั้งเป็นการจุดประกายแนวคิดในการทำธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี ระบบดิจิตอลและนวัตกรรม เพื่อยกระดับการผลิต การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และการผลิตรูปแบบใหม่ที่สร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างยั่งยืน เกิดเครือข่ายและเกิดการเชื่อมโยงธุรกิจ มีการขยายตลาดการค้าหรือการลงทุนในระดับสากล
โดยตั้งเป้าว่าเมื่อเสร็จสิ้นการอบรมจะเกิดนวัตกรรมใหม่ไม่น้อยกว่า 1 เรื่อง ผู้ประกอบการมีมูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้น หรือลดต้นทุนได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 - 5 เปอร์เซ็นต์ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย DIP Transform for SME 4.0 เพื่อไปสู่วิสัยทัศน์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศให้เพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาทภายในปี 2564
ในด้าน ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถาบันอาหารได้รับมอบหมายจากกรมส่งเสริมอุคสาหกรรมให้เป็นหน่วยงานดำเนินการออกแบบและจัดกิจกรรมฝึกอบรมที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มอาหารแห่งอนาคตด้วยหลักสูตรการพัฒนาผู้ประกอบการด้วยเครื่องมือการบริหารจัดการสมัยใหม่ (Advance SME Programme) ที่จะจัดอบรมตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคมปีนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ
“โดยแนวคิด วิธีการ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME ในครั้งนี้ใช้แนวทางที่เป็นแบบ Construction Learning ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพในการดำเนินการจัดหลักสูตร ได้แก่ การบรรยาย การถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากผู้บริหารระดับสูง การจัดกรณีศึกษา การจักฝึกอบรมภาคทฤษฎี (Workshop)และภาคปฏิบัติ และการแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิด (Focus Group) ตลอดจนมีการให้คำปรึกษาและแนะนำอย่างใกล้ชิดจากวิทยากรและทีม Facilitators (Coaching) ของโครงการ รวมถึงการจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะประสบการณ์ ซึ่งการอบรมดังกล่าวได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำของประเทศ ทั้งจากภาครัฐ เอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นผู้บรรยาย”
โดยโครงสร้างหลักสูตร มีดังนี้
หมวดที่ 1: Advance – Assessment & Coaching
การตรวจประเมินปัญหา วินิจฉัย ประเมินศักยภาพและให้คำปรึกษาแนะนำ (Coaching) ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการที่เข้ารับการฝึกอบรม พร้อมการ Coaching ผ่านกระบวนการ Soft Skill
หมวดที่ 2: Advance - Trends
การมองเทรนด์แห่งอนาคต (Future Trend) แนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงที่ต้องจับตาในอนาคตซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นอยางยิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยต้องตระหนักและตื่นตัว ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือกับโอกาสและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
หมวดที่ 3: Advance – Inspiration
การพัฒนากระบวนการคิดเพื่อสร้างไอเดียต่อยอดธุรกิจผ่านการกระตุ้นความคิดและสร้างแรงบันดาลใจด้วยกรณีศึกษาต่างๆและ/หรือการถายทอดประสบการณ์ตรงจากวิทยากร
หมวดที่ 4: Advance – Digital
การใช้ศักยภาพทางดิจิตอล (Digitalisation) ขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเป็น Smart SMEs เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน
หมวดที่ 5: Advance – Productivity
การเพิ่มผลิตภาพในการผลิตให้อุตสาหกรรมมีผลิตภาพการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรม 4.0
หมวดที่ 6: Advance – Standard
การยกระดับองค์ความรู้ด้านมาตรฐานการผลิตระดับสากล เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่การเป็น Global SMEs
หมวดที่ 7: Advance – Technology & Innovation
การนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเพิ่มมูลค่าธุรกิจ ทั้งในด้านกระบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ
หมวดที่ 8: Advance – Market
การนำเสนอเครื่องมือใหม่ๆเพื่อสร้างนวัตกรรมทางการตลาดที่โดนใจลูกค้าและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน อาทิ ตลาดยุคใหม่ การสร้างแบรนด์ และ/หรือการถ่ายทอดประสบการณ์การบุกตลาดโลกอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ เป็นต้น
หมวดที่ 9: Advance : Pitching your business idea
การทดลองนำไอเดียมาจัดทำเป็นโครงการหรือแผนธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสธุรกิจ พร้อมประลองนำเสนอผลงานเพื่อซักซ้อมเตรียมความพร้อมขอรับทุนจากแหล่งต่างๆ
หมวดที่ 10: Advance – Networking
การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะประสบการณ์ระหว่างผู้ประกอบการที่เข้าร่วมฝึกอบรมและผู้ประกอบการอื่นๆ รวมถึงบุคลากรจากหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาธุรกิจของผู้เข้ารับการฝึกอบรม หรือ การศึกษาดูงาน หรือ ทดสอบตลาด เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมฝึกอบรมได้เพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์และมุมมองธุรกิจ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากประสบการณ์จริงซึ่งเป็นประโยชน์ในการประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจต่อไป
สำหรับเกณฑ์การฝึกอบรมนั้น ผู้เข้าสัมมนาจะได้รับวุฒิบัตรการฝึกอบรมสัมมนาโดยการรับรองของสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อเข้าร่วมอบรมและกิจกรรมตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของโปรแกรมอบรมทั้งหมด
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี