KEEEN นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม

 

 
“ในอนาคตการแข่งจะสูงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปิด AEC ตลาดสินค้าประเภทซื้อมาขายไป พื้นที่จะน้อยลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วจะเจอปัญหาเรื่องของสงครามราคา ฉะนั้น สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้ จะต้องมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดความแตกต่าง” 
 
วสันต์ อริยพุทธรัตน์ ประธานบริหาร บริษัท ไฮกริม เอ็นไวรอนเมนทอล แอนด์ รีเสิร์ช จำกัด กล่าวถึงการที่ผู้ประกอบการธุรกิจจำเป็นต้องมีนวัตกรรมเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยิ่งหากนวัตกรรมนั้นสามารถช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ดี จึงนำมาสู่พัฒนานวัตกรรมไบโอเทคโนโลยีจนได้ “สารชีวบำบัดภัณฑ์” (Bioremediation Agent) ภายใต้ชื่อ KEEEN ขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ของธุรกิจภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายที่แฝงอยู่ในกระบวนการผลิต รวมทั้งสามารถช่วยบำบัดของเสียก่อนปล่อยคืนสู่สิ่งแวดล้อม
 
“เราใช้เวลาในการศึกษาลองผิดลองถูกอยู่นานร่วม 10 ปี โดยร่วมกับไบโอเทค และ สวทช. คิดค้นปรับปรุงนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ จนกระทั่งได้สูตรที่เหมาะสมและออกมาเป็นชีวบำบัดภัณฑ์ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษในการขจัดคราบน้ำมันและคราบสิ่งสกปรกที่กำจัดยากในอุตสาหกรรมได้อย่างครบวงจร โดยสามารถทั้งขจัด บำบัด และเยียวยาเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกในไทยและเอเชียที่สามารถพัฒนานวัตกรรมนี้มาใช้กับอุตสาหกรรมได้จริง”
 
ในมุมมองของวสันต์ นวัตกรรมจะต้องเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน และ KEEEN เป็นนวัตกรรมสีเขียว ที่ให้ความสำคัญกับการมองลึกลงไปมากกว่าแค่คำว่า “กรีน” เพียงผิวเผิน นอกจากเป็นสิ่งใหม่ มีประโยชน์ มีคุณค่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังตอบโจทย์ทั้งผู้ประกอบการผลิตที่ต้องการลดต้นทุนในการบำบัดน้ำเสียในภาคอุตสาหกรรม และผู้บริโภคทั่วไปที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย
 
นอกจากนี้ วสันต์มองว่าในปัจจุบันนวัตกรรมไม่ได้คิดค้นออกมาเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่ควรจะมองเป็นแบบมาร์เก็ตติ้ง 3.0 เป็นนวัตกรรมเชิงคุณค่า คือไม่ใช่แค่นวัตกรรมเพื่อตัวบริษัทหรือองค์กรธุรกิจ แต่เพื่อสังคม เพื่อส่วนรวม และเพื่อมวลมนุษยชาติด้วย จากแนวคิดดังกล่าว บวกกับกระแสการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Business การคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมจึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทยทางอ้อม
 
“KEEEN ออกเสียงเหมือนคำว่า KEEN ที่แปลว่า ดูแลเอาใจใส่ซึ่งเป็นความหมายที่ดี แต่จริงๆ แล้วชื่อของเรามาจากภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่าทองคำ เรามองว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมนี้จะไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรและธุรกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมส่งออกที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสกรีนเทคโนโลยี ก็เหมือนกับเราให้สิ่งที่มีค่ากับผู้บริโภค”
 
แม้ KEEEN จะมีข้อจำกัดเพราะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทำให้ต้องพยายามทำการตลาดในเชิงกลยุทธ์แบบ CEM (Customer Experience Management) เพื่อให้ลูกค้าใช้แล้วเกิดการบอกต่อกันไป และนอกจาก CEM แล้ว การใช้กลยุทธ์การตลาดแบบกรีนมาร์เก็ตติ้ง โดยชูการใช้นวัตกรรมอย่างกรีนเทคโนโลยีเป็นจุดขาย นับเป็นการเปิดประตูให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมไทยสามารถก้าวเข้าไปแข่งขันในธุรกิจสีเขียวกับต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
ตราบใดที่ผู้ประกอบการไม่หยุดนิ่งในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ โอกาสแห่งความสำเร็จก็ยังคงมีอยู่เสมอ
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน