​Kode ใส่ไอเดียงานไม้ ขายความสร้างสรรค์








     บนถนนคนเดินเชียงคาน ท่ามกลางนักท่องเที่ยวที่เดินขวักไขว่ไปมา แสงไฟเล็กๆ จากโคมไฟไม้ และชิ้นงานประดิษฐ์อีกหลากหลายชิ้นแทรกตัวอยู่ในมุมหนึ่งของถนน สร้างความสนใจแก่ผู้ผ่านไปมา จนดึงดูดให้ต้องแวะเดินเข้าไปดู
               

     Kode คือ ชื่อของแบรนด์โคมไฟและลำโพงไม้ดังกล่าว เป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า รหัส หนุ่มสาวสองคน ราชันย์ แก้วศิริ (ใหญ่) และสุรัตน์ พรหมสุรินทร์ (เหมียว) คือ ผู้สร้างสรรค์ผลงานดังกล่าว ทั้งคู่เล่าให้ฟังว่าเปิดร้านและทำมาได้ประมาณ 3 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านี้ก็ลองทำมาแล้วหลายอย่าง เช่น เปิดร้านรถเข็นขายอาหารญี่ปุ่น อาทิ ทาโกะยากิ ข้าวแกงกระหรี่ ไก่ย่างยากิโทริ เนื่องจากเป็นคนชอบทำอาหาร แต่ก็ยังไม่ลงตัว จนกระทั่งมาสนใจหลอดไฟวินเทจที่เรียกกันว่า หลอดไฟเอดิสันที่กำลังเป็นนิยมกันในตอนนั้น จึงอยากทดลองทำฐานเป็นโคมไฟมาไว้ใส่ เพื่อสร้างเป็นงานแฮนด์เมด กอปรกับมีพื้นฐานด้านงานโฆษณาและ sound engineer มาก่อน จึงนำมาประยุกต์ดัดแปลงออกแบบเป็นโคมไฟไม้และลำโพงไม้วางโทรศัพท์ไปในตัว จากที่ทดลองทำออกมาเพียงไม่กี่ชิ้น เมื่อเห็นว่าได้รับการตอบรับที่ดี จึงหันมาทดลองผลิตขึ้นอย่างจริงจัง โดยแบ่งหน้าที่เหมียวช่วยเสนอไอเดีย ใหญ่ คือ นายช่างผลิตชิ้นงาน





     “เราเริ่มต้นจากความสนุก ความรู้สึกอยากทำขึ้นมาก่อน เริ่มต้นจากหาเศษไม้มาทดลองทำ ที่เชียงคานมีการต่อเติมก่อสร้างบ้านกันมาก เราก็ลองไปขอเศษไม้เขามาลองทำดู บางทีไปเจอเศษไม้สวยๆ ที่ไหน ที่เขาไม่ใช่แล้วก็ลองเก็บเอามาทำ ก็จะได้งานที่แปลกตาออกไป แต่ละชิ้นไม่เหมือนกัน โดยทดลองทำเป็นโคมไฟออกมาวางขายก่อน พอตอนหลังก็เริ่มพัฒนาให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ทำเป็นโคมไฟ+ที่วางโทรศัพท์ โคมไฟ+ลำโพงขยายเสียงไปด้วย เพราะก่อนหน้านั้นเราทำงานด้าน sound engineer และมีพื้นฐานด้านดนตรีมาด้วย จึงหยิบเอาทักษะตรงนี้มาใช้ พอลูกค้าเริ่มสนใจเยอะขึ้นจากที่ทำแค่เศษไม้และไม้เก่า ซึ่งก็ไม่ได้มีมาตลอด อีกส่วนหนึ่ง คือ ผลิตยากกว่า เพราะแต่ละชิ้นขนาดไม่เท่ากัน เราก็เริ่มสั่งไม้จากเมืองนอกเข้ามา ทำให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้น เพราะมีขนาดเท่ากัน ออกแบบครั้งเดียวแต่สามารถผลิตได้ทีละหลายชิ้น ทำให้แบรนด์เราเติบโตมากขึ้น”
       
        

     

      ใหญ่เล่าให้ฟังว่าไม้แต่ละชนิด ก็มีเสน่ห์ ข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันออกไป
               

     “เราสั่งไม้นอกเข้ามา เพื่อให้สามารถผลิตปริมาณได้มากพอกับความต้องการของลูกค้า เพราะงานของเรามีหลายรุ่นหลายราคา ทำให้สามารถรองรับลูกค้าได้ทุกกลุ่ม ไม้เก่าต้องใช้เวลาทำนานกว่า แต่ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ขายได้ราคาดีกว่า ส่วนใหญ่ถ้าเป็นโคมไฟคนจะชอบไม้เก่า เพราะมีความคลาสสิก รูปแบบไม่ซ้ำกัน แต่ถ้าเป็นลำโพงจะชอบไม้สน เพราะให้เสียงที่ทุ้มและนุ่มกว่า งานก็เป็นสไตล์มินิมอล เรียบง่าย ไม้เก่าเป็นไม้เนื้อแข็งเสียงจะแหลมและแข็งกว่า”    





     ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ Kode มีอยู่ 3 ประเภทหลัก ได้แก่ 1.โคมไฟ ประกอบด้วยโคมไฟธรรมดา, โคมไฟ+ลำโพงขยายเสียง, โคมไฟขยายเสียงรุ่นปากฮอร์น 2.ลำโพงขยายเสียง มีให้เลือกหลายรุ่นหลายขนาด 3.แท่นวางมือถือ ส่วนตัวที่เป็นไฮไลต์ คือ โคมไฟ+ลำโพงขยายเสียง รุ่น wave ซึ่งเปิดโชว์ให้เห็นทางเดินของร่องเสียง โดยแต่ละตัวถูกออกแบบมาไม่ซ้ำกันเลย ทั้งตัวไม้และทางเดินของร่องเสียง เสียงที่ได้ออกมาก็จะแตกต่างกัน ราคาจะขึ้นอยู่กับขนาด ความยากง่ายของชิ้นงาน รวมถึงเอกลักษณ์ของไม้แต่ละชิ้น อยู่ที่ประมาณ 290 – 1,590 บาท โดยทั้งคู่กล่าวว่ารู้สึกภูมิใจกับชิ้นงานที่ทำและมองว่าเป็นงานที่ลงตัวแล้วสำหรับตัวเองในวันนี้ แถมยังฝากแง่คิดสำหรับคนที่ชอบทำงานแฮนด์เมด และอยากจะทำให้เป็นธุรกิจขึ้นมาด้วยว่า





     “การทำงานแฮนด์เมด เราอาจเริ่มมาจากความชอบความสนใจก็จริง แต่วันหนึ่งถ้าคิดจะทำเป็นอาชีพขึ้นมา เราต้องกำหนดเป้าหมายขึ้นมาด้วยว่า ถ้าจะทำให้มีรายได้อยู่ได้ เราต้องขายให้ได้เดือนละประมาณเท่าไหร่ ต้องผลิตขึ้นมากี่ชิ้น กี่รูปแบบ และต้องดูความต้องการของตลาดด้วย เขาชอบรูปแบบ แบบไหนขายดี ทำทั้งแบบที่ลูกค้าต้องการและแบบที่เราชอบควบคู่กันไปด้วย ซึ่งหากได้ทำในสิ่งที่ชอบ เชื่อว่ายังไงเราก็สามารถพัฒนางานออกมาได้เรื่อยๆ เพราะเรามีความสนุกกับมัน อย่างตอนนี้เราก็ลองทำโคมไฟจากปูนเปลือยด้วย แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีความอดทน ช่วงแรกอาจจะยาก แต่ต่อไปจะดีขึ้นเรื่อยๆ เอง”
 




Kode โทร.089-051-9140
Facebook : studiokode


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน