THAS นวัตกรรมไม้คอร์ก สู่ของแต่งบ้านร่วมสมัย

Text : ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง
Photo : กฤษฎา ศิลปไชย


     ความโดดเด่นของชิ้นงานโคมไฟ “เสน่หา” (SANEHA) ที่จับเอาวัสดุไม้คอร์กธรรมชาติ มาบิดดัดเป็นรูปทรงพลิ้วไหวได้อย่างน่าทึ่ง สร้างเสน่ห์ชวนค้นหาให้กับแบรนด์ THAS และชื่อของ พุฒิพงศ์ ทัศนมานะ ฉายแววโดดเด่นในวงการนักออกแบบ พร้อมเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดีว่า ไม่จำเป็นต้องร่ำเรียนมาโดยตรงด้านดีไซน์ออกแบบ หรือจบหลักสูตรบริหารธุรกิจจากที่ไหน อดีตมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งก็สามารถสร้างและเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีสไตล์เป็นของตัวเองได้ ขอเพียงมีต้นทุนสำคัญที่เรียกว่า “พรแสวง” และ “ใจรัก”





    พุฒิพงศ์เล่าว่า ระหว่างทำงานประจำนั้น ด้วยใจรักอยากทำธุรกิจ จึงใช้เวลาวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ฝึกฝนฝีมือทำสินค้าเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น สมุดโน้ตไปวางขาย ขณะเดียวกันก็ได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวไอเดียใหม่ๆ ไปในตัว ได้เดินดูร้านวัสดุต่างๆ ในแต่ละย่าน จนในที่สุดเมื่อถึงจุดอิ่มตัวจากงานประจำ จึงลาออกมาสร้างธุรกิจของตัวเอง โดยเบื้องหลังแรงบันดาลใจในการเลือกนำวัสดุไม้คอร์กมาเป็นโจทย์ตั้งต้นในการสร้างสรรค์ธุรกิจออกแบบ มีที่มาจากการได้มีโอกาสดูสารคดีต่างประเทศที่เล่าถึงเรื่องราวกรรมวิธีผลิตไม้คอร์ก
               

“ไม้คอร์กเป็นวัสดุที่เราเคยเห็นคุ้นเคยกันทั่วไปอยู่แล้วจากจุกขวดไวน์ หัวลูกขนไก่ แต่พอได้รู้ที่มาที่ไปว่าทำมาจากอะไร ทำให้ผมเริ่มมีความสนใจในวัสดุตัวนี้ ซึ่งมีความโดดเด่นในด้านเป็นวัสดุหมุนเวียนจากธรรมชาติที่ได้จากเปลือกไม้ของต้นโอ๊ก โดยลำต้นจะมีวงจรสร้างเปลือกขึ้นมาใหม่ทดแทนได้ภายใน 10 ปี ข้อดีของไม้คอร์กคือ โดนน้ำได้ สามารถแห้งด้วยตัวเอง และไม่มีเชื้อรา”




     ความโดดเด่นของวัสุดไม้คอร์ก ทำให้พุฒิพงศ์มองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ในการพัฒนางานออกแบบของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนในตลาด โดยใช้เวลาถึง 2 ปี ในการศึกษา ค้นคว้า และทดลองเล่นกับวัสดุตัวนี้ เพื่อเอาชนะก้าวข้ามข้อจำกัดของ “ไม้คอร์ก” พัฒนาโนว์ฮาว เทคนิคการผลิตขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเอง
               

    “ช่วงนั้นไม้คอร์กจะอยู่ในห้องทำงาน อยู่ข้างตัวผมตลอด เดินไปทางไหนก็เห็นแต่ไม้คอร์ก คิดในหัวตลอดว่า จะจับให้บิดให้โค้งยังไง รูปร่างถึงจะไม่คืนตัว หรือฉีกตัว แล้วจะเอามาทดลองกับอะไรได้บ้าง ผสมผสานกับอะไรได้บ้าง”





    เจ้าของไอเดียของแต่งบ้านจากไม้คอร์ก เล่าถึงบรรยากาศการทำงานช่วงนั้นซึ่งเหมือนอยู่ในห้องทดลอง แทบจะหายใจเข้า-ออกเป็นไม้คอร์ก เพื่อคิดค้นพัฒนาโนว์ฮาวก้าวข้ามข้อจำกัดในงานออกแบบ รวมถึงสร้างบทพิสูจน์ในด้านความทนทานเมื่อใช้งานจริง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า โดยระหว่างนั้นรายได้ทางหนึ่งมาจากทำสินค้าของใช้ชิ้นเล็กๆ จากไม้คอร์ก ซึ่งใช้เงินลงทุนไม่มาก เช่น เคสใส่ไอโฟน และขาตั้งเก็บต่างหู วางขายตามตลาดนัดคอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ
               

    ผลจากความพยายามนั้น ทำให้เกิดชิ้นงานดีไซน์เก๋ขึ้นมา อย่างโคมไฟ “เสน่หา” ที่เกิดจากความประทับใจระหว่างการดูงานแฟชั่นที่สายตาสะดุดกับชุดด้านหลังของผู้หญิงที่มีเส้นสายพลิ้วไหว จนนำมาสู่แรงบันดาลใจสร้างสรรค์โคมไฟ 1 ฟอร์ม1 รูปทรงแต่สามารถเลือกปรับใช้ได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน หรือผลงานโคมไฟ OMOIDE ซึ่งแปลว่า “ความทรงจำ” เกิดจากแรงบันดาลใจของการได้เดินทางไปเห็นความเป็นเอกลักษณ์ ความโดดเด่นของ Karahafu โครงสร้างสถาปัตยกรรมด้านประเพณีในญี่ปุ่น ที่พบเจอได้ทั้งตามประตูทางเข้า คานไม้ หลังคาหน้าจั่วของวัด ศาลเจ้า ปราสาทและพระราชวัง เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงนำไอเดียมาประยุกต์สู่งานออกแบบที่สื่อถึงความทรงจำผ่านคำว่า OMOIDE
            

    จะเห็นได้ว่า การนำวัสดุไม้คอร์กมาสร้างสรรค์งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านได้อย่างมีเอกลักษณ์เหล่านี้ เป็นผลลัพธ์จากการคิดค้นเทคนิคเฉพาะตัวในการบิด ดัด โดยอาศัยหลักการวิทยาศาสตร์ เช่น แรงโน้มถ่วงของโลก มาสร้างรูปทรงของโคมไฟจากไม้คอร์กที่ดูพลิ้วไหวตามธรรมชาติแต่ยังคงรูป โดยพุฒิพงศ์ให้นิยามความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ดีไซน์ไม้คอร์กแบรนด์ THAS ว่า เป็นการนำหลักการของ “วิถี” มาบวกเข้ากับ “วิธี”
       
        

    

    คำว่า “วิถี” หมายถึงเอกลักษณ์ของงานคราฟต์ที่ต้องใช้ทักษะความเป็นช่างฝีมือของคนในชุมชนบ้านเกิดอย่างพิษณุโลกเป็นฐานการผลิต โดยพุฒิพงศ์ใช้วิธีการถ่ายทอดทักษะงานทำมือสร้างรายได้ให้กับเด็กๆ ในท้องถิ่นที่เป็นคนบ้านเดียวกัน ส่วนคำว่า “วิธี” หมายถึงการนำเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรม เมื่อผสมผสานระหว่างความเป็น “วิธี” กับ “วิถี” จึงกลายเป็นงานคราฟต์ที่มีความร่วมสมัย สร้างความโดดเด่นเฉพาะตัวที่แตกต่างจากงานดีไซน์ของต่างประเทศที่มีกรรมวิธีเน้นหนักไปทางอินดัสเทรียล
               

    ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ THAS แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ สินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ได้แก่ โคมไฟ และสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ เช่น บอร์ดไม้คอร์ก และที่รองแก้ว ข้อดีของการทำธุรกิจโดยใช้จุดแข็งความแตกต่างของวัสดุด้วยเทคนิคใหม่ๆ พ่วงด้วยจุดขายการเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่ใช้กระบวนการ Upcycle มาเพิ่มมูลค่าและคุณสมบัติให้กับวัสดุหมุนเวียนธรรมชาติอย่างไม้คอร์ก ช่วยสร้างโอกาสให้กับแบรนด์น้องใหม่สามารถแทรกตัวเข้าสู่ตลาด
               

     ธุรกิจแบรนด์ THAS ของพุฒิพงศ์เริ่มก้าวกระโดดเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) มาเห็นความโดดเด่น และผลักดันให้ผลงานของแบรนด์ THAS ได้เข้าร่วมอยู่ในทำเนียบห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ Material Connexion ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลวัสดุที่น่าสนใจและมีนวัตกรรมใหม่ๆ ระดับโลก

               



    “ถ้าทำสินค้าโดยใช้วัสดุเดิมเหมือนในท้องตลาด สิ่งที่ต้องเจอคือการแข่งขันกับโรงงานอื่นที่อาจจะมีทุนมากกว่า แนวทางของผมจึงมุ่งไปที่การใช้วัสดุใหม่ คิดค้นโนว์ฮาวขึ้นมาด้วยตัวเอง ช่วยให้เราไม่ต้องเหนื่อยมากนักกับการแข่งขัน”
               

    ทิศทางต่อไปของแบรนด์ THAS จึงชัดเจนกับการสร้างงานดีไซน์ในแบบฉบับของตัวเอง โดยนอกจากโนว์ฮาวในด้านการบิด การดัด ไม่ให้ฉีกตัวหรือคืนรูปทรง พุฒิพงศ์ยังทดลองต่อยอดเทคนิคการผลิตไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ทั้งการทดลองนำวัสดุอื่นๆ มาผสมผสานกับไม้คอร์ก รวมถึงการย้อมสีไม้คอร์กด้วยสีธรรมชาติให้มีสีสันหลากหลายถึง 8 เฉดสี ช่วยเพิ่มเสน่ห์และความแตกต่างให้กับชิ้นงานและเพิ่มโอกาสการทำตลาดใหม่ๆ ให้กับธุรกิจด้วย
 
             
    เรื่องราวของแบรนด์ THAS นับเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างของธุรกิจเล็กๆ ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าความกล้าทำอะไรแปลกใหม่ ยังคงนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจได้เสมอ 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน