Text: ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง
ถามว่าไอเดียดีๆ จะหาได้จากที่ไหน? แนวทางหนึ่งที่ช่วยได้คือ การเดินทางออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ แล้วนำสิ่งที่พบเห็นมาต่อยอด โดยมีผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดค้นพบว่า การเดินทางทำให้ผู้คนมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนที่นั่งทำงานเฉยๆ นอกจากนี้ การเดินทางท่องโลกเพื่อหาไอเดียใหม่ๆ ยังทำให้เกิด Divergent Thinking หรือการคิดอย่างอิสระ ถึง 80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
New York จุดหมายแรงบันดาลใจธุรกิจสร้างสรรค์
ในมุมมองของกูรูนักสร้างสรรค์วงการโฆษณาและการตลาดแบบโมเดิร์น นุวีร์ เลิศบรรณพงษ์ Head of Invention บริษัท มายด์แชร์ ประเทศไทย จำกัด บอกไว้ว่า “นิวยอร์ก” คือ จุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของการออกตามหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ต้นน้ำของไอเดียธุรกิจระดับโลกถูกรวบรวมไว้ที่นี่ บทเรียน Creative Marketing นอกกฎเหล่านี้ ไม่มีในตำรา และหาไม่ได้จาก Google แต่ได้จากการเดินทางไล่ล่าไอเดียในเมืองที่เต็มไปด้วยความเท่ เก๋ และคูลในทุกตารางนิ้ว นุวีร์บอกว่า นิวยอร์กเป็นเมืองที่รายล้อมไปด้วยไอเดียธุรกิจเจ๋งๆ แหวกแนวทุกหนทุกแห่ง เพราะผู้ประกอบการที่นี่ให้คุณค่ากับไอเดียที่ต้องมาก่อน สอดคล้องกับวิถีของการทำธุรกิจยุคใหม่ที่ “คุณค่า” ต้องมาก่อน “มูลค่า” เช่น แนวคิดของธุรกิจโบรกเกอร์ขายอสังหาริมทรัพย์ที่นั่น ซึ่งให้นิยามธุรกิจใหม่ไม่เรียกตัวเองว่า“นายหน้า” แต่สร้างจุดขายเป็นอาชีพหาเนื้อคู่ให้ผู้อยู่อาศัย ซึ่งเป็นอาชีพที่จะพาคุณไปสัมผัสประสบการณ์ความสุขในที่อยู่อาศัยที่หาไม่ได้จากที่อื่น นอกจากจะต้องมีทักษะความรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างดีแล้ว คนที่เป็นนายหน้ายังต้องมีบุคลิกภาพการแต่งตัวที่ดี มีสไตล์ตั้งแต่หัวจรดเท้า มีเทคนิคในการพรีเซ้นต์กับลูกค้า
เช่นเดียวกับ Brooklyn Barber ร้านตัดผมผู้ชายในนิวยอร์กที่มีจุดขายเป็นมากกว่าช่างตัดผม แต่เรียกว่าตัวเองว่าเป็นศิลปินผู้สร้างศิลปะบนเส้นผม สื่อสารเรื่องราวผ่านภาพถ่ายในไอจีที่ดูดีมีรสนิยม ลงทุนกับการสร้างบรรยากาศในร้าน และเสื้อผ้าการแต่งตัวสุดเนี้ยบของช่างทุกคนในร้าน ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ธุรกิจส่วนใหญ่ในนิวยอร์กล้วนมีสไตล์ของตัวเอง แม้แต่ธุรกิจขนาดเล็กอย่างร้านก๋วยเตี๋ยวที่ใช้วีธีขายอย่างมีศิลปะ ไม่ใช่แค่เปิดร้าน เอาหม้อมาตั้ง เอาโต๊ะมาวาง แต่มีการสร้าง Story Telling ในความเชี่ยวชาญเรื่องเส้น ใช้วัตถุดิบจากออร์แกนิก มีความเป็นอาร์ตในการตกแต่งร้าน โดยสร้างสรรค์ภาพงานศิลปะและแฟชั่นที่ใช้ไอเดียบะหมี่มาทำเป็นเส้นผม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ใช้เงินแพง แต่ใช้ไอเดียและรสนิยม
ถึงเวลาฉีกกฎการตลาดแบบเดิมๆ
วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว ถ้ายังยึดติดกับการทำการตลาดแบบเดิมๆ หรือทำตามสูตร นั่นอาจหมายถึงหายนะ ธุรกิจรายเล็กเสี่ยงที่จะถูกกลืนโดยธุรกิจขนาดใหญ่ หากไม่สามารถสร้างจุดขายใหม่ แทรกตัวเองให้มีที่ยืนในตลาดได้ โดยยกกรณีศึกษาการตลาดนอกกฎของผู้ประกอบการรายเล็กในนิวยอร์กที่น่าสนใจอย่าง Vanmoof จักรยานแบรนด์ดังที่ไม่ง้อหลักการตลาด 4P ไม่เน้นขายหน้าร้าน ไม่มีโปรโมชัน แถมราคาขายยังไม่ถูก แต่ขายดีมาก โดยใช้ช่องทางขายออนไลน์ สร้างจุดขายผ่านการเลือกเซเลบฯ คนดัง และดีไซเนอร์ที่มีผู้ติดตามในไอจีเยอะๆ ช่วยโพสต์เรื่องราวของจักรยาน Vanmoof ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จากนั้นต่อยอดไอเดียด้วยการทำ Ambient Media นำจักรยานไปเป็นดิสเพลย์จอดตามจุดต่างๆ ทั่วนิวยอร์ก จัดกิจกรรมให้คนเข้ามาร่วมแชร์ถึงความเจ๋งของจักรยาน Vanmoof รวมถึงจับมือกับศิลปินนักออกแบบดีไซน์ลวดลายกราฟิกบนจักรยานแชร์ผลงานต่อในโลกออนไลน์เพื่อสร้างกระแส
เบื้องหลังธุรกิจไอเดียเจ๋งๆ ในนิวยอร์ก ล้วนแล้วแต่มีการสร้าง Story Telling ที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น ร้านขายรองเท้าผ้าใบที่มีเทคนิคสร้างจุดขายไม่เหมือนใคร โดยเป็นแหล่งรวบรวมรองเท้าผ้าใบดังๆ ทุกรุ่นที่เป็นที่ต้องการในตลาด โดยราคาของรองเท้าในร้านจะปรับเพิ่มขึ้นตามความนิยม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อในวันนี้จะถูกกว่า เพราะยิ่งสินค้าหายากเหลือน้อยเท่าไหร่ ราคาเมื่อมาในวันต่อๆ ไปจะยิ่งแพงขึ้น หรือตัวอย่างของไอเดียสร้างสรรค์งานออกแบบของดีไซเนอร์นิวยอร์กที่นำเอาเสื้อลายพรางของทหารผ่านศึกมาสร้าง Story ก็น่าสนใจไม่น้อย ด้วยการนำเรื่องราวความดุดันของทหารที่เสื้อแต่ละตัวเคยผ่านสงคราม จับมาผสานความอ่อนโยนของศิลปะงานปักดอกไม้จนกลายเป็นความแตกต่างในชิ้นงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
ไม่เว้นแม้แต่ร้านกาแฟดริปชื่อดังอย่าง Blue Bottle Coffee ที่ขึ้นชื่อในความพิถีพิถันตั้งแต่การคัดเมล็ดกาแฟคุณภาพขั้นเทพ ความละเมียดละไมในการดริปกาแฟสดแต่ละแก้วที่ใช้เวลาและขั้นตอน โฟกัสเฉพาะคนที่อยากดื่มกาแฟที่ได้รสชาติแท้ๆ อยากมาเป็นลูกค้าร้านนี้ต้องพร้อมที่จะรอคอยได้ นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างของร้านกาแฟ Walter's Coffee ที่มาพร้อมคอนเซปต์ห้องแล็บทดลองเคมี โดยอิงแรงบันดาลใจตัวละครวอลเตอร์ นักเคมีอาชญากรจากซีรีส์เรื่องดังอย่าง Breaking Bad
“การจะสร้างธุรกิจนอกกรอบได้ต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง Creative Content มากๆ เพราะไอเดียสำคัญที่สุด ถ้าไอเดียดี Content จะไปได้ทุกที่ ทุกสื่อ และการคิดไอเดียต้องคิดให้ถึงราก ถ้าไอเดียไม่มีราก ไม่มีที่มาที่ไปก็เหมือนกับการปลูกถั่วงอกในกระดาษทิชชู ไอเดียที่ไม่มีรากลึก ไม่มีจุดพูดที่แน่นพอ ก็จะล้มง่ายและตายเร็ว”
ท้ายที่สุด สิ่งที่กูรูนักการตลาดนอกกรอบ อยากฝากบทเรียนจากธุรกิจในนิวยอร์กถึงผู้ประกอบการไทยคือ ถึงเวลาที่เจ้าของธุรกิจต้องปรับมุมมองใหม่ว่า การทำธุรกิจยุคนี้ความคิดสร้างสรรค์ต้องมาก่อนเรื่องเงิน และต้องพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้กับไอเดียใหม่ๆ กล้าลองผิดลองถูก
“ธุรกิจของบ้านเราเวลาทำอะไรส่วนใหญ่มักจะคิดถึงเรื่องเงินเป็นหลัก แล้วอยากจะได้กำไรเยอะๆ เช่น จะเปิดธุรกิจเราจะให้คุณค่ากับการลงทุนด้านความคิดสร้างสรรค์น้อยมาก ตรงกันข้ามกับมุมคิดของผู้ประกอบการนิวยอร์กที่จะนึกถึงคุณค่าของไอเดียก่อน โดยวิเคราะห์เจาะลึกว่า ลูกค้าเป็นใคร มีรสนิยมแบบไหน เมื่อเอาความคิดสร้างสรรค์นำ จึงทำให้ธุรกิจสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไม่จำกัด” นุวีร์ย้ำถึงการทำธุรกิจในยุคนี้ที่ต้องปรับหัวคิด ในวันที่ขนาดของทุน ไม่สำคัญเท่ากับขนาดของไอเดีย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย
เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน