​พีระมิด ภูสะเรียง นวัตกรรมสร้างความต่างให้กาแฟ





 
     จากปัญหาการใช้สารเคมีเพาะปลูกพืชของชาวเขาบนภูสะเรียง กลายมาเป็นต้นกำเนิดกาแฟสด พีระมิด ภูสะเรียง ที่คอกาแฟต่างยกนิ้วให้กับรสชาติกลมกล่อม และกลิ่นหอมกรุ่นไม่เหมือนใคร คือเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการทำตลาดแบบให้สินค้าขายตัวเองของ นิว-พนัสดา ฝั้นเต่ย หนึ่งในผู้ร่วมสร้างแบรนด์กาแฟสด พีระมิด ภูสะเรียง
 

     เธอเล่าว่า พีระมิด ภูสะเรียง มีจุดเริ่มต้นมาจากพระอาจารย์รัตน์ รตนญาโณ หลวงลุงของเธอ ซึ่งเป็นพระนักพัฒนาแห่งเขาภูสะเรียง ต้องการส่งเสริมให้ชาวเขาหันมาปลูกกาแฟเลี้ยงชีพ ทดแทนการปลูกกะหล่ำปลีที่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสภาวะอากาศบนดอยมีความเย็น ความชื้น และความสูงเหมาะกับการปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า โดยใช้วิธีปลูกแบบออร์แกนิก คือปลูกบริเวณต้นน้ำ ใต้ต้นไม้ใหญ่ ทำให้ได้กาแฟเมล็ดใหญ่เป็นผลผลิตที่สมบูรณ์ และให้รสชาติไม่เหมือนใคร แต่สิ่งที่พิเศษไปกว่านั้นคือสูตรการคั่วที่ทำให้พีระมิด ภูสะเรียง มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นที่ติดใจของทุกคมที่มีโอกาสได้ลิ้มลอง
 

     “เราจะนำเอาเมล็ดกาแฟมาผ่านเครื่องที่มีแร่พีระมิดล้อมรอบ และใช้พลังน้ำวนของเครื่องซึ่งเป็นการต่อยอดจากมาจากกระบวนการผลิตน้ำแร่ ที่หลวงลุงเป็นผู้คิดค้น โดยใช้เวลา 5 ชั่วโมง ในการปรับสภาพเมล็ดกาแฟไม่ให้มีความเปรี้ยว หลังปรับสภาพเมล็ดกาแฟแล้วก็นำไปคั่วปกติ โดยมีสองสูตร คือคั่วกลางกับคั่วเข้ม”

 
     ทั้งนี้ นอกจากกาแฟสดแล้ว ทางร้านยังจำหน่ายเป็นเมล็ดคั่ว และเมล็ดกาแฟคั่วบดด้วย ลูกค้าสามารถมาซื้อได้โดยตรงที่ร้าน ซึ่งมี 3 สาขา คือ แม่สะเรียง จอมทอง และช้างคลาน หรือจะสั่งซื้อผ่านทางเพจเฟซบุ๊กในชื่อ พีระมิด ภูสะเรียง กาแฟสด ก็ได้
 

     “ส่วนใหญ่ลูกค้าจะซื้อเป็นเม็ดไป เพราะคนที่กินกาแฟสดส่วนใหญ่จะมีเครื่องบดของตัวเองอยู่แล้ว แต่ก็มีบ้างที่บางคนจะให้เราบดให้ ซึ่งเราก็จะบดให้ฟรี ถ้าสั่งไม่เยอะมาก แต่มีน้อยมากที่ลูกค้าจะซื้อแล้วให้เราบดให้ ส่วนใหญ่จะซื้อเป็นเม็ดไปบดเอง เพราะความหอมจะไม่เท่ากับที่บดเสร็จใหม่ๆ ยิ่งถ้าเก็บไม่ดีก็จะมีความชื้นทำให้กาแฟไม่อร่อย ส่วนใหญ่คนที่มาซื้อ จะเป็นลูกค้าประจำ หรือเคยมากินที่ร้านแล้วติดใจ ก็จะกลับมาสั่งซื้อผ่านทางเฟซบุ๊กแบบเป็นขาประจำกันก็มี”
 




     ปัจจุบันร้านกาแฟสดของพนัสดาจะใช้เมล็ดกาแฟต่อเดือนประมาณ 10 กิโลกรัม และจะขายผ่านทางเฟซบุ๊กอีก 5 กิโลกกรัม โดยตัวเลขนี้เฉพาะสาขาช้างคลานที่เธอดูแลอยู่ ซึ่งเธอจะวางแผนการใช้ให้หมดภายใน 1 เดือน เพื่อให้คงความหอมให้ได้มากที่สุด เมื่อหมดแล้วจึงบดใหม่ แต่จะไม่บดเก็บไว้นาน เช่นเดียวกับกาแฟเมล็ดคั่วบดที่บรรจุถุงจำหน่าย จะเน้นการจำหน่ายออกเร็วเพื่อคงความหอม ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่รู้ถึงประเด็นสำคัญข้อนี้ดี
 

     “กาแฟที่นิวใช้จะวางแผนให้หมดภายในหนึ่งเดือน ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ความหอมยังคงหอมกรุ่นอยู่ หลังจากนี้ความหอมก็จะค่อยๆ ลดลง คือจริงๆ ความหอมสดจะอยู่ได้นาน 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับการเก็บรักษา เพียงแต่ในช่วง 1-2 เดือนจะหอมมากที่สุด นี่เป็นอีกก้าวต่อไปที่เราคิดจะพัฒนากาแฟของเราให้สามารถเก็บความหอมไว้ให้ได้นานที่สุด เพราะเรากำลังมีแผนที่จะนำกาแฟคั่วบดออกวางจำหน่ายด้วยการฝากขายตามร้านที่ริมปิง ซึ่งมีกาแฟหลายแบรนด์วางขายเยอะมาก แต่ตอนนี้ลูกค้าส่วนใหญ่สนใจสั่งซื้อตรงจากเรามากกว่า เพราะจะได้ของใหม่มีความหอมสดกว่า เพราะกาแฟถุงหนึ่งนานกว่าจะกินหมด ถ้าซื้อเก็บไว้นาน ความหอมสด ความอร่อยก็จะค่อยๆ ลดลง”
 

     พนัสดาบอกว่าเป้าหมายระยะยาว เธอต้องการจับตลาดกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ในอนาคต ขณะที่กาแฟพีระมิด ภูสะเลียง มีจุดเด่นที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ คือกินแล้วใจไม่สั่น โดยกำลังเดินเรื่องเพื่อยื่นขอสิทธิบัตรกาแฟพีระมิดอยู่ และจะใช้สิทธิบัตรดังกล่าวในการโปรโมทสินค้าให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็มีตัวแทนจากประเทศเพื่อนบ้านให้ความสนใจนำเข้าไปจำหน่ายในประเทศของตนอยู่ ถือเป็นความสำเร็จในระดับที่เธอในฐานะลูกหลานพระอาจารย์รัตน์ พระนักพัฒนาภาคภูมิใจ และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสินค้าให้มีความโดดเด่นเป็นมากกว่ากาแฟทั่วๆ ไป ต่อไป





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน