กระดาษรังผึ้งลีลา ลดโลกร้อน ประหยัด รีไซเคิล

 

 
 
“ความคิดสร้างสรรค์” นับเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญในการทำธุรกิจ ยิ่งคิดได้แตกต่างก็ยิ่งมีโอกาส 
 
อรุณ เหล่ากิจการกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท โอแอนด์เอช ฮันนี่คอมบ์ เปเปอร์ จำกัด คือตัวอย่างที่ชัดเจนของผู้ประกอบการที่คิดต่างอย่างสร้างสรรค์ ด้วยไอเดียที่เกิดจากการมองเห็นช่องว่างและปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาด นำมาสู่การตกผลึกออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ “กระดาษรังผึ้งลีลา” ที่ต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างน่าสนใจ
 
“แนวคิดของเรา คือ ลดโลกร้อน ประหยัด และรีไซเคิล ปัจจุบันไม้ในเมืองไทยเริ่มหมดลง ต้องนำเข้าจากมาเลเซีย พม่า และกัมพูชา เรามองไปในอนาคตว่า ถ้าป่าไม้เริ่มหมดไป จะหาอะไรมาทดแทนได้ จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ตัวนี้ เดิมเราทำเฉพาะพาเลตกระดาษที่เป็นบรรจุภัณฑ์ ก็มาคิดว่าน่าจะเป็นอะไรได้มากกว่านั้น จึงเริ่มเอาไอเดียใส่เข้าไปใช้ต่อยอดในงานเฟอร์นิเจอร์ และการทำบู๊ธสินค้า โดยใช้กระดาษมาทดแทน ซึ่งสามารถลดต้นทุนได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์”
 
การไม่หยุดที่จะคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้กระดาษรังผึ้งลีลาได้รับรางวัลโดดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์ในครั้งนี้  อรุณกล่าวว่า กระดาษรังผึ้งเป็นนวัตกรรมใหม่ในประเทศไทย ซึ่งจุดเด่นของกระดาษรังผึ้งลีลา คือ ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายครบวงจรและเป็นดีไซน์ใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดในโลก เช่น โลงศพกระดาษในรูปแบบน็อกดาวน์ที่ทำจากกระดาษรังผึ้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งใช้เวลาในการเผาไหม้เพียง 10 นาที และสามารถย่อยสลายภายใน 7 วัน จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังสามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่ต้องการลดต้นทุนในการส่งออกด้วย
 
  “ที่ผ่านมาธุรกิจส่งออกของไทยเจอวิกฤตมาตลอด ไม่ว่าจะวิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกาและปัญหาภายในประเทศทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องลดต้นทุน ยิ่งตอนนี้ผู้ส่งออกกำลังเจอปัญหาอีกอย่าง คือการโดนเรียกเก็บค่าทำลายบรรจุภัณฑ์จากต่างประเทศ แต่บรรจุภัณฑ์ของเราไม่โดนเรียกเก็บ เพราะเอาไปรีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ก็ช่วยลดต้นทุนได้”
 
สำหรับแนวทางการทำตลาดของกระดาษรังผึ้งลีลานั้น อรุณบอกว่าในช่วงแรกเขาจะเน้นไปที่การทำตลาดเชิง CSR ในเรื่องของการบริจาคและการให้ความรู้ควบคู่กัน รวมไปถึงวิธีการตลาดแบบไดเร็กเซลส์ หรือขายตรงให้กับโรงงานผู้ผลิตสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มีกำไรค่อนข้างสูงและต้องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเปลี่ยนจากเดิมที่ใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติกที่มีราคาแพง อรุณจึงเข้าไปทำตลาดด้วยกลยุทธ์ที่เน้นราคาถูกกว่ากระดาษรังผึ้งที่นำเข้าจากต่างประเทศ และตั้งเป้าขยายตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศในอนาคต
 
“แนวโน้มตลาดในอนาคตน่าจะโตขึ้น เพราะตลาดส่วนใหญ่จะมุ่งแต่อุตสาหกรรม ยังไม่ได้ใส่ในเรื่องของดีไซน์หรือไอเดียเข้าไป ผมเลยมามองว่าถ้าหากเราใส่ไอเดียเข้าไป สามารถต่อยอดธุรกิจได้อีก ยิ่งเป็น SME แล้ว เราหยุดคิดไม่ได้ เราจึงพยายามพัฒนาในส่วนของโปรดักต์ใหม่ๆ ซึ่งผมเชื่อว่าในเอเชียตอนใต้ยังไม่มีใครทำในเรื่องของเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากกระดาษรังผึ้ง ซึ่งเป็นวัสดุที่ช่วยลดต้นทุนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
 
อรุณฝากคำแนะนำทิ้งท้ายว่า ความคิดสร้างสรรค์หรือไอเดียใหม่ๆ เป็นสิ่งจำเป็นมากในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะ SME หากรู้จักต่อยอดจากโปรดักต์เดิมที่มีอยู่แล้ว โดยใส่ไอเดียเข้าไป จากสินค้าธรรมดาก็สร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ความคิดสร้างสรรค์ยังช่วยให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถเปิดตลาดออกไปอีก การคิดใหม่แบบ Big Idea จึงนับเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้กระดาษรังผึ้งลีลาประสบความสำเร็จในวันนี้
 

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน