Cr: Loliware
ด้วยความคิดที่จะลดปัญหาจากการใช้แล้วทิ้งของหลอดพลาสติกที่มากถึง 500 ล้านหลอดต่อวันในสหรัฐอเมริกา แบรนด์ ลอลิแวร์ (Loliware) จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2557 โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตของความยั่งยืนโดยการใช้วัสดุจากธรรมชาติเข้ามาแทนที่การใช้พลาสติกสำหรับเครื่องใช้หรือภาชนะที่ใช้ในการรับประทานอาหารและบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้ ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมการใช้วัสดุจากสาหร่ายทะเลมาทำเป็น “หลอดเครื่องดื่ม” ที่สามารถกินได้หลังจากการใช้แล้ว หรือถ้าผู้บริโภคไม่กินหลอดนั้นก็สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติอย่าง 100 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ ทางแบรนด์ได้ออกแบบ Lolistraw หรือหลอดกินได้ ให้ออกมาเหมือนหลอดพลาสติกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยมีอายุการใช้งานได้นานถึง 24 ชั่วโมงในเครื่องดื่มและมีอายุการเก็บรักษานานถึง 24 เดือน โดยมีทั้งหลอดธรรมดาที่ปราศจากรสชาติ และมีรสชาติ เช่น กุหลาบ มะม่วง ส้มยูสุ ชาร์โคล ไม้หอมพาโลซานโตและวนิลา หรือแม้กระทั่งหลอดที่มีวิตามินสำหรับการดื่มหลังออกกำลังกาย
Cr: Loliware
หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์อย่าง Chelsea Briganti บอกว่า ลองจินตนาการดูว่าจะเป็นยังไงถ้าเราดื่มกาแฟเย็นด้วยหลอดรสวนิลาหรือคาราเมล เราเชื่อว่านวัตกรรมนี้จะเข้ามากระตุ้นเรื่องการลดใช้พลาสติกในขณะที่ลูกค้าก็มีความสุขไปด้วยได้ โดยที่สีและรสชาติของหลอดนั้นทำมาจากผักและผลไม้
“ความแตกต่างของ Lolistraw คือการถูกออกแบบมาให้ย่อยสลายหายไปโดยไม่ทิ้งร่องรอย ซึ่งต่างจากวัสดุพลาสติกชีวภาพบางชนิดที่สามารถแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ ดังนั้นหลอดกินได้จึงถูกออกแบบมาเพื่อให้หายไปอย่างแท้จริง”
ขณะที่ผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง Leigh Ann Tucker เสริมว่า หลอดนี้ให้ความรู้สึกเหมือนหลอดพลาสติกของจริงแต่คุณสามารถกินมันได้จริงๆหลังจากดื่มเครื่องดื่มหมดแล้ว ส่วนสำหรับใครที่ไม่อยากกินก็ไม่เป็นปัญหาเพราะมันสามารถย่อยได้เองตามธรรมชาติหรือถ้ามันถูกทิ้งลงในทะเลมันก็จะสามารถสลายได้โดยไม่ทำความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อม
“หลอดพลาสติกเป็น 1 ใน 10 ขยะที่พบมากที่สุดในทะเล จึงเป็นที่มาของไอเดียออกแบบหลอดกินได้ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ตัวที่สองของแบรนด์ต่อจากแก้วน้ำกินได้ Lolistraw ทำมาจากวัตถุดิบใหม่ที่เราเรียกว่า Lolizero หรือทำจากสาหร่ายทะเลปราศจากน้ำตาล ไร้สารเคมีและไม่กลายเป็นขยะ”
เป้าหมายของแบรนด์คือการแทนที่หลอดพลาสติกที่ใช้ในสถานที่ที่มีขยะจำนวนมาก เช่น สนามกีฬา ร้านอาหารและร้านกาแฟ โดยคาดว่าจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในช่วงซัมเมอร์ปีนี้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้ประกอบการหันมาให้ความสนใจมากขึ้น โดยทางหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นถึงจุดยืนตรงนี้คือการออกแบบบรรจุภัณฑ์หรือสินค้าที่สามารถย่อยสลายได้โดยไม่มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ อีกทั้งเทรนด์ของการออกแบบจุภัณฑ์ที่สามารถรับประทานได้กำลังมาแรง โดยคาดว่าตลาดบรรจุภัณฑ์กินได้ของโลกจะมีการเติบโตอยู่ที่ 7.9 เปอร์เซ็นต์ในทศวรรษหน้าหรือมีมูลค่า 13.26 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี