​เซรามิกแฮนด์เมด ธุรกิจปั้นๆ ทำเงิน





 

     ยุคนี้หากลองสังเกตดูดีๆ ในตลาดงานแฮนด์เมด หรือสินค้ากรีนต่างๆ ดูจะได้รับความสนใจ และได้ผลตอบรับที่ดีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะความเข้าใจในคุณค่าของตัวสินค้าอย่างแท้จริง ซึ่งส่งผลต่อราคา มูลค่าอย่างที่ควรจะเป็นได้ง่ายขึ้นกว่าที่ผ่านมามาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกิจกรรม Workshop ที่มีเกิดขึ้นอย่างมากมาย จึงทำให้ผู้ซื้อมีความเข้าใจในกระบวนการ ตลอดจนวิธีการผลิตที่ต้องทุ่มเท ทั้งแรงกายและแรงใจกว่าจะสร้างชิ้นงานขึ้นมาได้สักชิ้นหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในงานแฮนด์เมดที่ได้รับความนิยมจนกลายมาเป็นแบรนด์ธุรกิจให้เราเห็นกันมากขึ้นก็คือ งานปั้นเซรามิกแฮนด์เมด นั่นเอง





     ธนิตา โยธาวงษ์ หนึ่งในสมาชิกของชามเริญ สตูดิโอ เปิดเผยถึง การเข้าสู่ธุรกิจเซรามิกแฮนด์เมด โดยบอกว่า ก่อนเริ่มต้นทำสิ่งสำคัญคืออยากให้ลองหารูปแบบที่ตัวเองชอบให้ได้ก่อน โดยการทดลองลงมือทำจริงว่า วิธีแบบไหนที่เหมาะกับเรา ทำแล้วมีความสุข บางคนอาจชอบแบบปั้นมือ ทำรูปทรงอิสระ บางคนชอบให้งานออกมาดูเนี้ยบก็อาจใช้แป้นหมุน ซึ่งหลังจากหารูปแบบที่ชอบได้แล้ว ให้ลองดูถึงความเป็นไปได้ทั้งหมดที่จะทำ เริ่มตั้งแต่พื้นที่ในการทำงาน เวลาที่จะทำ ทำแล้วจะไปขายที่ไหน สมมุติยังทำงานประจำอยู่ อยากลองทำออกงานสักงานหนึ่งดูก่อน เราก็ต้องมาคำนวณว่า จะทำไปออกงานกี่ชิ้น วันหนึ่งควรจะทำได้เท่าไหร่ ต้องใช้เวลาปั้นนานกี่วัน ต้องเผื่อเวลาขนเอาไปเผา เวลาที่ต้องเสียไปกับการนั่งขาย ค่ารถ ต้นทุนค่าแพ็กเกจจิ้งต่างๆ นำมาลองคำนวณดูทั้งหมดว่ามันคุ้มกับที่เราจะมีกิจการเล็กๆ หรือเปล่า มีความสุขอย่างเดียวไม่พอ ต้องคิดตามความเป็นจริงด้วย
               

     เมื่อแน่ใจแล้วว่า อยากที่จะกระโดดเข้าสู่ธุรกิจนี้ มาดูกันต่อว่า สิ่งต่างๆ ที่คุณควรรู้มีอะไรบ้าง
 




จากดินมาเป็นแก้วได้อย่างไร
               

     เริ่มต้นขออธิบายวิธีการขึ้นรูปเซรามิกคร่าวๆ ก่อน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่
        
       
     ปั้นมือ เป็นวิธีขึ้นรูปที่อิสระที่สุด โดยมีอยู่ 3 วิธีด้วยกัน คือ 1.การบีบ โดยเริ่มต้นจากตรงกลางและค่อยบีบขยายขึ้นรูปไปเรื่อยๆ ตามรูปทรงภาชนะที่ต้องการ 2.การขด โดยนำดินมาคลึงให้เป็นเส้นยาวๆ และขดขึ้นไปเรื่อยๆ เหมาะสำหรับชิ้นงานที่ต้องการความสูง เช่น แจกัน 3.ทำเป็นแผ่นแบนๆ โดยใช้ไม้กลิ้งแป้งมากลิ้งไปกลิ้งมาให้ได้ความหนาที่สม่ำเสมอ จากนั้นจึงหารูปทรงที่ต้องการ เช่น จาน ก้นหม้อ มาทาบลงไปบนแผ่นดินและตัดตาม โดยวิธีการปั้นมือทั้ง 3 รูปแบบนี้คือ การทิ้งร่องรอยจากมือเราไว้บนชิ้นงาน เป็นการบอกเล่าเรื่องราวระหว่างคนปั้นกับชิ้นงานเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการปั้นเซรามิก ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่แบรนด์เซรามิกในปัจจุบันนิยมใช้กันมาก
               

     แป้นหมุนไฟฟ้า การขึ้นรูปด้วยวิธีนี้ต้องค่อนข้างใช้การฝึกฝนและชำนาญ เป็นการทำงานประสานกันระหว่างสมาธิ อารมณ์ ดิน และมือ ซึ่งผู้ปั้นต้องรู้จักดินพอสมควร รู้จักพลิกแพลง ให้น้ำหนักผ่อนเบาตามลักษณะของดินที่นำมาปั้น ซึ่งงานที่ได้จากแป้นหมุนไฟฟ้านี้ จะออกมาในรูปทรงสมมาตร เป็นอีกวิธีที่สามารถช่วยทุ่นแรงในการปั้นเซรามิกได้เร็วขึ้น
               

     หล่อพิมพ์ วิธีการนี้คือ วิธีการเดียวกับที่โรงงานผลิตเซรามิกทั่วไปเลือกใช้ แต่สามารถนำมาประยุกต์ทำใช้เองได้ โดยการปั้นต้นแบบขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงนำปูนปลาสเตอร์มาเททำพิมพ์แต่ละด้าน เมื่อได้แม่พิมพ์แล้วให้เอาไปตากให้แห้ง จากนั้นจึงนำมาใช้ โดยเทน้ำดินลงไป ด้วยคุณสมบัติของปูนปลาสเตอร์จะช่วยดูดซึมน้ำ ทำให้ชั้นดินค่อยๆ แห้งขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อได้ระดับความหนาของชิ้นงานที่ต้องการแล้ว ให้เทน้ำดินออก เสร็จแล้วให้คว่ำพิมพ์ลง เพื่อป้องกันการเกิดรอยจากหยดน้ำ จากนั้นทิ้งงานไว้จนแห้งและจึงค่อยพลิกกลับขึ้นมา เพื่อนำพิมพ์ออกก็จะได้ชิ้นงานอย่างที่ต้องการ โดยวิธีการนี้จะได้ชิ้นงานที่ออกมาค่อนข้างเรียบร้อย รูปทรงสมมาตร
 




รู้จักดิน


     โดยวิธีการขึ้นรูปแต่ละชนิดนั้น ผู้ทำจะต้องรู้จักดิน สามารถเลือกดินให้เหมาะกับวิธีการทำได้ เช่น หากใช้แป้นหมุนควรใช้ดินที่มีส่วนผสมของทรายลงไปด้วยเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ขึ้นรูปง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อเราสามารถเลือกดินได้เหมาะกับงานที่จะทำแล้ว วิธีการต่อไปคือ การนวดดิน นอกจากจะเป็นเหมือนการผลักส่วนผสมในดินให้เข้ากันอีกครั้งแล้ว การนวดดินยังมีความสำคัญกับการเผามาก เนื่องจากในดินจะมีฟองอากาศ การนวดดินคือ การไล่ฟองอากาศออกไป หากนวดไม่ดี ยังคงมีฟองอากาศหลงเหลืออยู่ เวลานำไปเผาอาจทำให้เตาเกิดการระเบิดได้

     นอกจากต้องเลือกดินให้เหมาะกับการขึ้นรูปแล้ว ผู้ทำควรรู้ด้วยว่าดินแต่ละชนิดมีคุณสมบัติพิเศษอย่างไร สีของดินตอนปั้นและหลังการเผา หรือดินนั้นๆ สามารถทนความร้อนได้ที่เท่าไหร่ เวลานำไปเผาจะได้คำนวณได้ถูกต้อง ซึ่งดินที่นำมาใช้ทำเซรามิกนั้นมีด้วยกันหลายชนิด แต่ละพื้นที่ก็ให้สีสันที่แตกต่างกันออกไป โดยเราสามารถทดลองนำดินในพื้นที่ที่อยู่อาศัยมาลองปั้นด้วยตัวเองได้ แต่ทั้งนี้ต้องรู้วิธีการเตรียมดินที่ถูกต้องด้วย รวมถึงการทดลองหาวิธีการนำมาใช้ที่เหมาะสม ซึ่งหากสามารถทำได้สำเร็จก็อาจมีลายเซ็นของตัวเอง แต่โดยส่วนใหญ่ดินที่แบรนด์เซรามิกมักนำมาใช้กันนั้นคือ ดินสำเร็จรูปที่ปรุงมาจากโรงงานเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะมีความเสถียรมากกว่า เพราะมีสูตรผสมตายตัว การเผาแต่ละครั้งจะให้สีใกล้เคียงกัน โดยปกติเริ่มต้นจะขายอยู่ที่ราคาประมาณ 250 บาทต่อ 10 กิโลกรัม หากซื้อเยอะก็จะถูกขึ้นไปอีก ถ้าเก็บรักษาดีๆ ไม่ให้ถูกลมถูกแดดจนแห้งจะสามารถเก็บได้นานเป็นปีๆ เลยทีเดียว
 




การเผา


     ในการทำเซรามิกจะมีการเผาอยู่ 2 รอบ เผารอบแรกเรียนว่า เผาบิสกิต หรือเผาดิบ เป็นการนำชิ้นงานที่ขึ้นรูปเสร็จเรียบร้อยแล้วไปเผา เพื่อให้จากดินธรรมดาเกิดความแข็งแรงขึ้นระดับหนึ่งก่อน อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 750-800 องศาเซลเซียส ตัวอย่างการเผาในระดับนี้ก็เช่น กระถางต้นไม้ต่างๆ ซึ่งยังมีความซึมน้ำอยู่ โดยหลังจากทำการเผาดิบแล้ว ผู้ทำสามารถตกแต่งชิ้นงาน เช่น การทาสี วาดรูปก่อนได้ จากนั้นจึงนำไปเคลือบ และเผาอีกครั้งหนึ่งด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้น ประมาณ 1,200-1,250 องศาเซลเซียส การเผาขั้นตอนนี้เรียกว่า เผาแกร่ง ซึ่งจะทำให้ภาชนะมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้นสามารถนำไปใส่อาหารได้ เพราะถูกเคลือบมาแล้ว จึงทำให้ไม่ซึมน้ำ

   
     โดยเตาเผาที่นิยมใช้มีให้เลือกทั้ง เตาเผาไฟฟ้า ข้อดีคือ ทำให้สีสันชิ้นงานมีความสม่ำเสมอ หากเป็นเตาแก๊สจะมีเอฟเฟ็กต์ตามมามากกว่า เนื่องจากไฟที่ใช้ไม่สม่ำเสมอเท่าเตาไฟฟ้า แต่ขณะเดียวกันก็กลับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง โดยก่อนนำชิ้นงานไปเผาจริงทั้งหมด ควรรู้ก่อนว่าดินที่นำมาใช้ปั้น สีที่ทา หรือน้ำเคลือบที่ใช้นั้นเหมาะสมกับการเผาอุณหภูมิที่เท่าไหร่ จึงจะได้ชิ้นงานที่ออกมาดี ซึ่งหากยังไม่แน่ใจอาจลองทดสอบเผาตัวอย่างก่อน ควรเลือกทั้งภาชนะทรงแบนและทรงสูง เพื่อหาอุณหภูมิเหมาะสมที่แท้จริง



 

   ในส่วนของผู้ที่เริ่มต้นทำนั้นหากยังไม่มั่นใจว่าจะยึดอาชีพทำเซรามิกจริงจัง แนะนำให้ลองใช้วิธีฝากเผาดูก่อน ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกหลายเจ้า ทั้งจากแบรนด์เล็กๆ เอง สตูดิโอ หรือตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งการฝากเผานั้นควรเลือกให้ใกล้กับแหล่งผลิตมากที่สุด เพื่อป้องกันการแตกเสียหายของชิ้นงานระหว่างการขนย้าย และควรสอบถามขนาดของเตาด้วย เพื่อคำนวณชิ้นงานที่สามารถนำไปเผาแต่ละครั้งโดยค่าบริการที่ลงประกาศอยู่ตามหน้าเว็บไซต์ต่างๆ จะคิดอยู่ที่ราวอุณหภูมิละ 1 บาท
               

     เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการเผา ก็จะได้ชิ้นงานที่สมบูรณ์ออกมา สามารถนำมาใช้งานได้ แต่ยังคงมีเทคนิคและรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมากมายสำหรับการทำเซรามิก ถ้าชำนาญการแล้วสามารถศึกษา ทดลองทำดูได้ด้วยตนเอง
 




ขายยังไงดี
               

     เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการเผาแล้ว ก็จะได้ชิ้นงานที่สมบูรณ์ออกมา ซึ่งขั้นตอนต่อไปหลังจากสามารถผลิตชิ้นงานเซรามิกออกมาได้แล้วคือ จะขายยังไงดี ขายที่ไหน เนื่องจากเป็นงานแฮนด์เมด การคิดราคาชิ้นงานเซรามิกแต่ละชิ้นจึงมีปัจจัยหลายอย่างแตกต่างกันไป เริ่มตั้งแต่ระยะเวลาในการทำ เทคนิคความยากง่ายที่ใช้ ไปจนถึงต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ ดังนั้น ชิ้นงานเซรามิกชิ้นเล็กๆ อาจมีมูลค่าสูงกว่าชิ้นงานเซรามิกขนาดใหญ่ก็ได้ ซึ่งอาจพอสรุปออกมาเป็นสูตรคำนวณได้ดังนี้ ต้นทุนวัตถุดิบ + ต้นทุนเวลา + ค่าฝีมือ 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน