เอิร์ธบอร์น เปิดแนวคิดสร้างมูลค่าเพิ่ม แทนลดต้นทุน

 

 
 
ความสำเร็จจากการมุ่งมั่นสร้างนวัตกรรมใหม่ให้แก่น้ำมันมะพร้าว โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกต่างๆ ซึ่งไม่เพียงเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรอย่างมะพร้าวไทย แต่ยังนำส่วนที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาเพิ่มคุณค่าในเชิงธุรกิจ 
 
“จากราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ผันผวนตามสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิต เราจึงต้องพยายามทำให้มีของเสียจากกระบวนการผลิตน้อยที่สุด เพราะที่ผ่านมาในการผลิตน้ำมันมะพร้าว จะมีวัตถุดิบที่เหลือจากกระบวนการผลิตจำนวนหนึ่ง แต่แทนที่จะขายในรูปแบบของเสีย เราเอามาแปรรูปให้เป็นสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้มากกว่าการไปลดเงินเดือนพนักงาน หรือการกดราคาวัตถุดิบจากเกษตรกรเสียอีก การทำธุรกิจสมัยใหม่จึงต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่ไปลดต้นทุน เพราะการลดต้นทุนด้วยวิธีการแบบนั้น สุดท้ายก็จะกระทบมาถึงเราที่เป็นผู้ผลิต”
 
พิสิษฐ์ วีระไวทยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอิร์ธบอร์น จำกัด กล่าวถึงที่มาของแนวคิดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยในการเริ่มต้นธุรกิจของพิสิษฐ์นั้น เขาเริ่มจากการผลิตน้ำมันมะพร้าวธรรมชาติบริสุทธิ์ ซึ่งพิสิษฐ์มองเห็นโอกาสในการทำตลาดสินค้าประเภทนี้ โดยอาศัยช่องว่างจากการเป็นผู้บุกเบิกตลาดรายแรก ถึงแม้จะมีเงินทุนไม่มาก แต่จุดแข็งของเขาคือการมีแหล่งวัตถุดิบและพื้นที่ตั้งโรงงานเป็นของตัวเอง
 
“ในการผลิตสินค้าอะไรก็ตาม คนส่วนใหญ่จะมองแค่การตลาด แต่เราก็ต้องคำนึงถึงเรื่องการผลิตด้วย เพราะถึงแม้จะทำการตลาดดี แต่ถ้าหากไม่มีวัตถุดิบให้ผลิตสินค้า เราก็ขายไม่ได้ พืชผลทางการเกษตรอย่างอื่นอาจจะมีเป็นฤดูกาล แต่มะพร้าวนั้นให้ผลผลิตเกือบตลอดทั้งปี และมีพื้นที่เพาะปลูกในเมืองไทยจำนวนมาก นั่นหมายความว่า เราสามารถมีวัตถุดิบรองรับในการผลิตหากตลาดของเราขยายในอนาคต”
 
ด้วยการวางแผนงานธุรกิจที่ดี ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากมะพร้าวของเอิร์ธบอร์นมียอดส่งออกเป็นอันดับต้นๆ และจากประสบการณ์การทำตลาดในต่างประเทศนี่เอง ทำให้พิสิษฐ์เห็นว่าผู้บริโภคต้องการทางเลือกใหม่ๆ อย่างสินค้าประเภท Non-Dairy Product หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของนมเพิ่มขึ้น จึงออกผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตพร้อมดื่มจากมะพร้าว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด พร้อมวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มจากหางกะทิ ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจากการผลิตน้ำมันมะพร้าวธรรมชาติของบริษัท เพื่อลดภาระในการกำจัดของเสียที่เป็นต้นทุนในการผลิต
 
“ตอนแรกเราตั้งเป้าหมายการเป็น Zero-Waste Manufacture ที่ผลิตแล้วออกมาไม่มีของเสีย ซึ่งเราสามารถทำได้แล้ว เป้าหมายต่อไปของเราคือ ทำการตลาดสินค้าอย่างเต็มที่เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักและเข้าใจสินค้ามากขึ้น ในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เราจะต่อยอดจากอาหารเพื่อสุขภาพ ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้านความงามเพิ่มขึ้น”
 
นอกจากนี้ พิสิษฐ์ยังวางแผนทำตลาดโดยการเปิดร้านจำหน่ายสินค้าเป็นของตัวเอง โดยเน้นเจาะตลาดกลุ่มผู้รักและใส่ใจในการดูแลสุขภาพ และเน้นการสร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น โดยการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพดีที่สุด แม้จะพัฒนาช้าและใช้เวลานาน แต่พิสิษฐ์เชื่อว่าสุดท้ายผู้บริโภคจะมองเห็นความตั้งใจอย่างแน่นอน
 
เคล็ดลับความสำเร็จของเอิร์ธบอร์น จึงไม่ใช่แค่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า แต่รวมถึงการพัฒนาคุณภาพให้ดีที่สุดด้วย
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน