ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดทำการสำรวจพฤติกรรมคนกรุงเทพฯ เดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2560 พบว่า คนกรุงเทพฯ มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.4 ของจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวอันดับ 1 ยังคงเป็น จ.เชียงใหม่ขณะที่รองลงมา คือ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงราย และภูเก็ต
การท่องเที่ยวยุค 4.0 สื่อออนไลน์ที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างมากที่สุด คือ Facebook เป็นช่องทางที่ทำให้นักท่องเที่ยวไทยรับรู้ข่าวสารข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ รวมถึงเป็นช่องทางที่นักท่องเที่ยวนิยมที่จะแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวมากที่สุด
จากเทคโนโลยีสื่อสารที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไทยในยุคนี้ ทำให้วิถีการทำตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวต้องปรับกลยุทธ์ตามด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น QR code ด้วยการเชื่อมต่อกับคลิปวิดีโอ หรือเว็บไซต์ของผู้ประกอบการธุรกิจ หรือการนำเทคโนโลยี Augmented Reality หรือ AR เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ความตื่นเต้น เร้าใจในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการหรือซื้อสินค้าในสถานที่ของตน นอกจากนี้ ช่องทางการทำตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีงบประมาณจำกัดสามารถเข้ามาทำตลาดได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังเปิดเผยถึงผลการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวและการใช้จ่ายระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนกรุงเทพฯ โดยพบว่า
ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 คนกรุงเทพฯ ที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 ครั้ง (ทริป) โดยมีจำนวนวันพักค้างเฉลี่ยต่อทริป 2 คืน และเดินทางท่องเที่ยวเฉลี่ยประมาณทริปละ 4 คน
การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 55.1 เดินทางโดยรถส่วนตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเดินทางระยะใกล้ เช่น ชลบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์และนครราชสีมา เป็นต้น ส่วนคนที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวระยะไกล จะมีการแวะเดินทางท่องเที่ยวระหว่างทางเช่นกัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31.6 เลือกโดยสารเครื่องบินและเช่ารถยนต์เมื่อเดินทางถึงเมืองท่องเที่ยว โดยจังหวัดที่เดินทางโดยสายการบินและเช่ารถยนต์เมื่อเดินทางถึงเมืองท่องเที่ยวมากที่สุด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ภูเก็ต และกระบี่ เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไทย มีการเช่ารถยนต์เพื่อขับท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะต้องเตรียมแผนรองรับเพื่อป้องกันปัญหารถเช่าขาดตลาดในเมืองท่องเที่ยวที่มีความต้องการสูงอย่างเชียงใหม่ ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวนี้
กลุ่มตัวอย่างจะมีการซื้อของฝากในพื้นที่ที่เดินทางท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 86.2 โดยสินค้าที่นิยมในการซื้อฝากส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประเภทของทาน เช่น อาหาร และขนม เป็นต้น สำหรับร้านค้าที่นักท่องเที่ยวเลือกซื้อของฝากส่วนใหญ่จะเลือกซื้อร้านขนมหรืออาหารมีรสชาติดี รองลงมา คือ ชื้อร้านที่มีชื่อเสียง เป็นต้น สำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนของการซื้อของฝากเฉลี่ยอยู่ประมาณ 930 บาทต่อคนต่อทริป
สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท้องถิ่นในเมืองท่องเที่ยวอาจจะหันมาใช้เครื่องมือการตลาดผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้เป็นประโยชน์มากขึ้นในการประชาสัมพันธ์สินค้าของชุมชน อาทิ การจัดสร้างกลุ่มบนเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง Facebook อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการต้องมีความระมัดระวังในการควบคุมคุณภาพของสินค้าและบริการ เนื่องจากหากเกิดข้อผิดพลาดเครือข่ายสังคมออนไลน์จะสามารถกระจายข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว
รูปแบบที่พักที่คนกรุงเทพฯ เลือกพักในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ พบว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะเลือกพักโรงแรมและรีสอร์ท นอกจากนี้ ยังเลือกที่พักในรูปแบบอื่นๆ เช่น พักโฮมสเตย์ ที่พักอุทยาน และเต็นท์ สำหรับการสำรองที่พัก ร้อยละ 60.0 ยังสำรองโดยตรงกับทางโรงแรม/ที่พัก ขณะที่ร้อยละ 40.0 สำรองผ่านออนไลน์แทรเวลเอเจนซี่ ทั้งนี้ การสำรองที่พักผ่านออนไลน์แทรเวลเอเจนซี่ เนื่องจากมองว่า ราคาน่าสนใจ มีโปรโมชั่นหลากหลาย และสะดวกในการจองผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ
ปัจจุบัน ช่องทางการทำตลาดธุรกิจโรงแรมและที่พักที่หลากหลายขึ้น ทั้งการทำตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook หรือ Instagram การเข้ามาของออนไลน์แทรเวลเอเจนซี่ (OTA) และธุรกิจ Airbnb ซึ่งช่องทางเหล่านี้ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเข้ามาทำตลาดได้ง่ายขึ้น อีกนัยหนึ่ง คือ เกิดการแข่งขันในธุรกิจโรงแรมและที่พักเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
ในส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 6,450 บาทต่อคนต่อทริป
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากผลสำรวจที่สะท้อนให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯ มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า กอปรกับบรรยากาศในประเทศ รวมถึงสภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยว น่าจะเป็นแรงบวกที่ดีต่อทิศทางการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 นี้ การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนกรุงเทพฯ น่าจะก่อให้เกิดรายได้แก่การท่องเที่ยวในประเทศเป็นมูลค่า 46,450 ล้านบาท หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี