Text : ขวัญดวง แซ่เตีย
Photo : กฤษฎา ศิลปไชย
แม้จะไม่ได้ชื่นชอบการค้า และเกลียดกลัวกลโกงในวงการธุรกิจ แต่ด้วยสถานะทายาทหนุ่มผู้เป็นความหวังของครอบครัวธุรกิจจำหน่ายโคมไฟ และหลอดไฟ รายใหญ่ของประเทศ ทำให้ สาธิต ก่อกูลเกียรติ ต้องนำสิ่งที่รักมาสร้างแนวทางธุรกิจของตัวเอง ความเป็นคนชอบงานศิลปะ คิดและสร้างอะไรใหม่ๆ เป็นแรงบันดาลใจให้เขาปฏิวัติวงการค้าโคมไฟของไทย ด้วยการสร้างแบรนด์ Lamptitude ขึ้นมาจับตลาดระดับกลาง ซึ่งในเวลานั้นไม่มีแม้แต่ดีมานด์ หรือซัพพลาย กลยุทธ์ของเขาไม่ได้เอาแบรนด์ออริจินัลเข้ามาขาย แต่เอาเทรนของแบรนด์ดังๆ ยำออกมาเป็น Lamptitude ที่มีดีไซน์สวย ราคาจับต้องได้ ซึ่งเป็นจุดขายที่ไม่เพียงทำให้เขาคืนทุนเงินก้อนแรกภายในเวลา 6 เดือน แต่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องจนมียอดขายมากกว่า 500 ล้านในวันนี้
กุญแจแห่งความสำเร็จของ Lamptitude คือการจัดวางองค์ประกอบสำคัญทางด้านการตลาดไว้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ตัวตนของแบรนด์ให้เจาะใจสถาปนิก และดีไซน์เนอร์ที่เป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของทั้งผู้ที่เป็นเจ้าของบ้าน ร้านค้า สถานบันเทิง ตลอดไปจนถึงโรงแรม ผู้บริหารหนุ่ม เลือกที่จะเข้าไปผูกสัมพันธ์กับคนกลุ่มนี้ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาปี 1 โดยเข้าไปจัดอรมสัมมนาให้ความรู้ด้านไลท์ติ้งดีไซน์ รักษาความสัมพันธ์อันดีนี้เรื่อยมาจนคนเหล่านี้เติบโตขึ้นมาเป็นสถาปนิก และดีไซน์เนอร์ชื่อดังของไทย ซึ่งไม่เพียงมีบทบาทต่อผู้จ้างงาน แต่ยังมีอิทธิพลน้อมนำคนอื่นๆที่ชื่นชอบในผลงานของพวกเขาด้วย
อีกหนึ่งองค์ประกอบที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือโคมไฟของ Lamptitude มีดีไซน์ที่นำเทรนด์อยู่เสมอ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่มีการพัฒนาร่วมกันกับบริษัทยุโรปที่เข้ามาตั้งโรงงานในจีน ทำให้ได้โคมไฟดีไซน์สวยในราคาไม่แพง และทุกเดือนจะมีสินค้าใหม่ๆ ออกมาตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มสถาปนิก และดีไซน์เนอร์ที่ทำงานอยู่กับแฟชั่นตลอดเวลา นี่เองจึงทำให้ Lamptitude เป็นโคมไฟที่มักถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม สาธิตบอกว่าตัวสินค้าเองอาจไม่ได้บอกถึงตัวตนของ Lamptitude มากเท่ากับตัวโชว์รูม ซึ่งหากเดินเข้ามาในร้าน คนจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของความเป็น Lamptitude อย่างชัดเจน
ภายใต้คอมเซ็ปต์ไลท์ติ้งสตูดิโอ โชว์รูม Lamptitude มีรูปแบบการจัดวางสินค้าด้วยแนวคิดที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ขณะที่ร้านขายโคมไฟทั่วไปจะอัดแน่นโคมไฟแบบต่างๆ ให้ได้มากที่สุด แต่ Lamptitude ใช้อินทีเรียดีไซน์เนอร์มาออกแบบ มีการคิดทุกตารางเมตรว่าแต่ละจุดจะโชว์อะไรบ้าง เป็นแกลลอรี่โคมไฟสวยๆ มีมุมห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ ห้องนอน ที่เมื่อลูกค้าเห็นแล้วจินตนาการได้ว่าใช้ไฟออกมาแล้วจะเป็นยังไง
สาธิตบอกว่าเส้นทางเติบโตของ Lamptitude ราบรื่นมาโดยตลอดจนมาถึงปีนี้ ที่ปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งสภาพเศรษฐกิจ สภาพการตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม ทั้งหมดนี้ทำให้เขาคิดว่าถึงเวลาที่ต้องชะลอความเร็วลงเพื่อทบทวนตัวเอง มองหาทิศทางที่จะไปต่อ และเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตแบบไม่มีสะดุดในวันข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการสร้างระบบงานต่างๆ ให้มีมาตรฐานเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กร
ส่วนเรื่องทิศทางการเติบโตต่อไปในอนาคตนั้น นักบริหารผู้ปฏิวัติวงการค้าโคมไฟไทยรายนี้บอกว่าจะเป็นการผสมผสานระหว่างออนไลน์ กับออฟไลน์ เข้าด้วยกัน โดยใช้ออนไลน์เป็นช่องทางในการสร้างความรู้จัก และดึงลูกค้าให้มาหา และจบการขายที่โชว์รูม โดยโชว์รูมสาขาต่างๆ จะไม่ได้ตั้งอยู่บนริมถนนอีกต่อไป เนื่องจากราคาค่าที่ดินแพงขึ้นจนทำให้ต้นทุนสูงกระทบต่อราคาขาย ซึ่งสาธิตเชื่อว่าด้วยศักยภาพของแบรนด์ Lamptitude จะทำให้คนตามไปหา แม้โชว์รูมจะเข้าไปอยู่ในซอกซอยลึกแค่ไหนก็ตาม แต่ถึงกระนั้น สำนักงานใหญ่ในเมืองยังคงมีความจำเป็นเพื่อให้ลูกค้ากลุ่มดีไซน์เนอร์ และสถาปนิกคงความมั่นใจในแบรนด์ Lamptitude ต่อไป
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย
เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน