แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีฐานในด้านการผลิตและส่งออกอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพแห่งหนึ่งของภูมิอาเซียน แต่ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก เนื่องจากการผลิต เครื่องมือแพทย์ของไทยยังเป็นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงนักและเป็นเครื่องมือประเภทใช้แล้วทิ้ง เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย หลอดฉีดยา แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยกลับนำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ เครื่องเอ็กซเรย์ เครื่องวินิจฉัยโรค จากต่างประเทศมากกว่าครึ่งของยอดขายเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตเองในประเทศทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงได้ร่วมกับ บริษัท เมดิอาน่า ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ของเกาหลีใต้มาช่วยพัฒนาเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ พร้อมด้วยอุปกรณ์การแพทย์ทันสมัยอื่นๆ ที่ไทยยังไม่สามารถผลิตเองได้
ทั้งนี้ นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าสำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ดึง บริษัท เมดิอาน่า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ของเกาหลีใต้ พร้อมด้วยทีมนักวิจัยของวิศวกรรม ภาควิชาชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล มาร่วมวิจัยและพัฒนา เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (เครื่อง AED) อุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีสภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งสภาวะดังกล่าวนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตสูงสุดอันดับที่ 3 รองจากมะเร็งและอุบัติเหตุและคร่าชีวิตคนไทยมากถึง 54,000 คนต่อปี และด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต อุปกรณ์ดังกล่าวจึงจำเป็นที่จะต้องติดตั้งในทุกอาคารและสถานที่ ทั้งยังจะต้องผลักดันให้สามารถผลิต วิจัย และพัฒนาได้โดยนักนวัตกรรมและผู้ผลิตในประเทศไทย เพื่อลดหรือทดแทนการนำเข้าให้น้อยลงกว่าปัจจุบันซึ่งมีราคาอยู่ที่ประมาณ 90,000 บาท ตลอดจนผลักดันให้สามารถนำงานวิจัยนี้เข้าสู่บัญชีนวัตกรรมไทย
นอกจากนี้ การดำเนินงานความร่วมมือระหว่างไทยและเกาหลียังจะให้การสนับสนุนแนวทางการสร้าง และขยายธุรกิจ SMEs สู่เวทีระดับโลก พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือมุมมองและดำเนินกิจกรรมที่จะอำนวยความสะดวกงานวิจัยผลิตภัณฑ์เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยหลังจากได้รับความช่วยเหลือจากทีมนักวิจัยของเกาหลีใต้แล้ว กสอ.ยังได้ตั้งเป้าที่จะสร้างความร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้มีการประสานการเชื่อมโยงไปยังผู้ผลิตของไทยรายอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการนำองค์ความรู้และ เทคนิคต่าง ๆ มาผลิตใช้ได้เองในประเทศภายในปี 2561 ทั้งนี้ หากได้การตอบรับจากผู้ประกอบการไทยในทิศทางที่ดี ตามเป้าหมายคาดว่าอีกภายใน 5 ปี น่าจะสามารถผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 เครื่อง ซึ่งช่วยลดการเสียดุลการค้าได้ถึง 9,000 ล้านบาท นายกอบชัย กล่าวปิดท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี