​อัพเกรดนวัตกรรม ทางรอดเอสเอ็มอี




     ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก   กล่าวว่า   หากผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SME) จะอยู่รอดจะต้องปรับตัวจากเดิมที่รับจ้างผลิตต้องหันมายกระดับตนเองในการคิดและพัฒนานวัตกรรม เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมกดดันจากสภาพการแข่งขันจากคู่แข่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและแรงงาน จึงต้องปรับตัวยกระดับตัวเองตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
               

     ทางกระทรวงอุตสาหกรรม  ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Industry TransformationCenter : ITC ) มาสนับสนุนอุตสาหกรรม และ SME  ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมชิ้นส่วน หากจะปรับตัวเพื่อความอยู่รอด การผลิตเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
               

     ทั้งนี้ เนื่องจากแนวโน้มของการผลิตอุปกรณ์การแพทย์มีการเปลี่ยนไปหันมานิยมใช้พลาสติกแทนโลหะ เซรามิค และแก้วมากขึ้น เพราะความได้เปรียบทั้งในด้านต้นทุน ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยที่ดีกว่าวัสดุหลักเดิม   การปรับตัวมาสู่การผลิตอุปกรณ์การแพทย์จึงช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกของไทยแต่ทั้งนี้ต้องมีการวิจัย พัฒนาและเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน รวมถึงการออกแบบ และการทำงานร่วมกับนักวิจัย ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง   เพราะส่วนใหญ่ไม่มีแผนวิจัยและพัฒนา


     ดังนั้น ศูนย์ ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ ITC  จึงนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก สู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต   โดยมีการรวบรวมเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับ การผลิตชิ้นงานต้นแบบเชิงอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักรที่ช่วยขึ้นรูปงานต้นแบบ ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ  ทั้งโลหะ โพลีเมอร์ และเรซินต่าง ๆ เครื่องขึ้นรูปงานพลาสติกด้วยเครื่องฉีดพลาสติกขนาด 20 - 150 ตัน เครื่องเป่าลมพลาสติก เครื่องผสมเม็ดพลาสติก เครื่อง CNC ต่างๆ และ ต้นแบบของ Learning Factory ฯลฯเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ
                 

     โดยทำงานเป็นเครือข่าย ซึ่งสถาบันพลาสติก มีหน้าที่ช่วยบริหารจัดการ ร่วมกับหลายๆสถาบัน ในทุกภาคส่วนต่างๆ เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากผู้นำอุตสาหกรรมทั้งในและนอกประเทศ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการพัฒนาองค์ความรู้กับผู้ประกอบการ  ซึ่งจะมีศูนย์สาธิตและฝึกอบรมร่วมภาครัฐและเอกชนในการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเชื่อมโยงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ


     อย่างไรก็ดี 2 เดือนที่ผ่านมา หลังจากเปิดตัวมีผู้ประกอบการเข้ามารับบริการมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะต้องการปรับตัวหลังจากที่เจ้าของชิ้นส่วนต่างๆมีการย้ายฐานการผลิต ยอดการรับจ้างผลิตลดลงหรือบางส่วนได้รับโจทย์มาจากนักวิจัยที่ต้องการขยายสเกลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์





     สำหรับ ตัวอย่างผู้ประกอบการ SME ที่พัฒนาตัวเอง ตอบรับนโยบายเศรษฐกิจ 4.0 นำนวัตกรรมมาใช้ สร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ที่ยังมีความต้องการในตลาดสูง อาทิ อุปกรณ์ให้ออกซิเจนชนิดครอบศีรษะ หรือ Oxygen Treatment Hood  ส่วนอีกนวัตกรรม คือการพัฒนาถุงทวารเทียม สำหรับรองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมของผู้ป่วย ที่ไม่สามารถขับถ่ายทางช่องทางปกติได้ เพื่อทดแทนการนำเข้า ถือเป็นการช่วยให้ SME ที่ผลิตถุงพลาสติก  ชิ้นส่วนยานยนต์ ไฟฟ้าเปลี่ยนมาทำผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์แทน  ซึ่งต้องปรับทัศนคติ เปิดใจ เรียนรู้มาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมใหม่ หากต้องการอยู่รอดจำเป็นต้องปรับตัว ให้กลายเป็นกองทัพเพื่อช่วยให้ประเทศก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 
               

     เนื่องจากปัจจุบันไม่เหมือนสมัยก่อนที่ลูกค้าจะส่งแบบมาให้ผลิตจำนวนมาก จึงต้องปรับตัวในการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยตนเอง จากผู้ประกอบการกลุ่มรับจ้างผลิต (OEM-Original Equipment Manufacturer) มาเป็นผู้ประกอบการกลุ่มรับจ้างผลิตและพัฒนาดีไซน์ตัวเอง (ODM - Original Design Manufacturer) และกลายเป็นเจ้าของแบรนด์ตัวเอง  (OBM -  Original Brand Manufacturer)ในที่สุดเพื่อความอยู่รอดแบบยั่งยืน


     “การทำนวัตกรรมจากไอเดียมาเป็นต้นแบบ จากต้นแบบไปเป็นสินค้าในเชิงการค้า ระหว่างเส้นทางการพัฒนาต้องมีการบ้าน ที่ต้องทำ เพื่อพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขตลอด แม้จะสามารถจำหน่ายแล้วยังต้องพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง” ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวทิ้งท้าย


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง