Text&Photo : Yuwadi.s
ช่วงนี้ร้าน Multi-brand Store กำลังฮิต มาแรงสุดๆ เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเหล่าแม่ค้าออนไลน์ที่จะได้ขยับจากออนไลน์มาสู่ On ground โดยไม่ต้องลงทุนสร้างหน้าร้านด้วยตัวเอง อย่างล่าสุดก็มีอีกหนึ่งร้านที่เพิ่งเปิดในย่านอารีย์กับร้านสุดชิคชื่อ 'GLOC' ของเหล่าคนคูลๆ ที่มารวมตัวกันเป็นพาร์ทเนอร์คอยค้นหาแบรนด์สินค้าสไตล์เก๋ๆ ดูดี มีคาแร็กเตอร์แล้วมารวมตัวกันเป็นแก๊ง GLOC
โดยเจ้าของร้าน GLOC มีด้วยกัน 4 คนคือ ‘จูนจูน’ นางเอกสาวขวัญใจวัยรุ่นจาก Marry is happy , ‘เค้ก’ สาวขาช็อปสายตาเหยี่ยวที่จะคอยมองหาแบรนด์เก๋ๆ บนโลกออนไลน์มาเป็นแก๊ง GLOC นอกจากนี้ยังมี ’ปั๊ม’ และ ’ปรีดี’ พาร์ทเนอร์หนุ่มๆ ที่จะคอยดูสินค้าเท่ๆ ของผู้ชายและเหล่าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านสุดเก๋ พอทุกอย่างมารวมกันเลยลงตัวกลายเป็นร้านมัลติแบรนด์ที่ไม่ได้มีแค่เสื้อผ้าของสาวๆ เท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยสินค้าเก๋ๆ ที่มีคาแร็กเตอร์ชัดเจนแบบกลมกล่อมของพาร์ทเนอร์ทั้ง 4 คน
จุดเริ่มต้นของร้านนี้มาจากที่สาวๆ ทั้งสองคนอย่าง จูนจูนและเค้กได้ทำแบรนด์เสื้อผ้าที่ชื่อว่า J.C.CO ได้ประมาณ 3 ปีแล้ว โดยเสื้อผ้าของพวกเธอเป็นสไตล์ที่ ‘ฉันอยากจะใส่’ ก่อนที่จะเริ่มคิดมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง
จูนจูน: “เราเริ่มทำเสื้อผ้าตอนประมาณปี 2 ตอนแรกก็ขายกันขำๆ อยากทำเสื้อผ้าที่แบบ ฉันอยากจะใส่ เคยลองหาแบบนี้แต่หาไม่ได้เลย ก็เลยทำแบรนด์ขึ้นมา เราเคยคิดคีเวิร์ดขึ้นก็คือคำว่า Casually cute คือใส่ง่ายๆ สบายๆ ตัวเดียวจบไม่ต้องเยอะ ใส่แล้วน่ารักเลย เน้นเป็นผ้าลินิน ผ้าคอตตอน”
หลังจากนั้นก็มาถึงจุดที่พาร์ทเนอร์ทุกคนมีความคิดเห็นตรงกันว่าควรมีหน้าร้านและเลือกย่านอารีย์ให้กลายเป็นแหล่งรวมตัวของพวกเขาจนกลายมาเป็น GLOC ร้านที่รวมสินค้าเก๋ๆ เอาไว้ด้วยกันทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศ
จูนจูน: “ก่อนหน้าเค้กกับปั๊มก็คุยกันว่าอยากมีหน้าร้านแถวอารีย์ จูนก็ทักเขาไปพอดีว่าอยากมีหน้าร้านเหมือนกัน เราทุกคนความเห็นตรงกันที่อารีย์เพราะเป็นที่ที่มี Traffic ดี เป็นย่านที่ดี เราเลยคิดว่าจะทำเป็นร้านที่สามารถเอาสินค้าเราวางขายได้และเราจะคัดเลือกแบรนด์ต่างๆ มาอยู่ในร้านเราด้วย ก็เลยกลายเป็นร้าน Multi-brand แบบนี้”
แม้ว่าก่อนหน้าจะมีร้าน Multi-brand เกิดขึ้นมากมายแต่ GLOC ก็ฉีกสไตล์จาก Multi-brand ทั่วไปที่มีอยู่ในตลาด เพราะพวกเขามองว่า Multi-brand ที่มีอยู่ยังขาดอะไรบางอย่างไปและพวกเขาจะมาช่วยเติมเต็มให้ Multi-brand Store ในเมืองไทยมีความหลากหลายมากขึ้น
จูนจูน: “ความจริงตอนนี้ก็มี Multi-brand Store หลายร้าน แต่เราคิดว่ามันขาด Multi-brand อะไรบางอย่างอยู่ เพราะก่อนหน้านี้ที่เราทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง ก็มีร้าน Multi-brand ชวนไปขาย ตอนนั้นเราก็ต้องคำนึงถึงคาแร็กเตอร์ของร้านนั้นๆ ว่ามันสอดคล้องกับตัวแบรนด์เรามั้ย ซึ่งเรายังไม่เจอร้านที่ตรงใจเรา อย่างร้านที่มีอยู่ก็ดีหมดเลยนะ แต่ละร้านก็จะมีคาแร็กเตอร์ตัวเอง บางร้านจะดูผู้หญิงจ๋า วัยทำงานหน่อย ส่วนสไตล์ของร้านเรา ถ้าจะใช้คำที่เข้าใจง่ายๆ ก็จะดูฮิปสเตอร์ ดูมินิมัล และตอนนี้ก็มีร้านแบบนี้ในอินสตาแกรมเยอะมาก เราเลยมาเปิดหน้าร้านของตัวเองและเราเชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายแบรนด์ที่มี Potential ดี สไตล์ดี คาแร็กเตอร์ตรงกับเราและเราก็จะพาแก๊งเหล่านี้มาอยู่ด้วยกัน”
เค้ก: “อย่างบางคน เขาก็มีแบรนด์แล้วหาร้านลงไม่ได้ สไตล์อาจจะไม่ตรงกัน พอมาเจอร้านเรา เขาก็มาลงขายกับเราเลย เพราะร้านเราไม่ได้มีแค่เสื้อผ้ายังมี Accessories มีแจกันสวยๆ มีของตกแต่งบ้าน มีเก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นแบรนด์ไทยที่เขามา Collaboration กับร้านเรา ตอนนี้เราก็มีขายทั้ง Men’s Wear, Women’s Wear, Beach Wear สินค้าที่เราทำเองก็มีนะ อย่างเคสไอโฟน เข็มกลัดเล็กๆ Accessories อะไรพวกนี้”
สินค้าในร้านตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ไทยที่มาจากออนไลน์ทั้งหมดและยังมีแบรนด์ที่หายากจากต่างประเทศ เช่น สกินแคร์และเมคอัพยี่ห้อ glossier ที่ดังมากอิมพอร์ตมาจากอเมริกา
เค้ก: “ถ้าแบรนไทย ตอนนี้มี 30 แบรนด์ แบรนไทยก็มี Be hers จะเป็นแบรนด์ที่ Casual เน้นเนื้อผ้าลินิน มีทั้งโทนสีสันและสีธรรมชาติ ใส่ง่ายๆ ขายออกเร็วมาก เราเอาเข้ามาแบบละตัว ขายออกเร็วมาก
จูนจูน: “แบรนด์เมืองนอกก็มี Sleepy Jones เป็นชุดนอน Sleepwear ซึ่งหายากมากแบบที่ว่าเขาไม่ชิปปิ้งมาเอเชียเลยและเราติดต่อเขาโดยตรงเพื่อขอเป็น Distributor ทำให้เราขายได้ถูกกว่าหน่อย ซึ่งกำลังจะนำเข้ามา”
นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ขายของออนไลน์และอยากจะมีหน้าร้านเป็นของตัวเองก็สามารถมาเข้าแก๊งกับ GLOC ได้ เพราะยุคนี้เป็นยุคที่ใครๆ ก็อยากมีอะไรที่เป็นของตัวเอง
จูนจูน: “จูนว่ามันเป็นโอกาสที่ดีประมาณนึง ไม่ใช่แค่ร้าน Multi-brand ที่มีขึ้นมาเยอะ แต่แบรนด์เล็กๆ ก็มีเยอะขึ้นด้วย เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็อยากมีธุรกิจของตัวเอง อยากขายของตัวเอง ซึ่งจะเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน บางคนชอบเสื้อผ้า บางคนชอบกระเป๋าก็ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ เพราะยุคนี้ คนอยากทำอะไรสักอย่าง เป็นยุคที่คนอยากมีธุรกิจของตัวเอง ฉะนั้นการที่ร้าน Multi-brand เยอะ มันยิ่งดึงคน ทำให้คนเหล่านี้หันมาทำอะไรของตัวเองมากขึ้น ก็เป็นการช่วยๆ กันแหละ”
ที่ GLOC นอกจากลูกค้าจะได้ช้อปปิ้งสินค้าได้อย่างเพลิดเพลินแล้ว ยังมีมุม Tea Bar เล็กๆ ไว้คอยให้บริการ ซึ่งมุมนี้เกิดจากที่เค้กเป็น Tea Lover ชอบดื่มชาและเธอได้รวบรวมชาที่ไปเจอจากที่ต่างๆ มา Blended เอง เป็นอีกหนึ่งกิมมิกสุดน่ารักของร้าน GLOC ที่ช่วยทำให้ภายในร้านมีบรรยากาศที่ดีจากกลิ่นหอมของชา มีเพลงเพราะๆ เคล้าคลอระหว่างการเดินเลือกของ จนทำให้ลูกค้าหลายคนอดใจไม่ไหว ควักเงินในกระเป๋ามานักต่อนักแล้ว
สุดท้ายสาวๆ จาก GLOC ก็ได้พูดถึงเรื่องแนวคิดในการทำธุรกิจแบบคนรุ่นใหม่ที่ต้องมีความกล้าและอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ให้ดีขึ้น อย่างพวกเธอที่เคยขี้กลัว แต่ในที่สุดก็เอาชนะความกลัวนั้นเพื่อไล่ล่าความฝันของตัวเอง
จูนจูน: “ปกติจูนจะขี้กลัวแต่ตอนนี้อยุ่ในยุคที่แบบ ทำไปเหอะ ยิ่งคนรุ่นใหม่ อายุน้อย จะเสียหายเท่าไหร่ คุณมีพลังจะลุกขึ้นมาใหม่อยู่แล้ว มีเวลาอีกเยอะมากที่จะพัง ลองคำนวณไป ถ้าจะเริ่มทำธุรกิจ ดีที่สุดเท่าไหร่ เสียหายเยอะสุดเท่าไหร่ ประสบการณ์ที่ได้มันก็คุ้มนะ แม้ไม่ได้มาเป็นตัวเงินหรือต้องเป็นมหาเศรษฐีร้อยล้านจากธุรกิจนี้ แต่สุดท้ายคือคุณได้เรียนรู้อะไรที่มีค่า มันคุ้มแน่นอน”
เค้ก: “เวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศ เราจะได้เจอร้านดีๆ แบรนด์ดีๆ น่าสนใจ แต่สุดท้ายแล้วเราก็ยังอยากอยู่ที่เมืองไทย เราเลยอยากทำที่นี่ให้น่าอยู่เหมือนต่างประเทศ ซึ่งก็คงมีคนรุ่นใหม่ที่กำลังคิดเหมือนกันกับเรา ก็อยากให้ทุกคนเริ่มลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองชอบตั้งแต่ตอนนี้เลย”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย
เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน