Text : กองบรรณาธิการ
หากเอ่ยชื่อชามตาไก่ หลายคนคงเคยได้ยินเพราะเป็นของดีในจังหวัดลำปางที่เคยรุ่งเรืองในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งมีที่มาจากนายอี้ (ซิมหยู แซ่ฉิน) ที่ค้นพบแร่ดินขาวที่บ้านปางค่า อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เป็นวัตถุดิบในการทำเซรามิค จึงตั้งโรงงานผลิตชามตาไก่ที่ลำปางตั้งแต่ตอนนั้น แต่พอถึงประมาณปี 2506 ถูกกระแสเซรามิคของต่างประเทศที่ราคาถูกเข้ามาตีตลาดทำให้กิจการเริ่มซบเซาและชามตาไก่ค่อยๆ หายไปจากเมืองไทยจนมาถึงทายาทรุ่นที่ 2 ของนายอี้อย่าง พนาสิน ธนบดีสกุล ได้เข้ามาสืบทอดกิจการพร้อมกับต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ในด้านเซรามิคจนกลายเป็นบริษัท ธนบดีเดคอร์เซรามิคจำกัด ที่มีทั้งสินค้าตกแต่งบ้าน จาน ชาม ชุดเครื่องใช้ในห้องน้ำ ชุดหมู่บูชา สินค้าที่ระลึกและยังมีการพลิกฟื้นชามตาไก่ที่เคยหายไปในอดีตให้กลับมาอีกครั้ง
Cr : www.dhanabadee.com
จุดเด่นของธนบดีเดคอร์เซรามิค คือการนำเอกลักษณ์ของท้องถิ่นมาผสานกับความทันสมัยของเทคโนโลยีด้วยการใช้เครื่องจักรทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสวยงาม โดดเด่นและตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
“ด้วยความที่ประเทศเรามีวัฒนธรรม มีเอกลักษณ์ท้องถิ่น เราจึงมีการใช้นวัตกรรมผสานเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่สวยงามเข้ากับเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต ทำให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มากขึ้นแต่ยังคงมีความประณีต สวยงามด้วยฝีมือของมนุษย์ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ของเรายังมีการใช้ลวดลายไทยๆ ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นสร้างสรรค์ให้กลายเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ ตอนนี้ก็ส่งขายไปประมาณ 78 ประเทศ”
นอกจากความโดดเด่นในเรื่องของการนำเอกลักษณ์ท้องถิ่นมาใส่ลงในเซรามิคแล้ว ธนบดีเดคอร์เซรามิค ยังมีจุดแข็งในเรื่องของการบริหารองค์อย่างยั่งยืนด้วยการนำเอาหลักวิถีพุทธมาใช้ในการบริหารรวมทั้งยังเน้นความสุขของพนักงานเป็นหลัก
“ในการบริหารองค์กร เรามีการน้อมนำเอาวิถีพุทธเข้ามาใช้ แต่เราไม่ได้ห้ามในการนับถือศาสนาอื่นของพนักงาน ก็มีทั้งศาสนาอิสลามและคริสต์ ในองค์กรของผมจะเน้นเรื่องของการมีความสุข 24 ชั่วโมง มีการสร้างสมดุลในชีวิตทั้งเรื่องสุขภายกาย สุขภาพใจ มีการตรวจสุขภาพพนักงาน มีการจัดทำคู่มือชีวิตให้พนักงานได้วางแผนชีวิตของตนเอง มีการดูแลพนักงานในเรื่องของสุขภาพใจด้วยการจัดกิจกรรมนั่งสมาธิ นอกจานี้เรายังเน้นช่วยเหลือพนักงานในด้านต่างๆ เรื่องเงินออม เรามีระบบออมทรัพย์ให้พนักงานได้ออมเงิน มีการให้กู้เงินภายในองค์กรไม่ต้องเป็นหนี้นอกระบบ นอกจากนี้ยังเน้นความสุขของพนักงาน ให้พนักงานได้ Happy&Relax ดูความต้องการว่าพวกเขาต้องการอะไร เราพบว่าพนักงานต้องการสระผมในช่วงพักกลางวัน เราก็มีการซื้อเก้าอี้สระผม 2 ตัว มีอาจารย์มาสอนในเรื่องของการสระผมและให้พนักงานที่อยากมีรายได้เสริมมาเป็นคนสระ พนักงานก็มีความสุข”
อีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้ ธนบดีเดคอร์เซรามิค เติบโตอย่างยั่งยืนคือการปลูกฝังพนักงานด้วยการเปลี่ยนคำว่า “ยาก” ให้กลายเป็นคำว่า ต้องทำให้ได้
“เวลาที่หลายคนเจอเรื่องยากหรือเรื่องที่ทำไม่ได้ ก็มักจะคิดว่าทำไม่ได้หรอกและก็จะไม่ทำ แต่สำหรับผมพอเจอเรื่องยากๆ ผมมองว่านี่แหละคือนวัตกรรม ที่ต้องลอง ครั้งแรกอาจจะไม่สำเร็จก็ลองครั้งต่อไป ลองทำไปเรื่อยๆ จนกว่าที่จะประสบความสำเร็จ นอกจากนี้เรายังมักที่จะมีการวางแผนธุรกิจอยู่เสมอทุกๆ 6 เดือน จากเมื่อก่อนปรับทุกๆ 1 ปี หรือ 2 ปี แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ทั้งพฤติกรรมคน เทคโนโลยี เราเลยมีการวางแผนธุรกิจทุกๆ 6 เดือน”
ด้วยความได้เปรียบเรื่องขององค์ความรู้ในการผลิตเซรามิคตั้งแต่รุ่นพ่อผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดสินค้าท้องถิ่นให้มีความทันสมัย ใส่ดีไซน์จนกลายเป็นสินค้าที่ได้ใจลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้ตอนนี้ ธนบดีเดคอร์เซรามิค เติบโตอย่างต่อเนื่องแบบยั่งยืนเพราะทัศนคติของผู้บริหารที่เน้นการพัฒนาบุคลากรในองค์กรซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีการนำเอาแนวคิดเรื่องความพอเพียงมาใช้ ไม่ขยายกิจการมากเกินความจำเป็น ไม่กู้ยืมเงินทั้งในและนอกระบบ ยึดหลักทำเท่าที่ศักยภาพของตนเองมี ทำให้องค์กรแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับ SME ยุคใหม่ที่อยากจะเติบโตอย่างยั่งยืน
ที่มา : งานสัมมนาธุรกิจยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย
เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน