​wawee LingZ ร้านกาแฟเห็ดหลินจือเจ้าแรกของโลก

Text : กองบรรณาธิการ


     หากได้มีโอกาสแวะเวียนผ่านไปยังถนนธนะรัชต์ ก่อนทางขึ้นไปยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จะพบกับร้านกาแฟร้านหนึ่งชื่อว่า wawee LingZ ร้านกาแฟร้านแรกของเมืองไทยหรือของโลกก็ว่าได้ ที่มีการนำเห็ดหลินจือ สุดยอดตัวยาบำรุงรักษาร่างกายให้มาผสมรวมกับเครื่องดื่มกาแฟเมนูต่างๆ เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าธุรกิจแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี่เอง
 



     จุดเด่นที่เป็นความพิเศษของร้าน คือ เมนูเครื่องดื่มทุกอย่างจะมีส่วนประกอบของสารสกัดจากเห็ดหลินจือผสมลงไปด้วย ซึ่งมีคุณสมบัติในการบำรุงร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอต่างๆ โดยมีเมนูเครื่องดื่มทุกอย่างให้เลือกเหมือนกับเช่นร้านกาแฟทั่วไป อาทิ เอสเปรสโซ่ คาปูชิโน่ ลาเต้ มอคค่า ฯลฯ ราคาขายอยู่ที่แก้วละ 60 – 120 บาท แล้วแต่ชนิดและขนาดไซส์ของแก้ว ยกเว้นเมนู King Of LingZ Coffee ซึ่งเป็นกาแฟร้อนที่ออกแบบมาพิเศษ และเสิร์ฟคู่กับสปอร์เห็ดหลินจือ สุดยอดของตัวยาเห็ดหลินจือที่มีราคาแพงที่สุด ซึ่งหากคิดเป็นกิโลกรัมจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.5 – 2 แสนบาทขึ้นไป โดยมีคุณสมบัติพิเศษ คือ ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น ไม่เหมือนส่วนประกอบอื่นของเห็ดหลินจือทั่วไปที่มักมีความขมนิดๆ โดยขายอยู่ที่ราคาแก้วละ 280 บาท





    แนวความคิดดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือของปรเมศวร์ สิทธิวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เขาใหญ่ พาโนราม่า ฟาร์ม จำกัด เจ้าของกิจการฟาร์มเห็ดเชิงท่องเที่ยว และไกรสิทธิ์ ฟูสุวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท กาแฟวาวี จำกัด ร้านกาแฟแบรนด์ไทยที่ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 17 ปี โดยที่มาของแนวคิดนั้นเกิดขึ้นมาจากความบังเอิญที่ทั้งคู่ต่างฝ่ายต่างอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง เพื่อต่อยอดออกไปจากธุรกิจเดิม จนเมื่อได้มีโอกาสมาเจอกัน ได้พูดคุยปรึกษา จึงได้มีการตัดสินใจทำธุรกิจร่วมกัน โดยสร้างเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ขึ้นมาในรูปแบบของร้านกาแฟเพื่อสุขภาพที่มีส่วนผสมเห็ดหลินจือรายแรกของไทย นับเป็นตัวอย่างความร่วมมือของธุรกิจที่ไม่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้มาก่อน ซึ่งเกิดขึ้นมาจากพื้นฐานความเชื่อที่ว่าแต่ละคนย่อมมีจุดเด่นจุดแข็งไม่เหมือนกัน แต่หากเอามาผสมรวมกันได้ ก็จะเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา
               

    โดยก่อนหน้าที่จะมาทำโปรเจกต์ร้านกาแฟโมเดลใหม่ร่วมกันนี้ ทั้งปรเมศวร์ และไกรสิทธิ์ ต่างเป็นผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Development Bank จึงเป็นโอกาสให้ทั้งคู่ได้มาเจอกัน ซึ่งนอกจากจะได้ไอเดียใหม่ในการทำธุรกิจแล้ว ทางฝั่งปรเมศวร์เองยังได้เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมลงทุนในกิจการ (Venture Capital) กับ SME Development Bank ด้วย ทำให้สามารถนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย รวมถึงการร่วมหุ้นทำธุรกิจร้านกาแฟ wawee LingZ กับแบรนด์กาแฟ วาวี ด้วย
 



 
    โดยร้าน wawee LingZ สาขาแรกนี้ สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นร้านต้นแบบ ในการขยายสาขา รวมถึงขายแฟรนไชส์ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายให้ได้ 5 สาขาภายในสิ้นปีนี้ และ 30 สาขาในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยทั้งนี้ได้เข้าร่วมโครงการ ‘คนกล้าคืนถิ่น ชีวิตนี้ไม่มีเกษียณ’ ของทางรัฐบาลด้วย เพื่อสนับสนุนผู้ต้องการกลับไปประกอบธุรกิจที่บ้านเกิด หรือคนที่ต้องการเกษียณอายุการทำงานให้สามารถมีธุรกิจเป็นของตัวเองได้ โดยมี หรือ SME Development Bank เป็นผู้ให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการมีแฟรนไชส์ร้านกาแฟวาวี และร้านกาแฟวาวี ลิงซ์ เป็นของตนเอง


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน