​O&B กับเส้นทางธุรกิจที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

  Text : กองบรรณาธิการ



     
          
     รองเท้าส้นแบน หลากสี คือ ความต่างที่ รรินทร์ ทองมา นำมาใช้สร้าง O&B ให้กลายเป็นแบรนด์ดังบนโลกออนไลน์ ความที่ชอบรองเท้าแนวนี้มาแต่ไหนแต่ไร และมักซื้อเก็บสะสมไว้ตั้งแต่ยี่ห้อดังราคาแพง ไปจนถึงโนเนมราคาร้อยกว่าบาท ทำให้รู้ลึกรู้จริงเกี่ยวกับตัวสินค้า เมื่อนำมาบวกกับความช่างสังเกตมองเห็นว่าผู้หญิงไทยส่วนใหญชอบใส่รองเท้าส้นแบนลุยงาน จึงทำให้การตลาดของ O&B ชัดเจนชนิดที่เรียกว่าปูทางสู่ความสำเร็จ


     กระนั้น การตลาดเพียงอย่างเดียวยังไม่ใช่คำตอบในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เพราะยังมีปัจจัยอีกมากหลาย ดังนั้นแม้สินค้าจะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่ได้สร้างผลกำไรให้กับผู้เป็นเจ้าของเลย
 

     ด้วยความที่จบมาทางด้านดีไซน์ มีความรู้เรื่องแฟชั่น ทำสินค้าออกมาแล้วมีคนชอบและขายของได้ ทำให้เธอสนุกกับการขายจนหลงลืมไปว่างานด้านการบริหารการเงินก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
 

     เพียงปีแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ เงินหลักแสนหมุนเวียนเข้ามาในบัญชีทุกวัน พร้อมกับยอดออร์เดอร์ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นั่นทำให้รรินทร์เชื่อว่าธุรกิจของเธอกำลังไปได้สวย กระทั่งสิ้นปีมาสรุปยอดบัญชี เงินเหลือเพียงแค่ 4,000 บาท เธอถึงได้รู้ตัวว่าความเหนื่อยยากที่ทุ่มเทมาตลอดทั้งปีไม่มีค่าอะไรเลย
 

     ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ แม้จะขายดีแต่เธอขายได้น้อยไป ทำให้ไม่คุ้มกับต้นทุนที่เกิดขึ้น
    
   
   
     
     เมื่อรู้ว่าปัญหามาจากต้นทุน เธอตัดสินใจเพิ่มทุน เพิ่มสต๊อกสินค้า ซึ่งไม่เพียงทำให้ต้นทุนถูกลง แต่ยังทำให้เธอมีอำนาจในการต่อรองกับโรงงานได้มากขึ้น ขณะที่ต้นทุนคงที่ต่างๆ ก็ถูกลง ที่สำคัญคือ เธอถือโอกาสเพิ่มรองเท้าสีสรรต่างๆ กว่า 50 เฉดสี ในแต่ละแบบ ทำให้ O&B มี Signature ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นจุดขายที่ทำให้รองเท้าติดตลาดมาจนถึงทุกวันนี้ รรินทร์บอกว่าสีที่เลือกมาทั้งหมด เธอจะลองกับผิวคนไทยก่อนเพื่อให้เข้ากับการแต่งตัวของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นเคล็ดลับที่ทำให้รองเท้าทรงเรียบหรูหลากสีของ O&B ได้รับความนิยม
 

     เพียงแค่เปลี่ยนความคิด จากสิ่งที่มองว่าเป็นไปไม่ได้ แล้วทำให้เป็นไปได้ ธุรกิจของรรินทร์ก็ก้าวข้ามอุปสรรคและเดินหน้าต่อไปยังเป้าหมายใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม นั่นคือยกระดับเป็นร้านแอสเซสเซอรี่ออนไลน์ที่จะโตไปเป็น Zara of Asia สาวเจ้าของแบรนด์ O&B บอกว่าเมืองไทยมีทั้งโรงงาน และดีไซเนอร์เก่งๆ  แถมข้อดีของการขายของออนไลน์ คือสามารถยิงโฆษณาตรงไปต่างประเทศได้เลย จึงเป็นโอกาสที่ O&B จะไปเติบโตในต่างแดนได้ในอนาคต โดยก่อนหน้านี้เธอมีส่งสินค้าไปชิมลางที่ตลาดเพื่อนบ้านหลายแห่ง อาทิ ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า สิงคโปร์ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้มีกำลังใจในการขยายงานต่อ โดยวางแผนสำรวจตลาดประเทศต่างๆ เพื่อหาแนวทางการทำตลาดให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ และล่าสุดกำลังอยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ชาวดูไบ
 

     รรินทร์มองว่าการค้าขายบนโลกออนไลน์ในปัจจุบันยังมีมูลค่าไม่มากนัก แทบเรียกได้ว่าเป็นแค่เศษเสี้ยวของตลาดทั้งหมดด้วยซ้ำ ในอนาคตทุกอย่างจะมาอยู่บนโลกออนไลน์ การค้าขายไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ซึ่งการไม่มีหน้าร้านทำให้ผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์เต็มๆ เพราะไม่มีต้นทุนให้ต้องมาเพิ่มราคาสินค้า ลูกค้าซื้อของคุณภาพเท่าเดิมในราคาถูกลง
 

     จากวันเริ่มต้นด้วยเงินเพียง 90,000 บาท วันนี้ O&B มีตัวเลขยอดขายหลักล้าน แต่ละวันมีข้อความไลน์เข้ามาสอบถามถึงสินค้ากว่า 500 ข้อความ และเคยพีคสุดถึงกว่า 3,000 ข้อความในช่วงจัดโปรโมชั่น ความสำเร็จอย่างงดงามในวันนี้ รรินทร์บอกว่าจะมีขึ้นไม่ได้เลยหากเธอไม่ก้าวผ่านความยากลำบากในวันแรกของการเริ่มต้น
 

     ปัจจุบันนอกจากกระเป๋า รองเท้าแล้ว รรินทร์เริ่มผลิตเสื้อผ้าออกมาวางขายภายใต้ชื่อแบรนด์ O&B เช่นกัน เธอบอกว่าตั้งใจจะให้มีสินค้าครบวงจร เพื่อเตรียมเติบโตไปเป็นแบรนด์ระดับโลก โดยเธอเชื่อว่าหากทำสำเร็จ O&B จะไม่ใช่ความภาคภูมิใจของเธอคนเดียว แต่จะเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี




 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน