เฟอร์นิเจอร์ตัวต่อยักษ์ ไม่จำกัดไอเดีย

Text: ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง
Photo: กฤษฎา ศิลปชัย



 
     แทนที่จะหยุดจินตนาการไว้ที่วัยเด็ก ทายาทธุรกิจรุ่นใหม่อย่าง ธนัญญา ทวีผลเจริญ จึงขอหยิบไอเดียจากของเล่นชิ้นโปรดในตำนานอย่างตัวต่อเลโก้ ต่อยอดสู่ธุรกิจแห่งความคิดสร้างสรรค์ไม่รู้จบอย่าง “เฟอร์นิเจอร์ตัวต่อยักษ์” แบรนด์ KokoBlocks  สินค้าที่มองดูเผินๆ เหมือนของเล่น แต่ใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน แถมยังมีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน และสามารถถอดประกอบเปลี่ยนแบบได้ไม่จำกัดครั้ง ไม่จำกัดไอเดีย 




     ธนัญญา เล่าว่า เดิมธุรกิจครอบครัวทำโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ เมื่อรุ่นลูกเข้ามารับช่วงต่อ จึงมีความคิดอยากแตกไลน์ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยเลือกนำจุดแข็งของวัสดุพลาสติก PP Co-Polymer ซึ่งใช้เป็นวัสดุหลักอยู่แล้วในการผลิตชิ้นส่วนอย่างกระจังหน้า กันชน คิ้วกระโปรงรถ ฯลฯ มาสร้างสรรค์เป็นเฟอร์นิเจอร์ตัวต่อยักษ์รูปแบบใหม่ โดยมีแรงบันดาลใจจากการเล่นตัวต่อเลโก้ชิ้นเล็กๆ หลากหลายสีสันในวัยเยาว์  
 
     แต่ก่อนจะลงมือทำนั้น โจทย์ใหญ่ที่ต้องเช็คให้ชัวร์ก่อน คือ การทำธุรกิจด้วยแนวคิดนี้จะมีปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไหม ? เมื่อได้คำตอบที่แน่ชัดจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าสามารถทำได้  ธนัญญาจึงเดินหน้าพัฒนาสินค้าต้นแบบร่วมกับทีมงาน ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ ใช้เวลา 3 เดือน จึงได้ออกมาเป็น KokoBlocks เฟอร์นิเจอร์ระบบตัวต่อที่แข็งแรง  ตอบได้ทุกโจทย์ความต้องการ สามารถรับน้ำหนักมากๆ ได้สบาย 




 
     โดยมีชิ้นส่วนตัวต่อที่ผลิตออกมาจำหน่ายรุ่นแรก  3 โมเดล คือ ขนาดใหญ่ 8 ปุ่ม (15cm x 30cm) ขนาดกลาง 4 ปุ่ม (15cm x 15cm)  และขนาดเล็ก 2 ปุ่ม (7.5cm x 15cm) ราคาขายปลีกชิ้นละ 190 บาท 145 บาท และ 110 บาท ตามลำดับ นอกจากนี้ยัง full finishing cap ฝาปิดขนาดใหญ่ และขนาดเล็กเพื่อความสวยงาม โดยมีให้เลือกมากถึง 16 สี  ลูกค้าสามารถซื้อกี่ชิ้นก็ได้ ไม่จำกัดจำนวนขั้นต่ำ

 
  “จริงๆแล้ว KokoBlocks สามารถเอาไปต่อเป็นอะไรก็ได้ ตามแต่จินตนาการเลย แต่เมื่อทดลองทำตลาดในเมืองไทย พบว่าลูกค้าอยากซื้อเป็นเซ็ทที่ดีไซน์ออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ไปเลย ทำให้ต้องปรับแผนการตลาดขายในรูปแบบเฟอร์นิเจอร์ เริ่มต้นจากเก้าอี้สตูล เก้าอี้โซฟา ซึ่งสามารถใช้งานได้สารพัดประโยชน์  ใครที่อยู่คอนโด มีพื้นที่จำกัด ถ้ามีเพื่อนมาบ้าน สามารถถอดแยกออกมาเป็นเก้าอี้ตัวเล็กได้ถึง 8 ตัว วันไหนไม่อยากได้เก้าอี้ ก็สามารถเอาไปประกอบใหม่ทำเป็นกำแพง หรืออะไรก็ได้ ” ธนัญญา เล่าถึงข้อดีของเฟอร์นิเจอร์ตัวต่อยักษ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้สารพัดนึก แม้แต่การกั้นห้องเล็กๆ ที่ทำเองได้ง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องง้อช่าง แถมติดวงกบประตูหน้าต่างได้ ไม่ต่างจากผนังทั่วไป  




 
       ด้วยความโดดเด่นของวัสดุพลาสติก PP Co-Polymer ที่ทั้งความยืดหยุ่น น้ำหนักเบา แต่แข็งแรงทนทาน ตกไม่แตก ทนแดด ทนฝน ทนแรงกระแทก ทำให้ KokoBlocks สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานโครงสร้างอื่นๆ ได้มากมาย ตอบโจทย์ทั้งลูกค้ากลุ่มอินทีเรีย และงานสถาปนิก โดยตัวต่อหนึ่งชิ้นขนาด 15 x15x15 cm. 1 ชิ้น สามารถรองรับน้ำได้มากถึง 300 กิโลกรัม สามารถนำมาทำผนัง กำแพง แม้แต่บันได นอกจากนี้ ยังตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าวงการอีเวนต์ ที่สามารถใช้ในงานออกแบบบูธ ทำเวทีหรือแบ็คดร็อป โดยไม่จำเป็นต้องใช้ช่างฝีมือ สามารถถอดประกอบนำมากลับมาใช้ใหม่ได้ และยังสามารถสั่งทำได้ทุกเฉดสีตามแบบที่ต้องการ 


 

  การนำเสนอสินค้าไอเดียแปลกใหม่ ธนัญญาบอกว่า มีความท้าทายไม่น้อยตรงที่จะทำอย่างไรให้ลูกค้ากล้าซื้อไปทดลองใช้  เพราะลูกค้ามักเต็มไปด้วยความกังวลว่า จะแข็งแรงไหม เพราะหน้าตาดูเหมือนของเล่น จะนั่งสบายหรือเปล่า การสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดจึงต้องให้ลูกค้าได้ลองสัมผัสด้วยตัวเอง เช่น ให้ลูกค้าได้ทดลองนั่ง ทดลองขึ้นไปยืนว่าสามารถรับน้ำหนักได้จริงๆ  



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน