The Basket ธุรกิจตะกร้าผักจากสวนถึงลูกค้า

Text / Photo : นิตยา สุเรียมมา


     จากการหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้นของผู้คนยุคปัจจุบัน บวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้ทุกวันนี้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ ผู้บริโภคหลายคนต่างหันมาเลือกรับประทานผักผลไม้และอาหารที่ปลอดภัยด้วยวิธีการผลิตแบบธรรมชาติมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย หนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจผักผลไม้ปลอดสารที่นอกจากจะเน้นการผลิตอย่างปลอดภัย ยังให้บริการส่งตรงถึงหน้าบ้านด้วย The Basket แบรนด์ผักผลไม้ปลอดสาร ที่มีสโลแกนว่า “ตะกร้าผักจากสวนของคุณ” คือ หนึ่งในตัวอย่างดังกล่าว


   
       
     The Basket คือ แบรนด์ผักผลไม้ปลอดสารน้องใหม่ ที่ให้บริการส่งตรงถึงบ้าน เกิดจากการรวมกลุ่มของเพื่อน 6 คน มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อสนับสนุนให้เกิดสังคมเกษตรอินทรีย์ที่มีผลดีทั้งต่อเกษตรกรผู้ปลูกและผู้บริโภค โดยคอยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางรับผักผลไม้จากสวน ไร่ นาเกษตรกรที่ปลูกด้วยวิธีอินทรีย์มากระจายจัดส่งให้กับผู้บริโภคที่สมัครเป็นสมาชิกตามพื้นที่ต่างๆ นับเป็นรูปแบบการทำงานของธุรกิจเพื่อสังคม ที่สร้างประโยชน์ให้กับหลายฝ่าย รวมถึงในแง่การดำเนินธุรกิจเองด้วย
               

      มนัส หามาลา หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งของ The Basket ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ได้เล่าถึงรายละเอียดการทำงานให้ฟังว่า ในแต่ละสัปดาห์เกษตรกรที่เข้าร่วมเป็นเครือข่าย จะส่งผักเข้ามายังศูนย์ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ จากนั้นทางแบรนด์จะทำการคัดแยกเพื่อจัดส่งให้เหล่าสมาชิกตามบ้านต่างๆ อาทิตย์ละหนึ่งวันตามชนิดและจำนวนที่สั่งไว้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

     1.ชุดเล็ก เหมาะสำหรับผู้บริโภค 1-2 คน สามารถเลือกผักผลไม้แต่ละชนิดได้ 8 หน่วยต่อสัปดาห์ ราคา 320 บาท
     
      2.ชุดกลาง สำหรับครอบครัวขนาด 2-4 คน สามารถเลือกได้ 12 หน่วยต่อสัปดาห์ ราคา 480 บาท

      3.ชุดใหญ่ สำหรับครอบครัว 5 คนขึ้นไป สามารถสั่งได้ 16 หน่วยต่อสัปดาห์ ราคา 640 บาท
    
      (ผักแต่ละชนิดจะมีการนำมาจัดเป็นหน่วยๆ ปริมาณแล้วแต่ราคาของพืชผลแต่ละชนิดในช่วงนั้น เช่น คะน้า 1 หน่วย = 300 กรัม เป็นต้น) โดยมีให้เลือกมากกว่า 30-40 รายการ 


      นอกจากผักผลไม้แล้ว ยังมีไข่ไก่และข้าวสารที่ปลอดสารพิษจากเพื่อนเครือข่ายด้วย โดยสมาชิกสามารถเปลี่ยนผักได้ในทุกๆ สัปดาห์ ผู้บริโภคที่สนใจสามารถเลือกสมัครเป็นสมาชิกรายเดือนได้ตั้งแต่ 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน ทั้งนี้ เพื่อไม่เป็นการจำกัดผู้บริโภคจนเกินไป ไม่อยากให้กินผักซ้ำๆ โดยผักผลไม้ที่นำมาจัดจำหน่ายของ The Basket เป็นพืชผลที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลส่งตรงมาจากกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายและผ่านการคัดเลือกประมาณ 3-4 กลุ่ม ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและราชบุรี
 




     ปัจจุบันนี้ The Basket มีสมาชิกประจำประมาณ 30-40 คน มีการจัดส่งประมาณ 10 โซนด้วยกันทั่วกรุงเทพฯ โดยนอกจากจัดส่งให้กับสมาชิกประจำแล้ว ยังมีการออกบู๊ธจำหน่ายตามตลาดนัดเพื่อสุขภาพ หรือการจัดกิจกรรมต่างๆ ด้วย เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและประชาสัมพันธ์แบรนด์ไปในตัว


     “การทำงานของเราเป็นลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป ต้องอาศัยการทำความเข้าใจทั้งเกษตรกรและตัวผู้บริโภคเอง เพราะบางครั้งผลผลิตที่บอกไว้ว่าจะได้เท่านี้ตามที่เขาสั่งมา แต่พอถึงเวลาจริงอาจเกิดเหตุเฉพาะหน้าบางอย่าง เช่น อากาศร้อนเกินไปผักไม่ออกเพราะเป็นการปลูกแบบธรรมชาติ ผู้บริโภคต้องเข้าใจในส่วนตรงนี้ด้วย ถึงบอกว่านี่คือ การเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้จำนวนสมาชิกเรายังไม่มากเท่าไหร่นัก แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราเพิ่งเริ่มเปิดตัวได้ไม่นานด้วย ถึงก่อตั้งมาสองปีกว่า แต่เราเปิดรับสมาชิกจริงและมีการจัดส่งครั้งแรกเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมานี่เอง ซึ่งหากจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น เราก็สามารถส่งเสริมให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกออกไปได้มากขึ้น รวมถึงพื้นที่จัดส่งก็สามารถทำได้กว้างขึ้นกว่านี้”


      นอกจากการวางแผนเพาะปลูกกับเกษตรกร การควบคุมคุณภาพ การส่งมอบผักผลไม้ไปยังผู้บริโภคแล้ว The Basket ยังได้พยายามจัดกิจกรรมให้สมาชิกและเกษตรกรได้มีส่วนร่วมด้วย เช่น การพาสมาชิกไปพบเกษตรกรและเยี่ยมชมแปลงผักของจริง การช่วยกันกำหนดมาตรฐานความต้องการร่วมกัน นับเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคเสมือนหนึ่งได้มีสวนผักของตัวเองเหมือนกับสโลแกนที่ตั้งไว้จริงๆ   

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน