นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยจนทำให้เกิดภาวะน้ำป่าไหลหลาก อุทกภัยแบบฉับพลัน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นสถานประกอบการของผู้ประกอบการ SME โรงงานอุตสาหกรรม วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนหน่วยงานและศูนย์บริการที่เกี่ยวข้อง
จากการประเมินความเสียเบื้องต้นทราบว่า ในจังหวัดสกลนครถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด สถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมของ SMEs ได้รับผลกระทบถึง 80-100 โรงงาน จากจำนวนโรงงานจำพวก 2 และ 3 รวมกว่า 600 โรงงาน อีกทั้งยังมีพื้นที่ที่ยังต้องเฝ้าระวังความเสียหายอีก 4 จังหวัด คือ นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด
ทั้งนี้ สกลนครระดับน้ำยังมีการเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทำให้น้ำจากเทือกเขาภูพานไหลหลากลงมา ประกอบกับอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ปริมาณน้ำสูงกว่าระดับกักเก็บน้ำทำให้น้ำไหลทะลักท่วมพื้นที่รวม 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสกลนคร สว่างแดนดิน พังโคน เต่างอย กุสุมาลย์ พรรณานิคม และอากาศอำนวย ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,863 ครัวเรือน 23,538 คน
กระทรวงอุตสาหกรรมหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อแก้ไขหลักเกณฑ์การขยายสินเชื่ออุทกภัยภาคใต้ที่มีวงเงินเหลืออยู่ 2,000 ล้านบาท จากวงเงินโครงการทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท โดยจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 1 สิงหาคม 2560 พิจารณาเห็นชอบให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ในพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและครอบคลุมพื้นที่อื่นทั่วประเทศรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 7 ปี
พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) พักชำระหนี้ลูกค้าสินเชื่อโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยเป็นเวลา 4 เดือน หลังจากนั้นให้คิดอัตราดอกเบี้ยลดลงเหลือ 1% เป็นเวลาไม่เกิน1 ปี เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน(โอท็อป) ให้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับพัฒนาปรับปรุงระบบบริหารจัดการการผลิต
ขณะเดียวกันยังยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีค่าธรรมเนียมตรวจควบคุมคุณภาพ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตค่าธรรมเนียมติดตามทั้งร้านจำหน่ายและผู้ทำแก่โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในระยะเวลาที่พิจารณาตามความเหมาะสม ทั้งยังประสานไปยังผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ จังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบอย่างร้านค้าส่งสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดและอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ นำสินค้า มอก. โดยเฉพาะข้าวของเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านมาจำหน่ายในราคาพิเศษ
ล่าสุดได้รับรายงานความเสียหายที่ประเมินเบื้องต้นรวม 19 จังหวัด โดยเฉพาะที่สกลนคร ถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด มีสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมของเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบแล้วประมาณ 100 โรงงาน จากจำนวนโรงงานจำพวก 2 และ 3 รวมกว่า 600 โรงงานคิดเป็น 16.42% ของโรงงานทั้งหมดส่วนใหญ่เป็นโรงงานหีบน้ำมันปาล์ม โรงสีข้าว โรงงานผลิตยางเครป โรงงานผลิตเสื้อผ้า โรงกลึง โรงงานซ่อมและเคาะพ่นสี
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี