เพราะอะไร? The Oven Farm ขนมปังโฮมเมดเล็กๆ ถึงต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง

Text : กองบรรณาธิการ



 
      จากการเริ่มต้นด้วยความชอบ จนเมื่อมีโอกาสทดลองโจทย์ใหม่ที่ท้าทาย ทำให้ The Oven Farm แบรนด์ขนมปังเพื่อสุขภาพได้ถือกำเนิดขึ้น แม้จะเป็นเพียงแบรนด์เล็กๆ แต่ The Oven Farm ก็สามารถเติบโตในหมู่ผู้บริโภคที่มีปัญหาด้านสุขภาพและข้อจำกัดในการเลือกรับประทานอาหาร และต่อมาเริ่มได้รับความนิยมจากลูกค้าหลายกลุ่มเพิ่มมากขึ้น จากที่เคยวางขายแค่ในร้านเพื่อสุขภาพ ก็ขยับขยายออกไปวางอยู่ตามร้านกาแฟ ร้านค้าที่เป็นไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ อะไรทำให้แบรนด์ขนมปังเล็กๆ แบรนด์นี้สามารถครองใจผู้บริโภคได้ดีมาตลอด

 
     ไธวดี ศุภโรจน์ เจ้าของแบรนด์ The Oven Farm เล่าว่า ช่วงแรกก็ทำเบเกอรีปกติขาย จนวันหนึ่งได้รับโจทย์จากคุณหมอท่านหนึ่งแนะนำให้ลองทำเบเกอรีที่เหมาะสำหรับผู้ป่วย คือต้องไม่มีส่วนผสมของนม เนย และไขมันทั้งพืชและสัตว์ จึงได้เริ่มทดลองทำดู ผลปรากฏเป็นที่ถูกใจของลูกค้ากลุ่มดังกล่าว เนื่องจากยังไม่เคยมีใครทำขนมปังแบบนี้มาก่อน กอปรกับใช้ต้นทุนน้อยกว่าการทำเบเกอรีทั่วไป และเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพด้วย จึงตัดสินใจหันมาทำเบเกอรีหรือขนมปังเพื่อสุขภาพอย่างเต็มตัว โดยความพิเศษของขนมปัง The Oven Farm คือผลิตมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ ปลอดภัยจากสารเคมี ไม่ใช้นม เนย ไข่ ไขมันจากพืชและสัตว์ วัตถุกันเสีย และสารเสริมคุณภาพ ที่สำคัญผลิตกันวันต่อวันแบบโฮมเมด




 
      “ยอมรับว่าตอนแรกเราไม่ได้คิดถึงโอกาสทางธุรกิจเลย มีโจทย์เข้ามาก็เลยลองทำ และกลับพบว่ายังไม่เคยมีใครทำขนมปังแบบนี้มาก่อน เลยกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ เป็นที่ต้องการของผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเลือกกินอาหาร จนเมื่อเวลาผ่านไปผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น สื่อโซเชียลต่างๆ เริ่มเข้ามา ลูกค้าของเราก็เพิ่มมากขึ้น จากคนที่ต้องกิน เพราะกินอย่างอื่นไม่ได้ ก็เริ่มเขยิบขึ้นมาเป็นคนทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องกินก็ได้ แต่อยากลองกินเพื่อดูแลสุขภาพ กลุ่มลูกค้าวัยรุ่นก็เริ่มมีมากขึ้นด้วย โซเชียลมีเดียทำให้เราสื่อสารกับลูกค้าได้มากขึ้น”

 
     ด้วยความที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ผู้มีปัญหาด้านสุขภาพเป็นหลัก ขั้นตอนในการผลิตขนมปังของ The Oven Farm จึงค่อนข้างมีรายละเอียดและข้อจำกัดมากกว่าการผลิตขนมปังธรรมดาที่มีขายทั่วไป

 
     “เพราะเราเลือกทำขนมที่ไม่เหมือนใคร จึงทำให้มีข้อจำกัดหลายอย่าง เราเลือกใช้แต่วัตถุดิบธรรมชาติ ไม่ใส่วัตถุกันบูด สารปรุงแต่งต่างๆ รวมถึงส่วนประกอบที่เป็นข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น นม เนย ไขมัน ก็เพื่อให้ได้ขนมปังที่ใครๆ ก็สามารถกินได้ ขั้นตอนกระบวนการทำเราก็เป็นแฮนด์เมดแทบจะทั้งหมด เราทำงานกัน 24 ชั่วโมงแบ่งออกเป็นกะๆ ก็เพื่อให้ได้ขนมปังที่มีคุณภาพ สดใหม่ส่งตรงถึงมือผู้บริโภค”




     แม้จะเป็นเพียงแบรนด์ขนมปังโฮมเมดเล็กๆ แต่ The Oven Farm ก็มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกกว่า 100 ชนิด และในทุกวันนี้ก็ยังคงคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มเติมออกมาอยู่เรื่อยๆ

 
     “ที่เราทำออกมาเยอะขนาดนี้ ก็เพื่อต้องการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า อาจจะดูผิดหลักการทำธุรกิจไปบ้างเพราะต้องยุ่งยากในการผลิต แต่ด้วยความที่เราทำแบบโฮมเมดเล็กๆ จึงทำให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ไม่ยาก อีกอย่างยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการซื้อด้วย ถ้าเรามี 5 รส ลูกค้าอาจเลือกแค่รสเดียว แต่ถ้าเรามี 20 รส เขาอาจซื้อสัก 2-3 ชิ้นเพื่อเอาไปลอง แต่ถึงแม้จะมีให้เลือกเยอะขนาดนี้ ก็ยังมีลูกค้าถามเข้ามาทุกวันว่าอาทิตย์นี้จะมีอะไรใหม่ไหม เป็นเหตุผลให้เราต้องลองทำออกมาเรื่อยๆ”



 
     ไธวดีกล่าวว่า The Oven Farm อาจเริ่มต้นมาจากจุดเล็กๆ มีกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่ม อาจเป็นจำนวนที่ไม่มากมาย แต่หากสามารถครองใจพวกเขาได้ จากจุดเล็กๆ ก็จะกลายเป็นจุดที่ยั่งยืนขึ้นมาได้ รวมไปถึงอาจส่งผลต่อการสร้างโอกาสเพิ่มเติมขึ้นมาในอนาคตได้ ซึ่งการรักษาคุณภาพมาตรฐาน และความจริงใจที่มีให้แก่ลูกค้าคือ สิ่งสำคัญ

 
     “ทุกวันนี้เรามีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น แต่คู่แข่งก็มีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สิ่งที่เราทำได้ไม่ใช่การโฆษณาว่าเราดียังไง กินแล้วผอม กินแล้วไม่เป็นมะเร็งนะ เรายังคงใช้วิธีสื่อสารแบบเดิมๆ ว่าเราคือ ขนมปังที่คนมีปัญหาด้านสุขภาพก็สามารถกินได้นะ หรือใครที่ไม่ได้เป็นอะไร แต่อยากกินเพื่อสุขภาพก็สามารถกินได้ ขนมปังของเราทำมาจากวัตถุดิบธรรมชาตินะ ไม่ได้ใส่สารกันบูด อาจเสียเร็ว ฉะนั้นต้องเก็บรักษายังไง เรามีกระบวนการผลิตยังไงบ้าง นี่คือ สิ่งที่เราพยายามบอกกับลูกค้ามาตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ เราต้องการทำให้โปร่งใสทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน เพราะอยากให้เขารู้ว่าเราจริงใจกับเขานะ ทุกวันนี้ยังมีลูกค้าส่งข้อความมาบอกทุกวันว่า ขอบคุณที่ทำขนมดีๆ มาให้เขากิน อย่าเพิ่งเลิกทำนะ พูดแล้วเหมือนโกหก แต่นี่คือเรื่องจริง เราจึงค่อนข้างเหมือนผูกขาดกับตลาดตรงนี้”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน