Text: ไศลธร เหมะสิขัณฑกะ
งานวิจัย Pulse of the Online Shopper โดยบริษัท UPS ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ระดับแถวหน้าของโลก เปิดเผยถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่ผู้ประกอบการ SME ควรรู้ โดยระบุว่า การสรุปรวมราคาเบ็ดเสร็จพร้อมค่าขนส่ง และระยะเวลาการจัดส่งที่ชัดเจนคือปัจจัยที่ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจมากที่สุด
แมท ฮันนา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ยูพีเอส เอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า 73 เปอร์เซ็นต์ของนักช็อปออนไลน์ ต้องการเห็นราคาพร้อมค่าขนส่ง ที่สรุปรวมเบ็ดเสร็จ เรียกว่า Landed Cost หรือราคาประเมินต้นทุนนำเข้าซึ่งรวมตั้งแต่ราคาสินค้า ค่าประกันการเดินทาง และค่าขนส่งสินค้า ค่าภาษีศุลกากร และต้องการรู้ว่าสินค้าจะจัดส่งถึงเมื่อไหร่ หากไม่มีความชัดเจนในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ก็มีโอกาสสูงที่ผู้บริโภคจะยกเลิกการสั่งซื้อได้ โดย 89 เปอร์เซ็นต์ของนักช็อปออนไลน์ต้องการรู้เวลาที่แน่นอนว่าสินค้าที่สั่งจะจัดส่งถึงมือในระยะเวลาเท่าไหร่ ขณะที่ 60 เปอร์เซ็นต์ของนักช็อปออนไลน์จะตัดสินใจยกเลิกการสั่งซื้อเมื่อเห็นว่าไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนตายตัวว่าสินค้าจะมาส่งถึงมือภายในกี่วัน หรือแจ้งระยะเวลาแต่นานเกินกว่าที่ลูกค้าจะรอได้ ซึ่ง UPS มีโซลูชั่นที่สามารถตอบโจทย์ในข้อนี้ได้ ไม่ว่า SME จะเป็นออนไลน์หรือร้านค้าปลีกแบบมีหน้าร้าน
“ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าของเราเป็นผู้ค้าออฟไลน์ที่ไม่มีเว็บไซต์ของทางร้านจะใช้วิธีสั่งซื้อทางโทรศัพท์ ผู้ขายสามารถเข้าไปในระบบของ UPS เพื่อตรวจเช็คได้ว่าสินค้าจะส่งถึงภายในระยะเวลาเท่าใด ส่วนลูกค้า SME ที่เป็นร้านค้าออนไลน์เราก็มีเครื่องมือแบบปลั๊กอินติดตั้งลงบนเว็บไซต์ของร้านให้ลูกค้าสามารถเช็คได้ทันทีว่าสินค้าจะส่งถึงภายในกี่วัน ทั้งนี้ โซลูชั่นที่จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ SME ทำงานได้ง่ายขึ้นเรียกว่า UPS TradeAbility ซึ่งให้บริการแบบออนไลน์ นอกจากนี้ในเรื่องของการรู้ระยะเวลาการจัดส่งที่แน่นอนนั้น UPS มีทางออกมาแนะนำให้ SME เลือกได้หลายทาง เช่น การส่งอีเมล์ตรงถึงผู้รับพร้อม Tracking Number ให้ผู้รับสามารถติดตามได้ทันที หรือส่งอีเมล์ให้กับ SME เพื่อแจ้งว่าของอยู่ที่จุดไหนอย่างไร เป็นต้น หรือถ้าเป็นผู้ประกอบการที่มีหน้าร้านออนไลน์ก็สามารถใช้ API ผนวกเข้าไปในเว็บไซต์ของตนเองได้เลย ดังนั้น เมื่อลูกค้าต้องการติดตามสถานะการส่งสินค้าก็สามารถทำได้เองโดยตรง”
จุดเด่นอีกประการของโปรดักส์ตัวนี้ คือการช่วยให้ SME สามารถจัดการกับข้อมูลราคาภาษีต่างๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพดานภาษีซึ่งน่าตกใจมากว่า SME จำนวนมากยังไม่เข้าใจถึงเรื่องนี้ แมท กล่าวว่า ปัจจัยเรื่องของเพดานภาษีเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำการตลาดแบบ Cross Border (การค้าระหว่างประเทศ) ซึ่งข้อมูลของเพดานภาษีจะสร้างประโยชน์ให้กับ SME ได้เป็นอย่างมาก ซึ่งเกณฑ์ขั้นต่ำในการผ่อนปรน (De Minimis) จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา กล่าวคือ De Minimis จะเป็นเหมือนเพดานที่ระบุว่าสินค้าที่ส่งไปยังประเทศใดมีราคาไม่เกินเท่าไหร่จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ทำให้มีธุรกิจมากขึ้นที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง ส่วน SME เมื่อมีข้อมูลของเพดานภาษีแล้วที่เหลือคือการจะเจาะเข้าไปยังตลาดประเทศเหล่านี้อย่างไร ขึ้นอยู่กับไอเดียของ SME แต่ละรายนั่นเอง
“ที่น่าตกใจคือ ผู้ประกอบการจำนวนมากยังไม่รู้หรือเข้าใจในเรื่องของ De Minimis ดังนั้น UPS จึงมีเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถไล่ตามข้อมูลเหล่านี้ได้ทัน ทั้งนี้ UPS พบว่าสิ่งที่เป็นความยากและท้าทายสำหรับ SME ในการทำตลาดระหว่างประเทศ คือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดศุลกากรของประเทศต่างๆ ซึ่งมักจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนั้น UPS TradeAbility จึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วย SME ในเรื่องนี้ได้ เมื่อลูกค้ากรอกข้อมูลว่าต้องการส่งสินค้าใดก็จะได้รับรหัสอัตราภาษีอากร บอกเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายภาษีต่างๆ ให้ผู้ประกอบการระบุโค้ดดังกล่าวลงไปในเอกสารสำหรับการส่งออก นอกจากนี้ระบบของ UPS TradeAbility ยังสามารถช่วยประเมินได้ว่าค่าภาษีจะเป็นเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับต้นทางและปลายทางของสินค้า ประโยชน์ที่ SME จะได้รับคือ เมื่อ SME มั่นใจว่าจะไปตลาดประเทศนี้และมีข้อมูลต่างๆ มาพอสมควร แต่ยังขาดในเรื่องของภาษีต่างๆ SME ก็เข้ามาใช้เครื่องมือนี้ ใส่ข้อมูลแล้วดูว่าค่าภาษีจะเป็นเท่าไหร่ได้”
แมท กล่าวต่อว่า เหตุผลที่ทำให้ UPS มีความสนใจใน SME มากเป็นพิเศษและต้องการให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SME เนื่องจาก UPS ก็มีจุดเริ่มต้นจากการเป็น SME มาก่อนเช่นกัน โดย UPS มีจุดเริ่มต้นจากบริษัทเล็กๆ ที่ทำธุรกิจส่งเอกสารด้วยจักรยานในซีแอทเติ้ล วอร์ชิงตัน จนปัจจุบันกลายเป็น Multinational Corporation หรือ MNC ให้บริการมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก แต่คนทั่วไปมักไม่รู้ว่า UPS เริ่มต้นจากการเป็น SME มาก่อน
นอกจากนี้ UPS ยังมองว่า SME เป็นตลาดที่มีการเติบโต จึงอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเติบโตนี้ อีกทั้งรัฐบาลไทยเองก็มีนโยบายที่จะสนับสนุน SME เช่นกัน โดยรัฐบาลตั้งเป้าว่าภายในปี 2563 รายได้ครึ่งหนึ่งของ GDP จะต้องมาจาก SME ทั้งนี้ UPS ต้องการที่จะแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีให้กับ SME ที่ต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ขึ้น โดยองค์ความรู้ดังกล่าว UPS ได้รวบรวมมาจากการคลุกคลีกับลูกค้าทั่วโลกมาตลอดเวลาหลายสิบปี อย่างกลุ่มที่เป็นผู้ค้าออฟไลน์ไม่มีเว็บไซต์ของทางร้านจะใช้วิธีการสั่งซื้อทางโทรศัพท์ผู้ขายสามารถเข้าไปในระบบของ UPS เพื่อเช็คได้ว่าสินค้าจะส่งถึงภายในระยะเวลาเท่าใด ส่วนลูกค้าออนไลน์ก็จะมีเครื่องมือแบบปลั๊กอินติดตั้งลงบนเว็บไซต์ของร้านให้ลูกค้าสามารถเช็คได้ทันทีว่าสินค้าจะส่งถึงภายในกี่วัน
“UPS ต้องการแชร์เรื่องราวของเราให้ SME ได้นำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจ หัวใจสำคัญที่เรายึดถือคือ ต้องรู้ว่าตลาดมีการเปลี่ยนแปลงและมีการเติบโต เราจะต้องเติบโตตามอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่ทำให้ UPS รู้สึกยินดีอย่างยิ่งคือการที่เราไม่ได้แชร์เฉพาะองค์ความรู้ แต่ยังมีในเรื่องของโซลูชั่นให้ SME สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้”
นี่คือส่วนหนึ่งของบริการ Digital Logistics จาก UPS ที่กล่าวได้ว่าเป็นบริการจาก SME เพื่อ SME นั่นเอง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี