การส่งเสริม สนับสนุนจากภาครัฐ นับเป็นอีกกลไกสำคัญหนึ่งในการผลักดันและขับเคลื่อนผู้ประกอบการ SME โดยปีนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังคงเป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือและพัฒนา SME โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับไปสู่ยุค 4.0 ที่มีศักยภาพ
ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำหรับในปี 2561 จะมีโครงการสินเชื่อใหม่ 3 โครงการ เพื่อช่วยเหลือทางด้านการเงิน วงเงินรวมกว่า 78,000 ล้านบาท ผนวกกับอีก 9 มาตรการที่เป็นตัวขับเคลื่อนพัฒนาส่งเสริมควบคู่กันไป โดยมาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงินที่เตรียมทยอยออกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ คือ 1.สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) วงเงิน 50,000 ล้านบาท 2.สินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรระยะที่ 2 (Transformation Loan) วงเงิน 20,000 ล้านบาท และ 3.โครงการฟื้นฟูและเสริมสร้างศักยภาพเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก (Micro SMEs) วงเงิน 8,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่ด้านการเงินอีก 9 มาตรการ เพื่อยกระดับเอสเอ็มอีไทย โดยมุ่งเน้นไปที่ "ไมโครเอสเอ็มอี" ดันรายได้สู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยทั้ง 9 มาตรการ ประกอบด้วย
1.การขยายศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ทั่วประเทศ 23 แห่ง ซึ่งจะให้บริการเครื่องจักรกลาง และพื้นที่ CoWorking Space เพื่อให้เอสเอ็มอีมีพื้นที่ในการพัฒนาสินค้าต้นแบบใหม่ๆ รวมทั้งการบริการที่ปรึกษาแนะนำเชิงลึก และเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรสนับสนุนต่างๆ
2.ศูนย์สนับสนุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Support & Rescue Center: SSRC) ทำหน้าที่เป็น Front Desk บูรณาการที่ปรึกษา รับคำขอกู้เงิน แก้ไขปัญหาและส่งต่อเอสเอ็มอี โดยจะตั้งศูนย์ให้ได้ 270 แห่งทั่วประเทศที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ศูนย์บริการเอสเอ็มอี (OSS) ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ
3.Train The Coach หรือการสร้างโค้ช เพื่อส่งไปช่วยเหลือเอสเอ็มอี 3 ประเภท ได้แก่ 4.0 Biz Transformer เพื่อเข้าไปช่วยเอสเอ็มอีปรับโมเดลธุรกิจ Tech Expert ช่วยแนะนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมและปูพื้นเทคโนโลยีสู่ยุค 4.0 และ Biz Mentor เป็นที่ปรึกษาแก้ไขปัญหาทั่วไปทางธุรกิจ
4.SME Big Data โดยจัดทำข้อมูลประชากรเอสเอ็มอีของประเทศ ที่สามารถใช้วิเคราะห์โครงสร้างและสถานการณ์เอสเอ็มอีของประเทศผ่าน Data Analytic ทั้งการกระจายตัว ระดับศักยภาพ พร้อมสร้างช่องทางให้ SME เข้าถึงบริการของภาครัฐและเครือข่ายอย่างครบถ้วนทุกที่ทุกเวลา
5.โครงการ Big Brothers หรือโครงการพี่ช่วยน้อง เพื่อเชื่อมต่อเอสเอ็มอีสู่ห่วงโซ่การผลิตระดับโลก โดยจะร่วมมือกับบริษัทและองค์กรชั้นนำระดับประเทศและระดับโลก เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีใน 2 ลักษณะ คือ เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจพร้อมเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตโลก และการยกระดับเทคโนโลยี ขณะนี้มี Big Brothers ตอบรับเข้าร่วมแล้ว อาทิ ปตท. เอสซีจี เดนโซ่ เดลต้า นิสสัน ฮอนด้า และโตโยต้า
6.Digital Value Chain ผลักดันเอสเอ็มอีสู่ห่วงโซ่การผลิตโลกผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม B2B โดยจะพัฒนาระบบเว็บ T-Good Tech ที่เชื่อมต่อ J-Good Tech ผ่านทางการสนับสนุนของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น และในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปอีกหลายประเทศเริ่มจาก CLMV ด้วย
7. โครงการเสริมแกร่งเอสเอ็มอีรอบรู้การเงิน เพื่อพัฒนาเสริมความรู้ด้านการเงินทั้งก่อนกู้และหลังกู้เพื่อให้มีบัญชีที่เป็นระบบ มุ่งเป้าสู่ระบบบัญชีเดียวในอนาคต
8.SME Standard Up ยกระดับเอสเอ็มอีสู่มาตรฐานที่เหมาะสมโดยพัฒนามาตรฐานเฉพาะ (มอก.S) ให้เหมาะสมกับระดับศักยภาพของเอสเอ็มอีและตรงความต้องการของตลาด เริ่มต้นที่กลุ่มสินค้าท่องเที่ยวเป็นลำดับแรก
9.การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน ผ่านโครงการยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยว (CIV 4.0) โดยจะพัฒนาศักยภาพชุมชนค้นหาอัตลักษณ์ชุมชน ทำแผนการพัฒนาและบริหารจัดการอย่างยั่งยืน รวมทั้งผลักดันการแปรรูปผลิตผลการเกษตร ปั้นเอสเอ็มอีเกษตรโดยมีเป้าหมายยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนมีรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 25%
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี