เปิดกลยุทธ์ Local Brand สไตล์นายห้าง เมืองพิษณุโลก





 
     ในเมืองพิษณุโลกใครๆ ก็รู้จักและเรียกเขาว่า “นายห้าง” สำหรับผู้ชายคนนี้ คัมภีร์ ฐานโชติ เขาคือนักธุรกิจที่ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จคนหนึ่งในเมืองสองแควแห่งนี้ ตลอดเส้นทางการทำงานหลายสิบปีที่ผ่านมา จนวันนี้เขากลายเป็นเจ้าของ “เมเจอร์ เฟอร์นิเจอร์ มอลล์” อาณาจักรเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ ที่มีการขยายสาขาไปยังจังหวัดต่างๆ มากมาย รวมถึงแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ในเครืออีก 2 แบรนด์ด้วยกัน ได้แก่ ไอเดีย เฟอร์นิเจอร์ มอลล์ และฟิวเจอร์ เฟอร์นิเจอร์ อีกทั้งยังมีธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ สื่อโฆษณาจอ LED และธุรกิจโรงแรม ซึ่งนับรวมๆ แล้วมีบริษัทในเครือมากกว่า 10 บริษัทด้วยกัน 

 
     ทั้งหมดที่ว่านี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดีว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นของนายห้างคัมภีร์ ไม่ได้เริ่มต้นมาจากการมีต้นทุนชีวิตที่มากกว่าคนอื่น บางทีอาจจะน้อยกว่าด้วยซ้ำ เพราะเป็นการเริ่มต้นจากศูนย์ที่มีหนี้ติดตัวอีกต่างหาก เพียงแต่ว่าความมุมานะ และความต้องการที่จะพิสูจน์ตัว เป็นแรงผลักดันนำพาเขามาจนถึงวันนี้ได้ โดยอาศัยน้ำพักน้ำแรงจากหนึ่งมันสมองและสองมือของผู้ชายคนนี้จริงๆ 





ออกจากบ้าน พร้อมหนี้ติดตัวแสนกว่าบาท


     ด้วยความเป็นลูกชายคนโตของครอบครัว ทำให้นายห้างคัมภีร์ต้องช่วยงานพ่อมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งทางครอบครัวนั้นทำธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์ เมื่ออายุ 13 ปีเขาเริ่มขับรถส่งของ และช่วยงานทุกอย่างมาโดยตลอด จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อเขาตัดสินใจเดินออกจากบ้าน จากปัญหาครอบครัว เพื่อมาตั้งต้นชีวิตของตัวเอง ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ที่เขาคลุกคลีมาตั้งแต่วัยเด็กนั้น จึงกลายเป็นธุรกิจแรกที่เขาเลือกทำ


     “ตอนนั้นผมออกจากบ้านมาด้วยเงินติดลบ จำได้ว่าทั้งเนื้อทั้งตัวมีเงินอยู่ 16,000 บาท มีหนี้อยู่แสนหนึ่ง หนี้จากการที่เราไปเล่นแชร์เพื่อเอาเงินมาแต่งงาน เพราะผมหาเงินใช้เอง ไม่ได้ขอครอบครัวเลย ก็เลยไปเล่นแชร์ เพื่อเอาเงินมาขอเมีย สมัยนั้นได้มา 150,000 บาท ก็เอาไปซื้อทอง ก็เริ่มเป็นหนี้ต้องผ่อนเดือนละหมื่น พอแต่งงานได้สัก 5 เดือนก็ออกจากบ้าน เพราะมีปัญหากับน้องๆ ผมมาจากศูนย์จริงๆ เดิมพื้นฐานคุณพ่อขายเฟอร์นิเจอร์ พอผมออกจากบ้าน ก็เลยมาทำเฟอร์นิเจอร์นี่แหละ เพราะเราถนัดที่สุด โดยไปเช่าตึกแถวห้องเดียวเล็กๆ ขายเฟอร์นิเจอร์ ตอนนั้นมีสามล้อเครื่องอยู่คัน ไปซื้อมา เพื่อเอาส่งของบ้างไรบ้าง ผมตื่นตี 5 มาทำงาน เลิกงาน 4 ทุ่มทุกวัน เราต้องขยัน เพราะถ้าไม่ขยัน เราก็จะไม่มี เพราะโดนดูถูกไว้เยอะ เวลาใครดูถูกเรา มันเหมือนมีแรงผลัก ผมก็ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินอย่างเดียว

 
     ...จากปี 2533 ถึงวันนี้ 28 ปีแล้ว ค่อยๆ โตครับ จากตึกแถวห้องหนึ่ง ขยายมาเป็นสองห้อง มาเป็นตึกแถวสามห้อง จนมาเป็นโชว์รูมที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ที่พิษณุโลก เมเจอร์ เฟอร์นิเจอร์ มอลล์ มีพื้นที่ 12,000 ตารางเมตร ส่วนไอเดีย เฟอร์นิเจอร์ มอลล์ก็ประมาณ 5,000-6,000ตารางเมตร แล้วก็มีธุรกิจอื่นด้วยคือ ทำหมู่บ้านจัดสรร อาคารพาณิชย์ มีทำสื่อโฆษณาจอ LED ในพิษณุโลกมีอยู่ประมาณ 3-4 จอ ล่าสุดคือ ทำโรงแรมกับคอมเพล็กซ์กีฬาชื่อว่า พิษณุโลก ยูไนเต็ด ตอนนี้เรามีบริษัทในเครืออยู่ทั้งหมด 11 บริษัทด้วยกัน” 




 
“เมเจอร์ เฟอร์นิเจอร์ มอลล์” หัวหอกบุกขยายตลาด


      แม้ปัจจุบันนายห้างคัมภีร์จะทำธุรกิจหลายๆ อย่าง แต่ที่เป็นธุรกิจหลักจริงๆ ก็คือ เฟอร์นิเจอร์ โดยมีอยู่ 3 แบรนด์ด้วยกัน นั่นคือ เมเจอร์ เฟอร์นิเจอร์ มอลล์, ไอเดีย เฟอร์นิเจอร์ มอลล์ และฟิวเจอร์ เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งแต่ละแบรนด์นั้นก็มีจุดแข็งและการวางตำแหน่งทางการตลาดที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะแบรนด์หลักอย่าง เมเจอร์ เฟอร์นิเจอร์ ถือได้ว่าเป็นหัวหอกสำคัญในการสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจ

 
     “ตอนนี้สำหรับแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ ผมจะเน้นไปที่แบรนด์เมเจอร์ เฟอร์นิเจอร์ มอลล์ ซึ่งนอกจากจะมีที่พิษณุโลกแล้ว ก็มีขยายไปจังหวัดอื่นๆ ด้วย เช่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช สุพรรณบุรี ส่วนไอเดีย เฟอร์นิเจอร์ มอลล์ จะมีแค่พิษณุโลก และนครสวรรค์ ส่วนฟิวเจอร์ เฟอร์นิเจอร์ จะมีแค่พิษณุโลกเท่านั้น ซึ่งแต่ละแบรนด์จะมีการวาง Position ที่ต่างกันออกไป ถ้าพูดถึงพิษณุโลก เมเจอร์ จะเป็นแบรนด์ที่ค่อนข้างบน ส่วนไอเดียก็จะจับตลาดกลางๆ ส่วนฟิวเจอร์นั้นจะลงไปเล่นที่ตลาดล่าง และกลุ่มของหน่วยงานราชการ ส่วนในอนาคตถ้าจะไปเปิดสาขาเพิ่ม ผมคงจะใช้แบรนด์เมเจอร์เป็นตัวรุกจังหวัดอื่นๆ





     ...เวลาผมจะขยายไปเปิดสาขาในต่างจังหวัด ถามว่าศึกษาตลาดยังไง เอาเป็นว่าผมเชื่อสายตาตัวเอง ถ้าผมจะไปที่ไหน ผมจะไปขี่รถวน เที่ยวดูไปเรื่อยๆ เข้าร้านโน้น ออกร้านนี้ พอเราเดินเที่ยวก็จะได้เห็นพฤติกรรมคนท้องถิ่น ศึกษาดูรายได้ต่อหัว ดูคู่แข่ง ทุกครั้งจะไปดูด้วยตัวเอง สุพรรณบุรี ผมก็ไปขี่รถเที่ยว ระยองก็ไปขี่รถเที่ยว เพราะเราเชื่อสายตาตัวเอง และเวลาจะเปิดโชว์รูมที่ไหน สิ่งที่ผมดูคือ คู่แข่งแข็งไหม เพราะการที่เราข้ามเขตไปที่อื่น แล้วเจอคู่แข่งที่แข็งมากๆ  อาจจะไม่มีใครชนะใคร หรือใครแพ้ใครหรอก มีแต่คำว่า เหนื่อยมาก กับเหนื่อยน้อย ถ้าเราเพิ่งเริ่มต้น แล้วไปเริ่มจากที่เหนื่อยมากๆ การทำธุรกิจก็คงจะยากขึ้นเราก็เริ่มจากจังหวัดที่รู้สึกว่าง่าย ตอนนั้นปี 2554 เราไปโคราช ตอนนั้นยังไม่มีแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่แข็งแรงเลย แม้แต่แบรนด์ใหญ่ๆ ก็ยังไม่มี มีแต่ร้านโลคัลทั้งนั้น ผมไปด้วยพื้นที่หมื่นกว่าตารางเมตร ได้เรื่องขนาดของความใหญ่ เราเข้าไปก็ได้รับการตอบรับที่ดี เช่นเดียวกับนครศรีธรรมราชก็เหมือนกัน เพราะเจ้าถิ่นยังไม่แข็งแกร่ง ที่สำคัญจังหวัดเหล่านี้เป็นเมืองที่ค่อนข้างใหญ่ ถ้าเทียบกับพิษณุโลก นครศรีธรรมราชใหญ่กว่าเท่าตัว โคราชใหญ่กว่า 3 เท่า การไปเมืองใหญ่กว่าจะยิ่งได้เปรียบ และยิ่งเป็นเมืองใหญ่ที่คู่แข่งไม่แข็งก็จะยิ่งได้เปรียบเป็นสองเท่า” 




 
ส่องพฤติกรรมลูกค้าเฟอร์นิเจอร์ต่างจังหวัด 


     แม้จะเป็นเจ้าของโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ที่มีสาขาอยู่ในหลายๆ จังหวัด แต่สิ่งหนึ่งที่นายห้างคัมภีร์ไม่เคยคิดที่จะทำเลย นั่นคือ การเป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์เอง เพราะต้องการชูจุดขายในเรื่องความหลากหลายของเฟอร์นิเจอร์ให้กับลูกค้า และที่สำคัญเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างดีด้วย


     “เราไม่ได้ผลิตเฟอร์นิเจอร์เอง เพราะการผลิตเองจะโดนบังคับด้วยจำนวนไอเท็ม ส่วนใหญ่ไลน์การผลิตแต่ละโรงงานจะทำได้ไม่เกิน 100 ไอเท็ม แต่เฟอร์นิเจอร์ร้านผมมีเป็นหมื่นไอเท็ม อย่างอิเกีย เขาก็ไม่มีโรงงานเอง จ้างผลิตทั้งนั้น ซึ่งผมมองว่า การจ้างผลิตโอเคกว่า เราสามารถเลือกและปรับได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ยิ่งสมัยนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก ถ้าเราอยู่กับที่หรือยึดติดกับอะไรเดิมๆ การปรับตัวของเราจะไม่ทัน ดังนั้น ผมจะใช้นโยบาย OEM มาโดยตลอด เพราะสามารถที่จะเลือกสินค้าได้มากกว่า โดยมีทั้งผลิตภายใต้แบรนด์เราเอง ซึ่งเราจะร่วมกับโรงงานในการออกแบบดีไซน์ และเป็นการนำเข้ามา จากประเทศจีนบ้าง มาเลเซียบ้าง ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เป็นอะไรที่เรื่องของปริมาณสำคัญ เช่น สั่งโต๊ะจากโรงงาน คุณสั่ง 10 ตัว คุณได้ราคาตัวละ 5,000 บาท ผมสั่ง 100 ตัว ผมได้ 4,000 บาท ซึ่ง 100 ตัวนี้ ผมกระจายไป 10 โชว์รูม เท่ากับโชว์รูมละ 10 ตัวเอง ประเด็นคือ ผมมีอำนาจในการต่อรอง ทำให้ต้นทุนสินค้าเราถูกกว่า เป็นจุดแข็งหนึ่งที่ทำให้เราสามารถสู้บริษัทใหญ่ๆ และคู่แข่งที่แข็งแรงได้”


     ในแง่พฤติกรรมการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะในส่วนของต่างจังหวัด ซึ่งยังไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์มากเหมือนคนในกรุงเทพฯ นั่นคือโอกาสของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ท้องถิ่น ที่สามารถมัดใจลูกค้าได้ ด้วยทั้งคุณภาพ ราคา และบริการ
 


 

     “พฤติกรรมผู้บริโภคต้องยอมรับว่าเปลี่ยนไปเยอะ ง่ายๆ เลย ถามว่าเราเข้าร้านโชห่วยครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ หลายคนนึกนานนะ ทุกวันนี้เราเข้าแต่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ก็เหมือนกัน สักเมื่อ 20 ปีก่อน โชว์รูมไหนติดแอร์คนไม่กล้าเข้า เพราะกลัวแพง สมัยนี้โชว์รูมไหนไม่มีแอร์ คนไม่เข้า เพราะร้อน เป็นพฤติกรรมชาวบ้านๆ เลย ร้านเฟอร์นิเจอร์เล็กๆ จะเหนื่อยและอยู่ยากขึ้น ร้านขนาดกลางจะอยู่ได้ ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่ขายผ่านอินเทอร์เน็ตยังค่อนข้างยากอยู่ ถ้าเป็นชิ้นเล็กๆ อย่าง หมอน ผ้าปูที่นอน อาจจะไม่มีปัญหา ถ้าเป็นตู้เสื้อผ้า ตู้โชว์ ชุดครัวอะไรต่างๆ ที่ใหญ่ ลูกค้ายังอยากที่จะจับต้อง สัมผัส ดูก่อนว่าโอเคไหม แล้วการติดตั้งอะไรต่างๆ ก็ไม่ง่าย ฉะนั้นจุดนี้จึงเป็นจุดที่โชร์รูมเฟอร์นิเจอร์ยังอยู่ได้ โดยที่การขายออนไลน์ ยังไม่สามารถทำลายร้านเฟอร์นิเจอร์แบบนี้ได้ 

 
      ...นอกจากนี้ ผู้บริโภคปัจจุบันจะเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์เร็วขึ้น คนเริ่มตามเทรนด์มากขึ้น ต่างกับรุ่นพ่อรุ่นแม่เราที่ 10-20 ปี ถึงเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ที ตอนนี้ 5-6 ปีคนก็เริ่มเปลี่ยนแล้ว ส่วนเรื่องของการยึดติดกับแบรนด์นั้น โดยส่วนตัวผมมองว่าคนกรุงเทพฯ เป็นนะ แต่คนต่างจังหวัด ไม่ อย่างสินค้าของผม เทียบกับแบรนด์ใหญ่ๆ สมมุติ โซฟาเขาขายหมื่นหนึ่ง ของผมก็เหมือนกันเลย วัสดุ ดีไซน์เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราสามารถขายถูกกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ เป็นคุณซื้อใคร คนต่างจังหวัดจะซื้อของผม ที่ราคา 6,500 บาท แต่คนกรุงเทพฯ อาจจะไม่ หมื่นหนึ่งเขาก็ยังซื้อ เพราะเป็นเรื่องของแบรนด์

  
     ... คนต่างจังหวัดจะอิงกับแบรนด์น้อยกกว่าคนกรุงเทพฯ แต่ถามว่ามีไหม มีเหมือนกัน แต่เทียบกับคนกรุงเทพฯ น้อยกว่าเยอะ อย่างคนที่พิษณุโลก พอเมืองไม่ได้ใหญ่มาก ขับรถไปตรงนั้นตรงนี้ใช้เวลาไม่กี่นานทีก็ถึง แต่ในกรุงเทพฯ จะไปแต่ละที่ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ ดังนั้นเมื่อลูกค้าเข้าไปแล้วก็ต้องตัดสินใจซื้อ โอกาสที่จะตระเวนดูแต่ละที่น้อยมาก แต่ต่างจังหวัดไม่ใช่ ไม่ว่าจะเป็น โคราช นครศรีธรรมราช สามารถขับรถไปดูร้านโน้นร้านนี้ได้ ไปดูแบรนด์ใหญ่ แล้วกลับมาดูแบรนด์เรา ผมบอกเลยว่า ถ้าไปดูแบรนด์ใหญ่แล้วได้มาดูแบรนด์เรา เสร็จผมหมด คนต่างจังหวัดยังอยากที่จะเปรียบเทียบราคา ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ แต่ก็ไม่ได้เป็นทั้งหมด เพราะถ้าเป็นคนระดับบน เขาก็จะติดแบรนด์เหมือนกัน อีกอย่างที่เป็นข้อได้เปรียบของเรากับแบรนด์ใหญ่ คือ บริการจัดส่ง เราสามารถจัดส่งได้ค่อนข้างเร็ว ซื้อวันนี้ยกขึ้นรถไปส่งได้เลย เพราะเราเป็นโลคัล ขณะที่แบรนด์ใหญ่ๆ อาจต้องรอ 5-7 วัน”
 



โรงแรม & คอมเพล็กซ์กีฬา ธุรกิจที่เกิดจากความสุข


     จากธุรกิจแรกขายเฟอร์นิเจอร์ ขยับขยายมาสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต่อด้วยธุรกิจสื่อโฆษณาจอ LED จนวันนี้มาถึงธุรกิจที่ 4 กับการเปิดโรงแรม ที่ไม่ใช่โรงแรมเหมือนทั่วๆ ไป แต่เป็นโรงแรมที่รวมกับคอมเพล็กซ์กีฬาไว้ในที่เดียวกัน ภายใต้ชื่อ “พิษณุโลก ยูไนเต็ด” ที่ฟังเผินๆ เหมือนกับชื่อทีมฟุตบอล แต่ถ้าใครได้เข้าไปจะเห็นเลยว่า นี่คือแหล่งของคนรักกีฬาและสุขภาพอีกที่หนึ่งในเมืองพิษณุโลก ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนสร้างขึ้นมาจากความชอบส่วนตัวของนายห้างคัมภีร์ทั้งสิ้น

 
     “โรงแรมพิษณุโลก ยูไนเต็ด เป็นธุรกิจที่ทำเพราะความสุขของตัวเองล้วนๆ คือ ผมเป็นคนชอบออกกำลังกาย เตะบอลทุกวันเสาร์ ตั้งแต่สมัยเด็กๆ เล่นกีฬาเป็นทุกอย่าง แต่ด้วยความที่ไม่มีเวลาออกกำลังกาย เพราะผมทำงานหนักมาก จนถึงจุดหนึ่งที่คิดถึงเรื่องนี้ขึ้น พิษณุโลกตอนนั้นก็ยังไม่มีฟิตเนสดีๆ ไม่มีสนามฟุตบอลหญ้าเทียมที่มีหลังคาดีๆ และผมเองก็เป็นคนชอบนวดเท้า เลยอยากให้มีสปาด้วย เลยเอาทุกอย่างมารวมไว้ที่เดียว ดังนั้น ภายในโรงแรมผมจึงมีสนามหญ้าเทียม มีฟิตเนส มีสปา มีห้องชกมวย มีร้านอาหาร เครื่องดื่มอยู่ด้วย โรงแรมผมไม่ได้ใหญ่นะ มี 30 กว่าห้องเอง

 
     ...ลูกค้าที่เข้ามามีทั้งเข้ามาพักโรงแรม ซึ่งสามารถจะใช้บริการฟิตเนส สปาและอื่นๆ ได้ฟรี ขณะที่อีกกลุ่มเป็นลูกค้าที่เข้ามาออกกำลังกายและใช้บริการต่างๆ ของเรา ธุรกิจนี้นอกจากความชอบส่วนตัวของผมเองแล้ว ยังมองเห็นโอกาสด้วยว่า เทรนด์ในอนาคตมาทางนี้แน่นอน คนรักสุขภาพมากขึ้น เทรนด์การออกกำลังกายเป็นอะไรที่กำลังมา ผมมองว่าธุรกิจยังไปได้ไกล อย่างคนพิษณุโลกก็หันมาสนใจเรื่องของสุขภาพและกีฬามากขึ้น ดูได้จากที่ผมเปิดพิษณุโลก ยูไนเต็ดขึ้นมา ก็มีอีก 2-3 แห่งเปิดขึ้นตามมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเทรนด์มาทางนี้ แต่ผมมั่นใจว่าของเราได้เปรียบตรงที่เรามีครบวงจร และกำลังเตรียมที่จะขยายพื้นที่ทำสระว่ายน้ำเพิ่มขึ้นในปีนี้




 
บริหารแบบมืออาชีพ ใช้ระบบช่วยจัดการ


     เบื้องลึกเบื้องหลังความสำเร็จที่เกิดขึ้นภายในองค์กรของนายห้างคัมภีร์ มาจากการบริหารธุรกิจโดยอาศัยระบบเข้ามาช่วยจัดการ ซึ่งนอกเหนือจากประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นในธุรกิจแล้ว นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เขามีเวลาที่จะแตกไลน์ขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา


     “เราทำงานเป็นในลักษณะบริษัท มีการเซ็ตระบบไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าสาขาเราจะอยู่ที่จังหวัดไหนก็ไม่มีปัญหา เราเน้นโรงงานที่มีบริการจัดส่งเฟอร์นิเจอร์มาที่เรา เพราะถ้าเราต้องวิ่งเข้าไปเอาเองก็จะเป็นการเสียเวลา ส่วนเรื่องการบริหาร ใช้ระบบจีเอ็ม มีผู้จัดการคอยดูแล ซึ่งจะช่วยให้เราทำงานได้ง่ายและสบายขึ้น เวลาคุย เราก็คุยกับผู้จัดการ ทุกวันนี้ผมไม่ได้เดินเข้าไปชี้นิ้ว สั่งงานลูกน้องเองนะ ผมพยายามให้ผู้จัดการทำหน้าที่ตรงนี้ ให้เขาไปทำตามขั้นตอน ตัวผมเองก็จะได้ไม่ต้องไปคุยงานกับทุกคนเอง เมื่อก่อนถ้ายังเป็นระบบเถ้าแก่ ก็ต้องไล่คุยกับทุกคน ยิ่งตอนนี้เป็นโลกของโซเชียล ยิ่งช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นมากเลย ลูกน้องไลน์เข้ามาถามบ้าง ผมว่ามันง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อนเยอะ เดียวนี้ส่งรูปส่งอะไรทางไลน์ได้ทันที แน่นอนว่าการใช้ระบบเข้ามาควบคุม มีผู้จัดการเข้ามา ค่าใช้จ่ายต้องเพิ่มขึ้น แต่เราก็มีความสุขมากขึ้นนะ เพราะเราไม่ต้องมานั่งเฝ้าร้านอยู่ตลอด มีเวลาไปทำอย่างอื่นอีกมากมาย”




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน