Text : กองบรรณาธิการ
จากจุดเริ่มเล็กๆ ในการส่งเสริมชาวเขาให้หันมาปลูกกาแฟแทนการปลูกฝิ่นในสมัยคุณปู่ของ นฤมล ทักษอุดม และเติบโตพัฒนามาสู่การทำธุรกิจกาแฟแบบครบวงจรในชื่อ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด เรียกได้ว่า ดำเนินธุรกิจตั้งแต่ส่งเสริมการปลูกกาแฟกับเกษตรกรอย่างจริงจัง รับซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกร นำมาแปรรูปคั่วกาแฟจากโรงงานที่ได้มาตรฐานและจำหน่ายไปยังร้านกาแฟสดทั่วประเทศ ปัจจุบันบริษัทมีเครือข่ายหมู่บ้านเกษตรกรในภาคเหนือประมาณ 90 หมู่บ้าน รวมถึงที่ภูเรือ จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ และตาก โดยทั้งหมดเป็นกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ส่วนกาแฟพันธุ์โรบัสต้าจะรับซื้อจากทางภาคใต้ จังหวัดชุมพร และระนอง
นับได้ว่า ฮิลล์คอฟฟ์ เป็นธุรกิจเพื่อสังคมอย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของการได้รับรางวัลในมิติโดดเด่นด้านธุรกิจเพื่อสังคม จากการประกวด SME Thailand Inno Awards 2017 โดยฮิลล์คอฟฟ์จัดเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งหวังกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มีเป้าหมายหลักเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เริ่มตั้งแต่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟระบบเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งมีระบบติดตามควบคุมไม่ให้มีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับพันธุ์กาแฟ การถ่ายทอดความรู้ด้านการเพาะปลูกและการจัดการเพื่อให้ได้ผลผลิตกาแฟที่มีคุณภาพสูง โดยบริษัทจะรับซื้อผลผลิตคืนทุกเกรดของเมล็ดกาแฟในราคายุติธรรม แล้วนำมาพัฒนาต่อยอดออกมาเป็นสินค้า
ในด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทได้ดำเนินการหลายด้านเพื่อให้กระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบบำบัดกลิ่นและควันที่ช่วยลดมลภาวะจากฝุ่นและควันของโรงคั่วสู่ชุมชน บริษัทมีการดำเนินงานในเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์อย่างจริงจังและต่อเนื่องจนได้รับฉลากทอง และขึ้นทะเบียน Carbon Footprint จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยจะสำรวจดูว่ากระบวนการผลิตในส่วนใดบ้างที่สร้างก๊าซเรือนกระจก จากนั้นก็ศึกษาหาวิธีทำให้ลดลงด้วยงานวิจัย เช่น การหาวิธีป้องกันเปลือกของเมล็ดกาแฟเชอร์รีที่เหลือทิ้งเน่าและสร้างสารพิษออกมา จนทำให้ได้ชาเชอร์รีกาแฟ สินค้านวัตกรรมใหม่ ที่สำคัญยังต่อยอดนำไปสู่การทำสารสกัดที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ คือช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลในลำไส้ ทำให้ไขมันในตับมีขนาดเล็กลง ร่างกายสามารถขับทิ้งได้ ซึ่งนอกจากจะได้นวัตกรรมแห่งอนาคตแล้ว ยังส่งผลให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ลดค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ให้บริษัทถึง 16 เปอร์เซ็นต์ และตั้งเป้าหมายที่ทำให้ทั้งกระบวนการผลิตปล่อยก๊าซคาร์บอน 0 เปอร์เซ็นต์ในอนาคต
นวัตกรรมคือการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และไม่จำเป็นต้องเกิดจากระดับผู้นำเท่านั้น แต่ควรเกิดจากพนักงานทุกระดับ โดยอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เป็นการแก้ไขเล็กๆ น้อยๆ ในทุกจุด อย่างบริษัทเองจากแต่ก่อนระดับผู้นำจะเป็นคนคิดแล้ววิ่งหางานวิจัยมาสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม แต่ปัจจุบันสามารถทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นได้จากการคิดของพนักงาน เช่น ตั้งโจทย์ให้พนักงานช่วยกันคิดว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากกล้วยตากและกาแฟได้อย่างไร สุดท้ายพนักงานสามารถแก้โจทย์นี้ด้วยนำเนื้อกาแฟสดปล่อยเข้าไปอยู่ในช็อกโกแลตขาว ซึ่งมีไขมันทำให้ช่วยกักเก็บกลิ่นและรสชาติเนื้อกาแฟสดได้ดีโดยที่ไม่มีกลิ่นช็อกโกแลตแล้วเคลือบกล้วยตากอีกที เป็นต้น
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย
เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน