Text : ขวัญดวง แซ่เตีย
Photo : กฤษฎา ศิลปไชย
จากธุรกิจครอบครัวที่ตกทอดมาจากรุ่นย่า ถึงแม้จะมีหลายร้านหลายแบรนด์อยู่ในมือ แต่ทุกร้านกลับขายสินค้าแบบเดียวกันหมด หาความต่างแถบไม่เจอในยุคแรกๆ ก่อนที่จะถูกจับมาแปลงโฉมใหม่ ด้วยน้ำมือของทายาท Generation ที่ 3 พร้อมๆ กับการสร้างคาแล็คเตอร์ให้แต่ละแบรนด์นั้นมีความโดดเด่นในแบบของตัวเอง ไม่เพียงเท่านี้ ยังแตกไลน์ธุรกิจใหม่ๆ อีกมากมาย สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับอาณาจักรธุรกิจการ์ดแต่งงานและของชำร่วย จนทำให้ชื่อของ ไอเดียเลาจน์ กรุ๊ป กลายเป็นเจ้าตลาดเบอร์ต้นๆ ของประเทศในที่สุด
เพราะเติบโตมาในครอบครัวที่มีวิธีปลูกฝังความคิดในการทำธุรกิจ ชนิดแบบให้ค่อยๆ ซึมซับเอาจากคนในครอบครัวที่มักพูดคุยกันถึงแต่เรื่องธุรกิจที่ทำ แคทลียา ท้วมประถม จึงมีเป้าหมายชัดที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจของตัวเอง เธอเลือกเรียน Entrepreneurship เพราะเป็นศาสตร์ที่สอนการทำธุรกิจโดยเริ่มต้นจากศูนย์ คือไม่มีทุนไม่มีทีมจะทำอย่างไรให้บริษัทเติบโตขึ้นมาได้ หลังเรียนจบและคิดว่าตัวเองพร้อมจะรับสืบทอดกิจการของพ่อได้แล้ว จึงเอ่ยปากขอทำร้านวิริยา ซึ่งเป็นร้านที่มีขนาดเล็กที่สุดก่อน โดยตั้งเงื่อนไขไว้ว่าพ่อต้องปล่อยให้เธอได้พิสูจน์ฝีมือตัวเอง
ช่วงที่แคทลียาเข้ามาเริ่มต้นธุรกิจครอบครัว เวลานั้นการ์ดแต่งงาน และของชำร่วยยังไม่มีใครทำเป็นสไตล์ใหม่ ทุกอย่างเป็นธีมเดียวกันหมด เธอเป็นคนริเริ่มเอาดีไซน์เข้ามาใช้ออกแบบการ์ดแต่งงานให้แตกต่างจากตลาด ซึ่งผลตอบรับดีมาก ขนาดว่าราคาการ์ดเพิ่มขึ้นมามาก บางใบราคาไปถึง 300 บาท ก็ยังขายดีมีคนแน่นร้าน จนตอนหลังพ่อของเธอต้องซื้อตึกข้างๆ เพื่อให้ได้ขยายเป็นสองคูหา
หลังร้านวิริยาประสบความสำเร็จจนสามารถขยายเป็นสองคูหาได้แล้ว แคทลียาก็ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้เป็นพ่อมากขึ้น และได้รับโอกาสเข้ามารีโนเวทร้านของพ่อทีละร้าน จนครบทั้ง 3 ร้าน คือ วิริยา แคทลียา และพรมงคล ก่อนจะนำเอาชื่อร้านแต่ละร้านไปสร้างเป็นชื่อแบรนด์ เมื่อประสบความสำเร็จมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ ก็นำมาเป็นทุนสร้างแบรนด์ใหม่ และธุรกิจใหม่เพิ่ม คืออัญญ่า ดีไซน์เอสเซนเชียล และขยายสู่ตลาดออนไลน์ อย่าง สวีทอินดัสทรี และเวดดิ้งกิ๊ฟท์
บางคนอาจมองว่าการมีหลายแบรนด์ในสินค้าประเภทเดียวกันเป็นเหมือนการ Fighting brand ที่จะทำให้ผู้ประกอบการเหนื่อยแรงเปล่า แต่สำหรับแคทลียากลับมีมุมมองที่ต่างออกไป เธอมองว่าการมีมากแบรนด์ก็เพื่อรองรับลูกค้าให้ครบทุกกลุ่ม ทำให้ธุรกิจคุมตลาดได้ทั้งหมด ซึ่งการมีหลายๆ แบรนด์ก็แค่บริหารจัดการให้ดี แบรนด์พอร์ตโฟลิโอต้องชัดเท่านั้นเอง
แคทลียามองว่าการเป็นซีอีโอที่ดีได้ ต้องรู้จักสร้างระบบขึ้นมาทำงานแทนตัวเอง แล้วเอาเวลาที่มีไปหาความรู้ใหม่ๆ มาเป็นคลังสมอง เพื่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ มาสร้างสรรค์พัฒนาธุรกิจให้ก้าวหน้าและเติบโต ซึ่งเธอเชื่อมั่นว่าการขายของทางออนไลน์จะเข้ามาแทนที่ธุรกิจที่มีหน้าร้าน และกำลังก้าวข้ามไปสู่ยุคการสร้างฮับ หรือตลาดกลางสำหรับการซื้อขายสินค้าบนโลกออนไลน์ เธอจึงพัฒนา Sweet industry ให้เป็นตลาดกลางขายสินค้าทุกแบรนด์ที่มีอยู่ในมือ พร้อมเปิดโอกาสให้กับสินค้าแบรนด์อื่นได้มาเสนอขายรวมกันบนฮับนี้ด้วย
ผู้ประกอบการสาวบอกว่าเธอไม่เคยสร้างกรอบให้ตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ การมีกรอบเหมือนเป็นการขังตัวเองไว้ในทิศทางๆ เดียว ทำให้เจอทางตันเวลามีปัญหา การทำธุรกิจแล้วขายดีสำหรับเธอถือเป็นเรื่องธรรมดามาก แต่จะทำให้ขายดีตลอดเวลาเป็นเรื่องที่ยากมาก อย่างธุรกิจที่ทำอยู่ในปัจจุบันยอดขายเริ่มตกลง เพราะคู่แข่งมีมากขึ้น การ์ดแต่งงานสามารถก๊อปปี้ลายแล้วทำให้ถูกลงได้ จากเดิมที่ตลาดนี้เคยเป็นบลูโอเชี่ยน ตอนนี้กลายเป็นเรดโอเชี่ยนแล้ว แต่พอขยายต่อในตลาดนี้ไม่ได้ เธอก็ไปเมียนมา มองหาพาร์ทเนอร์ที่ดีมาร่วมงานด้วย เมื่อคอนเซ็ปต์ที่เมียนมานิ่งแล้ว ก็ไปเปิดต่อที่ลาวอีก การเจอกับอุปสรรคระหว่างการทำงานจึงเป็นเรื่องปกติมากสำหรับแคทลียา ซึ่งตัวเธอเองบอกว่า จริงๆ ก็ไม่ค่อยได้เจออะไรหนักๆ นัก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องลูกค้า หรือคู่แข่ง ซึ่งเธอมองว่าไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจอะไร แต่กลับเป็นเรื่องท้าทายที่ช่วยกระตุ้นพลังในตัวเธอให้ลุกโชติช่วงอยู่ตลอดเวลา
ในมุมมองของแคทลียาแล้ว เธอบอกว่าการทำธุรกิจของครอบครัวสามารถพิสูจน์ศักยภาพในตัวผู้ประกอบการได้แพ้การเริ่มธุรกิจใหม่ โดยในช่วงแรกที่เข้ามาเริ่มงานใหม่ๆ อาจต้องให้เวลาตัวเองในการเรียนรู้งานให้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน แล้วจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยของตัวเอง ซึ่งก็จะทำให้เส้นทางการเติบโตของธุรกิจมีความมั่นคง พร้อมๆ กับประสบการณ์การเป็นนักบริหารของตัวผู้ประกอบการเอง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย
เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน