ยกระดับ OTOP เป็น OnTOP ต่อยอดธุรกิจชุมชนสู่ตลาดโลก

 


             กระทรวงพาณิชย์ พร้อมสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบธุรกิจโอทอปไทยก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น เตรียมยกระดับธุรกิจโอทอปให้เป็นธุรกิจออนทอป ขยายช่องทางการตลาดให้มีความหลากหลาย สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด สนองรับนโยบายรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy)


             นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยถึงการดำเนินงานตามแนวนโยบายประชารัฐด้วยเป้าหมายการสร้างเศรษฐกิจฐานราก คือ การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน สร้างความเป็นอยู่ที่ดี สามารถประกอบอาชีพและผลิตสินค้าหรือบริการที่มีมูลค่าเพิ่มก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคง และเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชน เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์โอทอปที่มีศักยภาพและได้รับการคัดเลือกเป็นโอทอปซีเล็กซ์ (OTOP Select) กว่า 1,500 รายการ ให้สามารถเข้าสู่ตลาดได้ในเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน


 
             สำหรับแนวทางการพัฒนาต้องดำเนินการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด และพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่เข้าใจตลาด เรียนรู้การทำธุรกิจ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า รวมถึงนำการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจ จึงได้มอบหมายกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้าไปส่งเสริมให้ความรู้ และพัฒนาผู้ประกอบการโอทอป ในการประกอบธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ การจัดทำร้านค้าออนไลน์ การเชื่อมโยงระบบการขนส่ง โลจิสติกส์ และการชำระเงิน รวมถึงการทำการตลาดออนไลน์ เพื่อให้สามารถจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดกลางออนไลน์การเรียนรู้ผ่าน www.Thaicommercestore.com และ www.Thaitrade.com เพราะการตลาดออนไลน์ถือเป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ และทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

 


 
             จากการดำเนินงานในระยะแรก กระทรวงฯ ได้มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการห้างค้าปลีก เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เดอะมอลล์ ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีก บิ๊กซี โลตัส สยามเจมส์กรุ๊ป นารายภัณฑ์
ในการนำสินค้าเข้าไปวางจำหน่ายในพื้นที่ รวมถึงผลักดันให้ออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ ด้วยการร่วมมือกับคิงพาวเวอร์ นำสินค้าเข้าไปวางจำหน่ายในพื้นที่ดิวตี้ฟรีของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและภูเก็ต ที่มียอดจำหน่ายปีละไม่น้อยกว่า 80 ล้านบาท จึงทำให้มีการหารือเพิ่มเติมกับสนามบินดอนเมือง เชียงใหม่และอู่ตะเภา เพื่อนำสินค้าเข้าไปวางจำหน่ายและขยายการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างมากขึ้น


 
             นอกจากนี้ได้เพิ่มศูนย์กลางการกระจายผลิตภัณฑ์โอทอป ผ่านร้านค้าส่ง-ปลีกทั่วประเทศที่ได้รับการพัฒนาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อาทิ ห้างสหไทย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ห้างเดอะสกาย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาห้างสมรไพบูลย์ จังหวัดสมุทรสงคราม และอีก 70 จังหวัด จำนวน 130 ร้านค้า ให้เป็นศูนย์กลางช่วยกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค โดยในปี 2560 มีเป้าหมายเชื่อมโยงการพัฒนาด้านการบริหารจัดการร้านค้าปลีกชุมชนให้เป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน และรวบรวมสู่ร้านค้าส่ง-ปลีกในระดับจังหวัด จำนวน 46 จังหวัด 60 ร้านค้า และ 5,000 ร้านค้าปลีกชุมชน โดยคาดว่าจะมียอดจำหน่ายปีละไม่น้อยกว่า 120 ล้านบาท

 
             ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พบว่าในปี 2559 ยอดจำหน่ายสินค้าโอทอปไทยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 1.252 แสนล้านบาท และคาดว่าในปี 2560 ยอดจำหน่ายสินค้าโอทอปจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 หรือคิดเป็น 1.377 แสนล้านบาท ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพตลาดโอทอปไทยจะประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะทำให้สินค้าโอทอปไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

รวม 3 แบรนด์มะขาม รายได้ 100 ล้าน

พาไปส่อง 3 แบรนด์มะขามดัง ทั้งมะขามสารัช บ้านมะขาม และจี๊ดจ๊าด ที่บอกเลยว่ารายได้ไม่ธรรมดา เพราะเติบโตจนมีรายได้หลัก 100 ล้านบาท

ทำร้านเบเกอรี่ยังไงให้เนื้อหอม? SmoreBite ชลบุรี แค่ 2 เดือนมีห้างดังรุมจีบ

 แค่ 2 เดือน “เซฟ-ปัณฑา ลอออรรถพงศ์” หนุ่มน้อยวัย 24 ปี ก็พา SmoreBite ร้านเบเกอรี่ในชลบุรี ปังจนห้างดังอย่างพารากอนและเดอะมอลล์ต้องมาจีบ ... เขาทำได้อย่างไร

The Bus Collective เปลี่ยนรถบัสเก่าเป็นโรงแรมสุดชิค ผสานดีไซน์ล้ำกับการท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างลงตัว

โมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนรถบัสปลดระวางให้กลายเป็น “ที่พักระดับพรีเมียม” โปรเจกต์นี้ไม่เพียงแต่สร้างมูลค่าใหม่จากทรัพยากรที่หมดอายุการใช้งาน แต่ยังตอบโจทย์เทรนด์ การท่องเที่ยวยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก