สูตรเด็ด SME คืนถิ่นให้แกร่ง แจ้งเกิดธุรกิจให้ Success!!

TEXT กองบรรณาธิการ
 
 
 
 
     วันนี้เด็กรุ่นใหม่ฝันอยากเป็นเจ้าของกิจการ อยากมีชีวิตสโลว์ไลฟ์ อยากกลับไปเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ ที่บ้านเกิด พวกเขามีไอดอลเป็นรุ่นพี่หลายคนที่ประสบความสำเร็จ จนมีชื่อเสียงระดับประเทศมาแล้ว
 
 
     แต่การเป็นเสือคืนถิ่นมันง่ายเช่นนั้นจริงไหม ยังมีอะไรที่พวกเขาต้องเรียนรู้ หนึ่งรุ่นพี่ที่ลงสนามนี้มาก่อน อย่าง วีรวุฒิ สังฆพรม ผู้ก่อตั้ง บริษัท กาล (30) จำกัด เจ้าของสบู่โฮมเมดจากรังไหมแบรนด์ ยางนา มีข้อแนะนำให้ 
 
 
     วีรวุฒิ คืออดีตหนุ่มออแกไนเซอร์จากเมืองกรุง ผู้คุ้นเคยอยู่กับธุรกิจรับจัดงาน เขามีโปรเจคระดับหลายสิบล้านบาทผ่านมือ โปรเจคสูงสุดที่เคยทำมีมูลค่าโครงการสูงถึง 60 ล้านบาท ทว่าวันหนึ่งเขาตัดสินใจเกษียณตัวเองจากชีวิตเมือง เพื่อไปเป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ ที่จังหวัดบ้านเกิด อุบลราชธานี โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่ายางนา ซึ่งมาจาก ต้นยางนา ต้นไม้ประจำ จ.อุบลราชธานี นั่นเอง


 

 
 
อยากคืนถิ่นต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าใช่ ‘ตัวตน’ จริงไหม
 
     วีรวุฒิ ประสบความสำเร็จจากงานออแกไนซ์ ด้วยการมีเงินหลายล้านบาทผ่านมือก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังอยู่ในความตั้งมั่นของเขา นั่นคือความฝันอยากกลับไปทำธุรกิจที่บ้านเกิด เขาเชื่อในทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของประเทศเรา หลงใหลความมีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น จึงอยากใช้คุณค่าเหล่านี้มาทำประโยชน์ให้กับชุมชนบ้านเกิด และนี่คือตัวตนที่ชัดเจนของเขา
 
     “น้องๆ หลายคนที่อยากกลับไปอยู่บ้าน อาจเจอคำพูดบั่นทอนตัวเองบ้างในตอนเริ่มต้น ทำไมเรียนมาสูงๆ ทำงานได้เงินเดือนดีๆ ถึงต้องกลับไปทำอะไรที่บ้าน อยากบอกว่าหากจะกลับไปเริ่มต้นทำอะไรของตัวเอง ขอให้ค้นหาตัวตนให้เจอก่อน บอกตัวเองให้ได้ว่าชีวิตเราต้องการอะไรกันแน่ อยากมาทำแบบนี้จริงไหม เพราะถ้าเราชัดเจนตั้งแต่ต้น เราจะมุ่งมั่นและพร้อมทุ่มเททำมันให้เต็มที่ เราจะมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเรา และเราจะไม่ยอมแพ้”




 
 
ใช้ประสบการณ์จากงานเดิมเพิ่มแต้มต่อในงานใหม่
 
     วีรวุฒิ ทำธุรกิจออแกไนซ์มาก่อน งานหลักๆ ของเขาคือ การทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ และนั่นคือต้นทุนความรู้ที่เขาเอามาปรับใช้กับธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองในวันนี้
 
 
     “ประสบการณ์จากงานเดิมผมเอามาใช้ได้หมด เพราะคิดทุกอย่าง ตั้งแต่การออกแบบแพคเก็จจิ้ง การวางจำหน่าย การขาย การโฆษณา ฯลฯ ทำให้เราเริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายขึ้น ผมมองว่ามันก็เป็นงานเดิมนั่นแหล่ะเพียงแต่ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่เท่านั้นเอง”
 
 
     เสือคืนถิ่น เริ่มจากลงพื้นที่ไปเฟ้นหาวัตถุดิบดาวเด่นจากชุมชนต่างๆ ที่มีคุณภาพ แล้วรับซื้อในราคายุติธรรม มีการการประกันราคาเพื่อ วิน รวมกันระหว่างชุมชนและยางนา ด้วยคุ้นเคยกับงานสร้างสรรค์มาตลอด เขาจึงนำมาใช้พัฒนาแบรนด์ของตัวเอง โดยผลิตภัณฑ์สบู่โฮมเมดยางนามีความหลากหลายถึงกว่า 50 ชนิด แตกต่างกันไปตามแต่ละวัตถุดิบ แต่ทุกก้อนจะมีส่วนผสมของรังไหม ซึ่งมีโปรตีนและคอลลาเจนที่ดีต่อผิวพรรณเป็นจุดขาย

 


 
 
     ส่วนการทำตลาด ก็ใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง โดยมุ่งผลักดันเศรษฐกิจชุมชนให้ขึ้นห้างฯ ซึ่งปัจจุบัน ยางนา สินค้าจากชุมชนสามารถวางจำหน่ายในเซ็นทรัลทุกสาขา ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต และแฟมิลี่มาร์ทกว่า 100 สาขาทั่วประเทศ 
 
 
     ส่วนรังไหมขัดหน้า ก็ส่งออกไปทำตลาดที่จีน ขณะที่ในอนาคตพวกเขาก็เตรียมเจาะตลาดยุโรปด้วยผลิตภัณฑ์โลชั่นรังไหม และสบู่น้ำมันกลิ่นต่างๆ ส่วนตลาดในประเทศจะเน้นผลิตแบบ OEM และขยายธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ภายใต้แบรนด์ PIM และนี่คือผลผลิตจากประสบการณ์ในอดีตของเขา
 
 
สำคัญกว่ายอดขายคือการคืนกำไรสู่สังคม
 
        การกลับไปคืนถิ่น ทำกิจการที่บ้านเกิดเป้าหมายสำคัญไปกว่ายอดขาย หรือผลกำไรเข้ากระเป๋า คือการได้เติบโตร่วมกันไปพร้อมกับชุมชนและสังคม การอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกันไม่ใช่ร่ำรวยคนเดียว วีรวุฒิ เล่าว่า เขาเริ่มทำแบรนด์ยางนามาเมื่อประมาณปี 2556 ซึ่งธุรกิจก็เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป จากเงินร้อยสู่เงินหมื่น จากเงินหมื่นเป็นเงินแสน และกำลังทะยานสู่หลักล้านบาทต่อเดือนในวันนี้ เขายอมรับว่ารายได้อาจไม่ได้มากมายเหมือนงานออแกไนเซอร์ อาจต้องใช้ชีวิตแบบพอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือย แต่สิ่งที่ได้กลับมามันคุ้มค่ากว่าทุกๆ อย่างสำหรับเขา นั่นคือ..ความสุข 
 
 
      “ทำธุรกิจอย่าไปคิดว่าเราต้องได้กำไรทุกอย่าง แต่ต้องคิดว่าเราจะคืนกำไรอะไรให้กับสังคมด้วย ซึ่งมันจะทำให้ตัวเรามีความสุขในทุกๆ วัน  วันนี้ทั่วโลกต่างให้ความสนใจในเอกลักษณ์และหัตถกรรมท้องถิ่นอย่างมาก นั่นเป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับไปพัฒนาชุมชนของตัวเอง ไปทำมาหากินที่บ้านเกิด ขอแค่ใช้ความคิดมาพัฒนาและชัดเจนใจสิ่งที่ตัวเองทำ ซึ่งเชื่อว่าทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ ธุรกิจจะอยู่ได้ และอยู่อย่างมีความสุขด้วย”  
 
 
         วีรวุฒิ คือหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนจาก โครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และยังเป็นต้นแบบ เสือคืนถิ่น  หรือคนกล้าคืนถิ่น ตามภารกิจของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Development Bank  ที่มุ่งเฟ้นหาผู้นำที่กลับไปสร้างงาน สร้างอาชีพ  สร้างรายได้ และมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น เพื่อให้การสนับสนุนในทุกมิติ  ทั้งด้านการเงิน การบริหารจัดการ การตลาด และการผลิต ผู้สนใจเข้าถึงกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ทุกสาขา และศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี www.smessrc.com หรือ Call Center 1357
 
 
        เพื่อคืนถิ่นอย่างแข็งแกร่ง สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ยั่งยืน ด้วยพลังของเสือคืนถิ่นอย่างพวกเขา 

 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน