Text : กองบรรณาธิการ
บริษัท ไทยมารีนโพรเทคชั่น จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2551 โดยนาวาโท ดร.พินัย มุ่งสันติสุข ซึ่งได้ลาออกจากงานราชการทหารเรือ มามุ่งสู่โลกของธุรกิจ เนื่องจากมองเห็นช่องว่างจากการที่ประเทศไทยขณะนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีด้านป้องกันสนิมที่ทันสมัย หากย้อนกลับไปก่อนจุดเริ่มต้น ดร.พินัยในขณะนั้นยังรับราชการทหารเรือ มักพบปัญหาเรือเกิดสนิม จึงมีการร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมาป้องกันการเกิดสนิมเพื่อมาใช้ในกองทัพ และจากจุดนี้เองที่ทำให้เห็นว่าโอกาสมีมหาศาล เพราะถ้าดูจากมูลค่าความเสียหายจากการเกิดสนิมในประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม จะพบว่ามีมูลค่าเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 4.6 แสนล้านบาท หรือประมาณ 4.8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่กลับยังไม่มีผู้เล่นคนไทยในตลาดนี้ เขาจึงได้มีการพัฒนาต่อยอดออกไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ได้นวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า Sacrificial Anodes หรือผลิตภัณฑ์โลหะกันกร่อนนั่นเอง ด้วยความโดดเด่นของนวัตกรรมที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนในประเทศไทย ทำให้ไทยมารีนโพรเทคชั่น คว้ารางวัล The Best SME Thailand Inno Awards 2017 ไปครอง
สำหรับนวัตกรรม Sacrificial Anodes เป็นการป้องกันสนิมแบบแคโทดิก (Cathodic Protection) ของโครงสร้างโลหะประเภทต่างๆ เช่น เรือเดินสมุทร ท่าเทียบเรือ โรงไฟฟ้า แท่นขุดเจาะน้ำมัน และโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นต้น ซึ่งหลักการทำงานง่ายๆ ของนวัตกรรมดังกล่าวนี้ คือ ตัวโลหะกันกร่อนนี้จะยอมเป็นสนิมแทนเหล็กนั่นเอง จึงเป็นที่มาของชื่อ Sacrificial Anodes ซึ่งหมายถึง การเสียสละตัวเอง ทั้งนี้ จริงๆ แล้วสาเหตุของการเกิดสนิมมาจากการที่เหล็กสูญเสียอิเล็กตรอน แล้วไปทำปฏิกิริยากับสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศ ความชื้น ฯลฯ จนเกิดเป็นสนิมในที่สุด ซึ่งวิธีป้องกันที่นิยมทำกันคือ การทาสี เพื่อไม่ให้อิเล็กตรอนสัมผัสกับอากาศ ดังนั้น นวัตกรรม Sacrificial Anodes ที่ถูกนำมาใช้ติดกับเหล็กจะทำหน้าที่จ่ายกระแสผ่านตัวกลาง ไม่ว่าจะเป็น น้ำทะเล ใต้ดิน หรือปูน เพื่อให้เกิดการสูญเสียอิเล็กตรอนจึงทำให้ตัวเองเกิดสนิมแทนนั่นเอง อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน Sacrificial Anodes ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า จากเดิมที่เริ่มต้นกับลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ที่เป็นเรือ ต่อมาได้ขยายไปสู่กลุ่มงานอุตสาหกรรม และกลุ่มพลังงาน เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ถึงวันนี้ 9 ปีที่แล้วที่ไทยมารีนโพรเทคชั่นอยู่ในตลาดผลิตภัณฑ์ป้องกันสนิม แม้จะเห็นว่าในตลาดมีโอกาสมากมาย แต่กลับมีผู้เล่นในตลาดนี้น้อยมาก ดร.พินัยบอกว่า ที่เป็นเช่นนี้อย่างแรกคือ การผลิตนวัตกรรมประเภทนี้จำเป็นต้องใช้วัสดุที่มีคุณภาพสูงมาก อีกทั้งระบบการผลิตก็มีความซับซ้อนและต้องควบคุมมาตรฐานได้ และที่สำคัญที่สุดคือ ความเชื่อมั่นของลูกค้า กว่าที่บริษัทยักษ์ใหญ่จะเลือกใช้บริการจากไทยมารีนโพรเทคชั่นก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์คุณภาพอยู่นานหลายปี ดังนั้น ผู้เล่นหน้าใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดนี้จึงไม่ง่าย ซึ่งภายใต้ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นที่ยอมรับของลูกค้า หัวใจสำคัญมาจากการที่บริษัทใช้นวัตกรรมเป็นตัวนำ เพราะในมุมมองของ ดร.พินัยที่เชื่อว่า นวัตกรรมจะเป็นตัวเปลี่ยนเกม จากผู้ตามกลายเป็นผู้นำได้ หรือแม้แต่เป็นผู้นำที่ยากจะมีผู้ตามก็ได้เช่นกัน ฉะนั้นนวัตกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ สำหรับ SME เพราะการที่จะนำหน้าคนอื่นได้ เราต้องมีสิ่งที่คนอื่นไม่มี และสิ่งนั้นต้องตอบโจทย์ลูกค้าได้ด้วย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย
เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน