Text : กองบรรณาธิการ
จากน้ำสลัดขายดีแบรนด์ดังเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพ ที่ยินดีควักเงินจ่ายขอแค่ให้ได้ของที่ดีจริง ลลิตา เลิศรัตนชัยกิจ ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์ เดอ ลา ลิต้า สบโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ขนมอบกรอบโฮลวีต ด้วยความบังเอิญ ทว่าความบังเอิญนี้กลับกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ทำให้สินค้าใหม่ของเธอไม่เพียงเสริมน้ำสลัดให้ขายดี แต่ยอดขายขนมอบกรอบโฮลวีตชื่อแบรนด์เดียวกันก็มียอดขายไม่แพ้กัน และยังแซงหน้าไปบ้างด้วยซ้ำในบางจังหวะของการขาย
ลลิตาเล่าว่าเดิมทีเธอเป็นเจ้าของร้านอาหารเพื่อสุขภาพสไตล์อิตาเลียน โดยมีจุดขายตรงที่มีแปลงปลูกผักไฮโดรโปนิกส์เป็นฉากเบื้องหลัง ลูกค้าที่มากินที่ร้านมั่นใจได้ในความสด สะอาด และปลอดสารพิษ เมนูที่ขึ้นชื่อของเธอคือ สารพัดสลัดที่มีน้ำสลัดปรุงสดรสดีจากวัตถุดิบแท้ ซึ่งมีรสชาติอร่อยถูกปากลูกค้าจนถูกขอซื้อบ่อยครั้ง กระทั่งเธอทำใส่กระปุกขายเป็นกิจลักษณะ แต่ในช่วงแรกยังเป็นการวางขายภายในร้าน ซึ่งก็ขายดีมากจนเพื่อนๆ ยุให้ผลิตออกมาสร้างแบรนด์ และทำตลาดอย่างจริงๆ จังๆ
“ตอนแรกเราผลิตใส่ขวดทำแพ็กเกจจิ้งง่ายๆ ขายในร้านก่อน ปรากฏว่าใครมาก็ต้องขนซื้อกลับไปทีครั้งละมากๆ ช่วงก่อนหน้าที่เราจะเอาไปขายในห้าง มีคนให้แมสเซ็นเจอร์มาขนทีครั้งละ 20-30 ขวด เพราะถ้าใครอยากกินต้องมาซื้อที่นี่ที่เดียว แล้วตอนนั้นเวลาเราไปที่ไหนก็จะเอาติดมือไปแจกให้เพื่อนๆ กินด้วย หลายคนได้กินแล้วก็บอกว่ารสชาติดี อร่อย ทำไมไม่สร้างแบรนด์ และทำขายจริงๆ จังๆ เราก็เลยใส่ชื่อทำแพ็กเกจจิ้งขึ้นมา จนตอนหลังห้างมาติดต่อเรา แต่เราเลือกลงเฉพาะห้างที่มีคอนเซ็ปต์เป็นร้านเพื่อสุขภาพ”
ในการโปรโมทน้ำสลัดแบรนด์ เดอ ลา ลิต้า ลลิตาใช้วิธีออกบูธเชิญชวนให้ลูกค้าลองชิม ณ จุดขาย โดยเธอเอาผักสดปลอดสารพิษในแปลงปลูกของตัวเองมาให้ลูกค้าดิปกินกับน้ำสลัด แต่ปรากฏว่าผักที่เตรียมมามักประสบปัญหาเหี่ยวเฉาง่าย นั่นจึงเป็นที่มาของโอกาสธุรกิจสำหรับสินค้าตัวใหม่ของเธอ
“เริ่มมาจากมีซีพีรายหนึ่งขายดีกว่าคนอื่น เราก็แอบดูว่าเขาขายวิธีไหน ก็ไปเห็นว่าเด็กคนนี้ไม่ได้ยืนขายที่บูธ แต่ไปยืนขายตรงเชลฟ์วางขายขนม แล้วซื้อขนมมาให้ลูกค้าดิปชิมกับน้ำสลัดของเรา กลายเป็นว่าขนมก็ขายได้ น้ำสลัดของเราก็ขายได้เยอะขึ้น เราก็เลยนำเข้าขนมแผ่นอบกรอบมาจากเมืองนอก ตั้งใจเอามาไว้ให้ลูกค้าดิปชิมกับน้ำสลัดของเรา แล้วก็วางขายด้วยไปในตัว ปรากฏว่าขนมอบกรอบขายดีมาก จนยอดขายแซงน้ำสลัดของเราอีก เวลาคนมาซื้อเขาจะซื้อขนมอบกรอบคู่กับน้ำสลัดของเราไป แต่จะซื้อขนมเยอะกว่า เราก็เอาเรื่องนี้ไปเล่าในกลุ่มเพื่อนที่อบรมด้านธุรกิจด้วยกัน พอดีมีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่าเขาทำขนมอบกรอบลักษณะนี้ได้ เพราะบ้านเขาเป็นโรงงานผลิตขนมอบกรอบอยู่แล้ว ก็เลยเป็นโอกาสให้เราได้ผลิตขนมอบกรอบมาเป็นสินค้าตัวใหม่ของเรา ซึ่งปัจจุบันมียอดขายแซงหน้าน้ำสลัดไปแล้ว”
ลลิตาตั้งชื่อแบรนด์ขนมอบกรอบของเธอว่า เดอ ลา ลิต้า ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับน้ำสลัดของเธอ เพราะตั้งใจที่จะขายคู่กัน ภายใต้คอนเซปต์ขนมดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งตอบโจทย์คนในยุคนี้ที่เติบโตมาพร้อมกับการรับรู้ว่าขนมถุงกินแล้วไม่ดีต่อสุขภาพ
“ยุคนี้ใครๆ ก็ชอบพูดว่าขนมถุงไม่ดี กินแล้วอ้วน ไม่มีประโยชน์ ไม่ดีต่อสุขภาพ แต่บางทีงานยุ่งๆ รถติดๆ เราก็อยากมีของกินติดรถไว้บ้าง แล้วการกินขนมกินเล่นก็เป็นวิถีการกินแบบอาเซียนด้วย ยิ่งผู้หญิงนี่ขาดไม่ได้เลย แล้วตอนที่ออกแบบขนมตัวนี้ เราคิดบนพื้นฐานที่ว่าทำยังไงก็ได้ให้ดิปกินกับน้ำสลัดแล้วอร่อย เพราะตอนนั้นน้ำสลัดของเราขายดีอยู่แล้ว ก็เลยทำรสธรรมชาติ ออกจืดๆ หน่อย แต่คนกินแล้วรู้สึกดีเพราะไม่มีอะไรปรุงแต่ง ก็เลยตอบโจทย์คนรักสุขภาพที่ยังอยากมีขนมกินเล่นให้ได้กินอยู่บ้าง ทำให้ขายดี และกลายเป็นสินค้าสร้างยอดขายให้กับธุรกิจของเราในตอนนี้”
จากวันนั้น จนถึงวันนี้ ปัจจุบัน ขนมอบกรอบ เดอ ลา ลิต้า ได้พัฒนารสชาติเพิ่มขึ้น จนมี 3 รสชาติ ได้แก่ รสออริจินัล รสซาวครีมและหัวหอม และรสสโมคกี้บาร์บีคิว โดยวางจำหน่ายในร้านอาหารสุขภาพ ร้านกาแฟ และซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เช่น Tops Market, Gourmet Market, Home Fresh Mart และโมเดิร์นเทรดทั่วไป นอกจากนี้ยังมีแผนจะไปตีตลาดในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์อีกด้วย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย
เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน