ร้านทองอัจริยะ ด้วยเทคโนโลยี RFID

เรื่อง : เรไร จันทร์เอี่ยม
ภาพ : ชีวทันย์ ปาลกะวงศ์


       สำหรับเจ้าของร้านทองแล้ว คงไม่มีอะไรน่ากังวลใจมากไปกว่าการสูญหายของสินค้าอีกแล้ว เพราะด้วยมูลค่าต่อชิ้นที่ค่อนข้างจะสูงนี่เอง ทำให้บรรดาผู้ประกอบการทั้งหลายต้องพยายามอย่างมากเพื่อหาทางป้องกัน แต่ที่ผ่านมาปัญหาเหล่านี้ก็ยังเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ แต่วันนี้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงนำมาสู่ทางออกในการช่วยลดปัญหาดังกล่าวให้กับเจ้าของร้านทองได้ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

       ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านทองเที่ยงธรรม สมสิทธิ์ ดวงเอกอนงค์ เลือกที่จะปฏิวัติการบริหารจัดการร้านทองแบบเดิมๆ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการ เพราะตั้งแต่อดีตมีสิ่งหนึ่งที่เขาเห็นว่ายังเป็นจุดอ่อนของการทำงาน นั่นคือ ‘การตรวจนับทอง’ สมสิทธิ์เล่าว่า

       การตรวจนับทองเป็นกิจวัตรประจำวันหลักของร้านที่จะต้องทำทุกเช้าและเย็น โดยจะตรวจนับทองทุกชิ้นก่อนนำสินค้าออกจากห้องมั่นคง (ห้องนิรภัย) เพื่อนำไปวางหน้าร้านเมื่อเปิดทำการในตอนเช้า และต้องตรวจนับสินค้าอีกครั้ง เพื่อเก็บเข้าห้องมั่นคงหลังจากร้านปิดทำการในช่วงเย็น ซึ่งแต่ละวันต้องใช้พนักงานตรวจนับ 4-5 คน รวมเวลากว่า 2 ชั่วโมง และบางครั้งก็อาจเกิดความผิดพลาดในระหว่างการตรวจนับของพนักงานขึ้นได้

       “เดิมจะให้พนักงานเป็นคนนับ แต่เราเองก็ไม่สามารถมั่นใจว่าเขานับจริงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาในทุกๆ ไตรมาสจะมีการส่งระดับผู้บริหารหรือคนที่ไว้ใจได้เข้าไปนับ ปรากฏว่ามีหายทุกรอบ นั่นคือปัญหาภายในอย่างหนึ่ง ขณะเดียวกันกรณีการขายหน้าร้าน ปัจจุบันก็มีวิธีการโกงหลากหลายรูปแบบมาก ทองเส้นหนึ่งอย่างน้อยสุดก็ครึ่งสลึงประมาณ 2,000 กว่าบาท ถ้าเป็นเส้นละ 5 บาทราคาก็เกือบแสนเลยทีเดียว ฉะนั้นถ้าสูญหายไปมูลค่าจะค่อนข้างมาก”

       จากปัญหานำมาสู่โจทย์ของการแก้ไข นอกจากสมสิทธิ์จะเป็นเจ้าของร้านทองแล้ว เขายังควบตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท โมลีคิว (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจร้านทอง ซึ่งเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เกิดขึ้นจากความรักและความชื่นชอบส่วนตัว และที่สำคัญ คือ อยากช่วยพัฒนายกระดับธุรกิจของครอบครัว อย่างร้านทองให้มีการบริหารจัดการที่ดีมากขึ้น

       โดยบริษัทนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2546 เพราะเล็งเห็นว่าปัจจุบันเทคโนโลยีไอทีได้เข้ามามีส่วนในการเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการแทบทุกสาขาอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่ร้านทอง และล่าสุดสมสิทธิ์ได้ร่วมกับโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) พัฒนาเครื่องอ่าน RFID ซึ่งเป็นเทคโนโลยีคลื่นวิทยุ ใช้ในการตรวจนับทองรูปพรรณในรูปแบบของถาดไฮเทคขึ้นมา และระบบควบคุมการเปิด-ปิดห้องมั่นคงด้วยโทรศัพท์มือถือ

       สำหรับถาด RFID ไฮเทคนี้ สามารถตรวจนับในครั้งเดียวได้มากกว่า 300 Tags ในเวลาไม่ถึง 10 วินาทีเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องเกลี่ย Tag ที่วางทับซ้อนกัน ซึ่งเครื่องอ่าน RFID ที่พัฒนาขึ้นนี้ถือเป็นเครื่องแรกที่สามารถอ่านค่าได้ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานจริงของธุรกิจร้านทอง โดยได้ออกแบบและพัฒนาเสาอากาศที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ของถาดบรรจุทองรูปพรรณหรือจิวเวลรี่ของทางร้าน

       สำหรับ Tag ที่ติดกับตัวสินค้าออกแบบเป็น Tag ติดโลหะที่สามารถบรรจุข้อมูล เช่น รหัสสินค้า ราคา ค่ากำเหน็จ น้ำหนัก และราคาขาย เป็นต้น เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับพนักงานขายด้วย และสามารถทำงานได้ดีในสภาวะเข้าใกล้โลหะ

       อย่างไรก็ดี สมสิทธ์ได้บอกอีกว่า หลังจากได้นำเครื่องอ่าน RFID มาทำหน้าที่ตรวจนับสินค้าในร้าน ทำให้มั่นใจได้ว่าสามารถนับสินค้าทั้งตอนออกจากห้องมั่นคงและกลับเข้าห้องมั่นคงได้ถูกต้องครบถ้วนแม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งช่วยลดบุคลากรในการทำงานลงด้วย นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจอื่นๆ เช่น ร้านเพชร-พลอย โรงรับจำนำ ไฟแนนซ์ และร้านขายสินค้ามือสอง เป็นต้น

       “อย่างโรงงานจิวเวลรี่ เวลาเขานำสินค้าไปออกงานแสดงสินค้าต่างๆ เขาจะไม่เหมือนกับร้านทองที่หยิบทีละเส้นให้ลูกค้าดู เขาจะหยิบเป็นถาดเลย ถ้ามีคนมาขอดูหลายคน เขาจะแน่ใจได้อย่างไรว่าของจะไม่หาย สามารถที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ได้ แทนที่จะวางถาดบนกระจก หรือกำมะหยี่ ก็เอาไปวางบนเครื่องอ่านซะ เครื่องอ่านจะทำการอ่านว่าสต๊อกเดิมที่ออกมาเท่าไร เวลาส่งคืนจะรู้ว่าครบจำนวนหรือไม่ เรียกว่าสามารถต่อยอดการใช้งานกับสินค้าอื่นๆ ได้

      

       นอกเหนือจากการตรวจเช็กสินค้าแล้ว เรื่องของระบบความปลอดภัยของห้องมั่นคงก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน สมสิทธิ์เล่าว่า เนื่องจากเรามีสินค้าหลังร้านและสินค้าหน้าร้านที่ต้องเก็บในห้องมั่นคง โดยปกติการเปิด-ปิดห้องสามารถทำได้เฉพาะเจ้าของร้านและผู้จัดการที่ถือกุญแจห้องมั่นคงเท่านั้น

        แต่ในกรณีที่ผู้ถือกุญแจติดภารกิจเร่งด่วนไม่สามารถทำการเปิด-ปิดในเวลาได้ก็จะมีปัญหาต่อการนำสินค้าเข้าออกด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาต้นแบบระบบควบคุมการเปิด-ปิดห้องมั่นคงด้วยการส่งคำสั่งผ่านทาง SMS โดยไม่ต้องใช้กุญแจและสามารถเปิด-ปิดได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังสามารถควบคุมเวลาและบุคคลที่เข้าออกห้องมั่นคงในระหว่างวัน และสามารถส่งคำสั่งล็อกห้องมั่นคงเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นได้ทันที

      

“การที่จะทำงานโดยที่เราไม่ได้อยู่ที่สาขา ทำให้เราต้องมอบหมายให้คนเข้าออกห้องมั่นคง ผมพยายามจะสร้างธุรกิจร้านทองให้ทำงานด้วยตัวของมันเอง ถ้าซอฟต์แวร์สามารถทำงานได้ด้วยตัวของมันเองแล้ว จะเอาฮาร์ดแวร์อะไรเข้ามาต่อเชื่อมก็ทำได้ง่าย และสามารถที่จะขยายสาขาได้ โดยที่เจ้าของไม่จำเป็นต้องอยู่ที่สาขา

       อย่างผมเองก็มีอยู่หลายสาขาเช่นกัน ถ้าผมคนเดียวถือกุญแจไปเดินเปิด-ปิดห้องมั่นคงของทุกสาขาคงเป็นไปไม่ได้ และกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งผมกลับมาล็อกห้องไม่ทัน ผมก็จะส่ง SMS มาล็อกตายห้องทันที ฉะนั้นจะไม่มี SMS ที่จะมาปลดล็อกของผมได้ และไม่สามารถเปิดห้องได้อีก หลักการของห้องมั่นคงตัวนี้จะเป็นแบบ One Way ไม่มีการย้อนกลับ ถ้าจะเปิดออก คือต้องทุบอย่างเดียว”

       สมกับเป็นร้านทองอัจริยะจริงๆ ทั้งปลอดภัย ถูกต้อง แม่นยำ แถมเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ดียิ่งขึ้น อนาคตคงได้เห็นธุรกิจอัจริยะอื่นๆ ตามมาอีกแน่นอน เพราะวันนี้เทคโนโลยี คือ เครื่องมือสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกแล้ว...!!!  

 

  

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน