Text : ขวัญดวง แซ่เตีย
Photo : กฤษฎา ศิลปไชย
Photo : กฤษฎา ศิลปไชย
ด้วยปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นของโลกโซเชียลในวันนี้ ทำให้การเริ่มต้นธุรกิจไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ไอเดียดีก็สร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นได้เพียงชั่วพริบตา กระนั้นไอเดียอย่างเดียวไม่อาจทำให้ธุรกิจเติบโตได้ หากขาดประสบการณ์ และความมุ่งมั่นต่อเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ดังเช่นเรื่องราวของ ปู - สุภัทรา ดวงงา เจ้าของแบรนด์ชาบูอินดี้ กว่าจะมาถึงวันที่มีมากกว่า 170 สาขาทั่วประเทศ และสร้างรายได้กว่าร้อยล้านบาท เธอล้มลุกคลุกคลานมานับครั้งไม่ถ้วน ทว่าความล้มเหลว คือบทเรียนที่ทำให้ได้เติบโตบนเส้นทางสายธุรกิจที่เธอเลือกเอง
ก่อนหน้านี้สุภัทราเคยล้มเหลวจากการเป็นหุ้นส่วนบริหารร้านเหล้ามาก่อน ทำให้รู้ว่าการที่ต้องพึ่งเชฟฝีมือดี เป็นจุดอ่อนของการทำธุรกิจร้านอาหาร เธอจึงเลือกที่จะเปิดร้านชาบู ซึ่งนอกจากจะเป็นเมนูโปรดของตัวเองแล้ว หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจอยู่ที่น้ำจิ้ม และน้ำซุป ซึ่งเธอเชื่อว่าเพียงแค่ใช้เวลาช่วงแรกพัฒนาสูตรให้มีรสชาติอร่อยถูกปากลูกค้าได้ ธุรกิจก็เติบโตได้ง่ายๆ ทว่าในความเป็นจริงแล้ว แม้ชาบูอินดี้จะมีน้ำจิ้มสูตรเด็ด แต่ยอดขายในช่วงแรก ก็ยังไม่เพียงพอหมุนจ่ายให้ธุรกิจไปต่อได้อย่างคล่องตัว นั่นเองที่ทำให้สุภัทรารู้ว่าอร่อยอย่างเดียว ยังไม่ใช่คำตอบ
“ช่วงแรกที่ขาย สมัยนั้นหมูกะทะแค่ 119 บาท เราก็ไม่กล้าขายแพง เพราะกลัวคนไม่เข้ามากิน ก็เลยตั้งราคา 99 บาท และใช้ของต้นทุนต่ำ อาหารก็เลยได้แค่อร่อย แต่ไม่ประทับใจ คราวนี้เราปรับจุดยืนใหม่ เลือกที่อร่อยในราคาที่เราพออยู่ได้ดีกว่า ก็ปรับราคาขึ้น และเลือกวัตถุดิบที่ดีขึ้นมาหน่อย ปรับรูปแบบการเสิร์ฟใหม่ เดิมจะจัดถาดเล็กเรียงซ้อนกันเป็นคอนโด ก็เปลี่ยนมาจัดใส่จานใหญ่เป็นชุด คัดเอาแต่วัตถุดิบคุณภาพมาจัดใส่จานให้สวยและดูดี ก็เกิดมูลค่าทางสายตา เป็นช่วงจังหวะเดียวกับตอนนั้นคนเริ่มเล่นเฟซบุ๊ค ก็ถ่ายรูปไปแชร์กัน แชร์กันมากๆ เข้าคนก็เริ่มแห่กันมาเยอะขึ้น ยอดขายก็เริ่มขยับจาก 3,000 บาท เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนอยู่ระดับ 50,000 – 60,000 บาทต่อวัน”
ความสำเร็จจากชาบูอินดี้ร้านแรก สุภัทราขยายต่อไปร้านที่ 2 ที่พิษณุโลก คราวนี้เธอขยับราคาขึ้นมาแตะ 300 บาท พร้อมกับนำเตาปิ้งย่างมาเป็นทางเลือก และเพิ่มของกินเล่นเข้าไปในเซตที่เสิร์ฟให้ลูกค้า ทว่าไม่ตอบโจทย์คนพิษณุโลกซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้ไม่ถึงหมื่น ที่สุดจึงต้องปรับราคาลง ยกเตาปิ้งย่างออก และตัดเมนูกินเล่นที่เป็นต้นทุนออกทั้งหมด แล้วกลับมาจุดยืนเดิมที่ทำให้โคราชประสบความสำเร็จ บทเรียนครั้งนี้ ทำให้สุภัทราเริ่มจับทางถูกสำหรับสูตรสำเร็จชาบูอินดี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีคนสนใจอยากขอซื้อสูตรไปเปิดร้านของตัวเองบ้าง นี่จึงเป็นที่มาของการพัฒนาธุรกิจสู่แฟรนไชส์
“ช่วงแรกยังไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจแฟรนไชส์ ก็หาข้อมูลเอาจากกูเกิ้ล แล้วขายอารมณ์เหมือนขายสูตร แล้วไปช่วยเขาเปิดร้านในราคา 150,000 บาท และไม่เอาอะไรอีกเลย ลงทุนทำโรงงานน้ำจิ้มเล็กๆ ของตัวเอง ส่งของให้ลูกค้า แล้วลุยขายแฟรนไชส์อย่างเดียวเลยทีนี้ เพราะเรารู้แล้วว่าธุรกิจเราขายได้ จนตอนหลังเริ่มกวนน้ำจิ้มไม่ทันส่งลูกค้า เลยเอาสูตรไปให้โรงงานช่วยผลิตให้ ส่วนตัวเราเองก็เดินหน้าขายแฟรนไชส์ต่อ ซึ่งขายดีมาก ปีเดียวเราขยายได้กว่า 40 สาขา แต่ยิ่งขายกลับยิ่งจน”
สาเหตุก็เพราะการเดินหน้าขายแฟรนไชส์โดยไม่สนใจการพัฒนาระบบหลังบ้าน ทำให้แม้ตัวเลขยอดขายจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากลูกค้าได้ ทำให้ไม่มีเงินสดหมุนเวียนเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ปัญหาที่เกิดขึ้นสะกิดให้สุภัทราหันมาใส่ใจกับการสร้างระบบ และการสร้างแบรนด์ไปพร้อมกัน เธอปรับรูปแบบร้านใหม่ทั้งหมด โดยกำหนดรูปลักษณ์ อุปกรณ์ ป้ายหน้าร้าน ชื่อโลโก้ และการแตกแต่ง เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับแบรนด์ชาบูอินดี้ นำเอาระบบบัญชี ระบบการบริหารจัดการมาลง และหาระบบขายหน้าร้านมาให้ลูกค้าแฟรนไชส์ใช้ แล้วก็ปรับราคาใหม่มาเป็น 500,000 บาท และกำหนดอายุสัญญา 5 ปี ครบกำหนดแล้วต้องต่อใหม่
การปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ครั้งนี้ ทำให้ชาบูอินดี้เติบโตแบบก้าวกระโดด จนปัจจุบันมีกว่า 170 สาขาทั่วประเทศ โดยทั้งหมดเปิดเป็นสแตนอโลน ไม่มีสาขาในห้าง และส่วนใหญ่เปิดในต่างจังหวัด ชื่อของชาบูอินดี้จึงเป็นที่รู้จักของคนต่างจังหวัดมากกว่าคนกรุงเทพฯ จนได้ชื่อว่าเป็นชาบูท้องถิ่น ซึ่งสุภัทราบอกว่าตั้งแต่เริ่มธุรกิจมา เธอไม่เคยซื้อสื่อโฆษณาเลย จะมีก็แต่เพจเฟซบุ๊ค และเว็บไซต์ที่ใช้สื่อสารกับลูกค้า เรียกได้ว่า ชาบูอินดี้เกิดมาจากปากต่อปากโดยแท้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี