SHIPPOP เชื่อมต่อทุกการขนส่งยุคดิจิทัล

Text : พิชชานันท์ สุโกมล
Photo : กฤษฎา ศิลปไชย


            ความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัล ใครเร็วใครได้ ใครช้าต้องตามให้ทัน เห็นจะเป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะในโลกธุรกิจที่ต้องแข่งขันกันเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด ธุรกิจขนส่งจึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ดังนั้น เราจึงเห็นผู้ประกอบการหลายๆ รายที่กระโดดลงมาเล่นเรื่องการขนส่งโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน เกิดเป็นแอพพลิเคชันต่างๆ ออกมาให้บริการจนเลือกไม่ถูกว่าจะใช้เจ้าไหนดี กลายเป็นตลาด Red Ocean ที่ต่างคนต่างเหนื่อย ต่างคนต่างทำในสิ่งที่คาดว่าลูกค้าของตนจะต้องการ ซึ่งต่างไปจาก SHIPPOP ของ สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ ที่ค่อยๆ ก้าวขาเข้ามา แล้วรวมทุกการขนส่งมาไว้บน Platform ของตัวเอง สร้างนิยามการขนส่งให้เป็นเรื่องง่าย ผ่านระบบการจองที่ไม่ต่างกับการจองโรงแรม

               



     “เราทำให้การขนส่งมาอยู่ในแพลตฟอร์มของเรา และเปรียบเทียบราคาให้ พอเปรียบเทียบราคาเสร็จ เขาสามารถจองขนส่งเหล่านี้ผ่านแอพพลิเคชัน ผ่านเว็บไซต์ของเราได้เลย จ่ายเงินผ่านระบบเราได้เลย รวมทั้งสามารถติดตามทุกสิ่งทุกอย่างทุกสถานะผ่านระบบเราระบบเดียว คล้ายๆ Agoda ที่รวมเรื่องราคาที่พักโรงแรม แต่ของเราเป็นขนส่ง ฉะนั้นคอนเซปต์ของเราก็คือ ทำให้เรื่องการจองขนส่งเป็นเรื่องง่ายๆ เหมือนจองโรงแรม
               

     ...พอเราทำมาได้สักพัก เราจะเห็นว่าการขายของบน e-Commerce ยังมีอีกหลายๆ Platform ไม่ได้มีแค่คนขายของผ่าน Facebook ผ่าน Line ผมเลยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ขายสินค้าด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์สำเร็จรูป เช่น Lnwshop ขายผ่าน Facebook ผ่าน Line ลูกค้ากลุ่มนี้ผมให้เขาใช้บริการผ่านเว็บไซต์ Shippop.com ได้เลย โดยแค่กรอกข้อมูลแล้วก็ระบุว่าจะส่งอะไร กลุ่มที่สองคือ การฝากขาย เช่น การขายของผ่าน Lazada หรือ Platform ต่างๆ ซึ่งส่วนนี้ผมได้พัฒนาระบบ API ขึ้นมาอย่างเต็มตัว ซึ่ง API ตัวนี้จะไปอยู่หลังบ้านของทุกคน คือหลังบ้านของ Market Place Platform เช่น เวลามีออร์เดอร์มาปั๊บ แทนที่เขาจะต้องเข้าเว็บ Shippop.com เพื่อมากรอกข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง แต่ตอนนี้ไม่ต้องแล้ว เขาแค่กดคลิกเดียว ก็สามารถใช้งาน Shippop.com ผ่านเว็บไซต์ของ Market Place Platform นั้นๆ ได้เลย ซึ่งสะดวกมาก” สุทธิเกียรติอธิบายภาพกว้างของ SHIPPOP
               .




     โดยหลักการแล้ว เราจะเห็นว่า SHIPPOP เข้ามาตอบโจทย์ในเรื่องการขนส่งทั้งฝ่ายผู้ประกอบการขนส่งและฝ่ายผู้ประกอบการสินค้า ซึ่งรายละเอียดปลีกย่อยนั้นยังครอบคลุมไปถึงการให้บริการรับ-ส่งสินค้าและพัสดุสำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการส่งของเพียงแค่ชิ้นเดียวอีกด้วย สาเหตุที่ทำแบบนี้ได้เพราะ SHIPPOP ร่วมมือกับพันธมิตรภาคขนส่งทั่วประเทศที่มีความชำนาญในแต่ละพื้นที่มาเป็นสะพานเชื่อมต่อเพื่อไปให้ถึงมือผู้รับปลายทางนั่นเอง


     พันธมิตรของ SHIPPOP ในปัจจุบันคือ ไปรษณีย์ไทย NIKO’s LOGISTICS, Alphafast, SKOOTAR และอีกหลายๆ ราย ทั้งนี้ สุทธิเกียรติยังตั้งเป้าในการเชื่อมต่อบริษัทขนส่งให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 5 ราย รวมไปถึงขนส่งโนเนม ด้วยเหตุผลว่า ยังมีบริษัทขนส่งอีกหลายๆ แห่งที่ไม่มีชื่อเสียงแต่เก่งเส้นทางในพื้นที่ท้องถิ่น ทำให้เข้าถึงง่าย และครอบคลุมทุกพื้นที่ ตลอดจนการได้กูรูด้าน e-Commerce อย่าง ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ มาเป็นหุ้นส่วนด้วยแล้ว ยิ่งตอกย้ำให้ SHIPPOP มีภาพที่สตรองในเรื่อง Online Logistic Booking เบอร์หนึ่งของเมืองไทยได้ไม่ยาก
 


               
     “ผมมองธุรกิจขนส่งว่าน่าจะไปได้อีกไกล เพราะปัจจุบัน e-Commerce ค่อยๆ โตขึ้น คนค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาจับจ่ายบน e-Commerce มากขึ้น ก็จะทำให้มีการขนส่งเพิ่มขึ้นคู่ขนานกันไป สิ่งที่เราวางแผนไว้ในอนาคตก็คือเรื่องเก็บเงินปลายทาง เป็นสิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าขอกันมาเยอะมาก แต่สิ่งที่เราเป็นห่วงแทนก็คือ วันนี้ลูกค้าอาจจะอยากได้ของ แต่พรุ่งนี้ลูกค้าไม่อยากได้ของแล้ว ทำให้มีต้นทุนในการจัดส่งสินค้า แต่ถึงอย่างไร การเก็บเงินปลายทางเป็นเรื่องดีมาก เพราะพฤติกรรมคนไทยถ้ามีการเก็บเงินปลายทางเมื่อไหร่ ยอดขายจะเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ทันที รวมถึงการส่งของไปต่างประเทศที่อนาคตเราต้องทำให้ได้”


     จุดเด่นของ SHIPPOP คือระบบการจองขนส่งที่ง่าย สะดวก ประหยัดเวลา และลดต้นทุนได้มาก ซึ่งหลายคนอาจมีคำถามว่า หากต้องใช้บริการ SHIPPOP จะต้องเสียค่าบริการเท่าไหร่ คำตอบคือ SHIPPOP ให้บริการทุกอย่างฟรีหมด และในทุกๆ เดือน SHIPPOP จะมีการทำโปรโมชันกับพันธมิตรเพื่อให้ลูกค้าได้ใช้บริการขนส่งฟรีอีกด้วย
               

    เราไม่มีค่าบริการใดๆ ในการใช้แอพฯ SHIPPOP ทุกคนเข้ามาใช้ได้ฟรี สิ่งที่คุณจะเสียก็คือค่าขนส่งที่มีต่อบริษัทขนส่งที่คุณเลือก เช่น ค่าขนส่ง 40 บาท คุณก็เสียแค่ 40 บาท ซึ่งตรงนี้เป็น Business Model ของเราคือ เราจะไปขอส่วนลดจากบริษัทขนส่งต่างๆ พอเรามีการใช้บริการจำนวนมากขึ้นขนส่งก็จะมีส่วนลดให้เรามากขึ้น และผมมองว่าสำหรับ SME นั้น SHIPPOP จะสามารถตอบโจทย์ในเรื่องของการลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีรายชื่อบริษัทขนส่งมารวมไว้ในที่เดียวให้ได้เปรียบเทียบราคา การบริการ ซึ่งแต่ละขนส่งก็มีจุดเด่นต่างกันไป ซึ่งนอกจากเรื่องการลดต้นทุนแล้ว การที่ SME ต้องส่งของคราวละมากๆ บางครั้งก็จำไม่ได้ว่ามีหมายเลขอะไรบ้าง ของถึงหรือยัง แต่ระบบของ SHIPPOP สามารถเช็กได้ทันทีว่า ของถึงปลายทางหรือยัง สภาพเป็นอย่างไร สมมุติวันนี้คุณส่งของไป 100 ชิ้น 7 วันถัดมาลูกค้าเข้ามาสอบถามหมายเลข Tracking ถ้าเกิด SME จดด้วยกระดาษหรือโน้ตไว้ที่ไหนสักแห่ง ก็จะต้องหานานมาก แต่พอทุกอย่างมาอยู่ในระบบ SME เพียงพิมพ์ชื่อลูกค้าก็สามารถตรวจสอบได้เลย”
              

    สิ่งที่ทำให้ SHIPPOP มีความน่าสนใจก็คือ การเป็นคนแรกหรือธุรกิจแรกที่ยังไม่มีใครทำขึ้นมาก่อน และหลีกเลี่ยงการทำอะไรที่คนอื่นเขาทำกัน ซึ่งในตลาดเรื่องการขนส่งก็จะมีบริษัทที่ให้บริการอยู่จำนวนมาก ทุกรายต่างแข่งขันเพื่อให้ได้ลูกค้ามากที่สุด สุทธิเกียรติมองเห็นจุดนี้ดี จึงทำให้เขาหันมาจับมือกับทุกคน เป็นการทำงานน้อยลง แต่ได้ประโยชน์มากนั่นเอง


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน