​“โลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” วิธีคิดสู่ความสำเร็จ สไตล์ “ดร.แสงสุข พิทยานุกุล”

Text : กองบรรณาธิการ
 
 
     นับตั้งแต่ความสำเร็จแรกของสมูทอี ดร.แสงสุข พิทยานุกุล มักถูกเบรคว่าสิ่งที่เขาคิดเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทว่ายิ่งมีคนดูถูก ยิ่งทำให้เขามีแรงฮึดที่จะพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นถึงความเป็นไปได้ในสิ่งที่คิด ดร.แสงสุขบอกว่าความสำเร็จของสมูทอีคือ “ความแตกต่าง” เพราะมีแรงบีบจากบริษัทใหญ่ ที่มีทั้งเงินทุน และประสบการณ์ที่อยู่ในตลาดมานานกว่า การเดินตามรอยเท้ายักษ์ใหญ่จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ฉลาดนัก เขายอมทุ่มทุนไปกับการสร้างความต่าง ผลิตโฟมล้างหน้าที่ไม่มีฟอง ซึ่งทุกคนมองว่าไม่มีทางขายได้ บางคนถึงขั้นเฝ้าดูความล้มเหลวของเขา ทว่าผ่านไปปีหนึ่งก็ยังไม่เจ๊ง สองปีก็ยังไม่เจ๊ง ห้าปีก็ยังไม่เจ๊ง ทั้งๆ ที่เขาขายแพงกว่าโฟมมีฟองที่คนนิยมกัน จนที่สุดทุกคนไม่เพียงให้การยอมรับ แต่ยังยกย่องให้เขาเป็นนักธุรกิจที่มีฝีมือด้านการตลาดที่น่าจับตาคนหนึ่งของไทย





     ดร.แสงสุขเผยมุมมองที่เป็นเคล็ดลับการขายของเขาให้ฟังว่า นักขายที่เก่งที่สุด จะไม่ขายของเลย แต่เวลาพูดอะไรออกมาแล้วคนอยากซื้อ เพราะ 80% ของผู้บริโภคเวลาซื้อสินค้า เขาจะซื้อด้วยอารมณ์ ไม่ใช่ด้วยเหตุผล แต่นักขายทั่วไปมักพูดว่าของเขาดีอย่างไร ซึ่งนั้นเป็นเหตุผล การบอกว่าสินค้าของตัวเองดียังไง แม้เรื่องที่พูดจะเป็นเรื่องจริง ก็ไม่มีใครเชื่อ แต่ในทางกลับกันหากเลือกที่จะเล่าที่มาที่ไปของแบรนด์ การเลือกใช้วัตถุดิบ กระบวนการผลิตกว่าจะมาเป็นโฟมไม่มีฟองสมูทอี ซึ่งมีสรรพคุณช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างไรนั้น จะกระตุ้นให้เกิดการอยากซื้อไปลองใช้มากกว่า สิ่งสำคัญหลังจากนี้คือการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพตามที่เราได้พูดไป


     ด้วยวิธีคิดต่างอย่างมีเหตุผลรองรับเช่นนี้ เป็นสูตรสำเร็จที่ ดร.แสงสุขใช้ในการสร้างความสำเร็จให้กับตัวเองมาตลอด โดยมีแบรนด์สมูทอีการันตีทฤษฎีนี้ของเขา ซึ่งต่อมาเขายังมีสินค้าในกลุ่ม Personal Care ในชื่อแบรนด์ต่างๆ ออกมาสร้างรายได้ให้ไหลเข้ากระเป๋าอย่างต่อเนื่อง จนเขามองว่าตัวเองเสพสุขกับความสำเร็จพอแล้ว และอยากเอาประสบการณ์ที่มีมาสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพที่แข็งแกร่งพร้อมสำหรับการแข่งขันที่จะดุเดือดยิ่งๆ ขึ้นในอนาคต โดยคาดหวังให้นักธุรกิจรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นพลังที่จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น
และนี่คือที่มาที่ทำให้เภสัชกรผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจ Personal Care ผันตัวเองมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ่มเพาะธุรกิจ ทว่าแนวคิดในการสร้างจุดต่างให้กับโมเดล Business School ของเขาแหวกม่านประเพณีจนทำให้หลายคนกังขาว่าจะไปรอดหรือ?


     โรงเรียนบ่มเพาะธุรกิจ หรือ Business School ของ ดร.แสงสุข การันตีความสำเร็จให้กับทุกคน โดยไม่เก็บเงินค่าเล่าเรียน จนกว่าผู้เรียนเรียนจบออกไปสร้างผลสำเร็จให้กับธุรกิจของตัวเองจนมีกำไรเสียก่อน แล้วค่อยเอาเงินที่ได้จากผลกำไรมาจ่ายค่าเล่าเรียน ฟังดูแล้วน่าจะเป็นความคิดที่สร้างความเสี่ยงสูงให้กับการลงทุนสร้าง Business School ของเขา ซึ่งทุกคนมองว่าไม่น่าจะไปรอด แต่แนวคิดที่ทำให้ดร.แสงสุขกล้าการันตีความสำเร็จให้กับทุกคนก็คือ วิธีการคัดเลือกนักศึกษาเข้ามาเรียน


     เขาจะเลือกแต่เฉพาะผู้ประกอบการที่มีธุรกิจอยู่แล้ว โดยให้นำเอาแผนธุรกิจมานั่งคุยกันเพื่อดูว่าคนไหนมีแววพอที่จะผลักดันให้ประสบความสำเร็จได้  ซึ่งนอกจากทักษะความรู้ที่จะได้เรียนกับอาจารย์ที่เป็นนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ นักศึกษายังจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรงของอาจารย์ที่จะให้คำแนะนำในการนำไปปฏิบัติจริงกับธุรกิจตัวเอง โดยกำหนดให้สิ่งที่นักศึกษาได้จากการเรียนไปจะต้องทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นในทุกๆ เดือน โดยผู้เรียนจะต้องส่งผลประกอบการมาให้ดูทุกสิ้นเดือน หากรายได้ไม่เพิ่ม ทั้งอาจารย์และลูกศิษย์จะช่วยกันวิเคราะห์หาทางแก้ไขจนกว่าจะสำเร็จ


     แนวคิดเช่นนี้จะสร้างโอกาสให้ทุกคนได้ Win-Win ด้วยกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียนที่จะได้ประสบการณ์ความรู้โดยตรงจากนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ ขณะที่นักธุรกิจชั้นนำก็ได้ไอเดีย และโอกาสใหม่ๆ ในการต่อยอดธุรกิจจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เป็นแนวคิที่ทำให้ ดร.แสงสุขมั่นใจว่าโมเดล Business School ของตน จะเป็นโมเดลต้นแบบสำหรับการศึกษาด้านธุรกิจในอนาคต 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน