Text : sir nim
ธุรกิจเสื้อยืด เป็นหนึ่งในธุรกิจยอดนิยมที่หลายคนมักนำมาเป็นทางเลือกในการเริ่มต้นทำธุรกิจ โดยมองว่าสามารถทำได้ไม่ยาก เป็นสินค้าที่ซื้อง่าย ขายคล่อง ไม่ต้องมีเงินลงทุนสูงมากนัก ก็สามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้ หรือแม้แต่จะใช้เพื่อสร้างรายได้ที่เพิ่มเติมให้กับธุรกิจหลัก อย่าง ร้านกาแฟ ร้านอาหาร โฮลเทล เสื้อยืดจึงนับเป็นอีกช่องที่หลายธุรกิจให้ความสนใจ แต่จะทำเสื้อยืดสักตัวต้องเริ่มต้นมาจากอะไร วันนี้เรามีหลายช่องทางให้เลือกกัน
เสื้อเปล่า + งานพิมพ์ องค์ประกอบหลักของธุรกิจ T-shirt
ก่อนจะเริ่มต้นเลือกว่าจะผลิตวิธีใด ลองมาดูที่องค์ประกอบหลักของธุรกิจนี้ก่อน ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ เสื้อเปล่าและงานพิมพ์ภาพและสี หรือการตกแต่งดีไซน์
เสื้อเปล่าเอามาจากไหน?
วิธีการที่จะทำให้ได้เสื้อเปล่ามานั้นมี 2 วิธีการด้วยกัน คือ
1.ซื้อสำเร็จรูป จากเว็บไซต์ออนไลน์ต่างๆ ที่เป็นโรงงานผลิต มีทั้งขายปลีกและส่ง โรงงานจะผลิตออกมาเป็นเสื้อเปล่าหลายสีให้เลือกตามไซส์มาตรฐาน เราเพียงไปเลือกสีเลือกไซส์ และจำนวนที่ต้องการ ราคาต่อ 1 ตัว หรือไปดูที่โบ้เบ๊ แพทตินัม ประตูน้ำก็ได้ ราคาอยู่ที่ประมาณ S = 50-60 บาท M = 60-70 L = 70-80 XL = 80-100 บาท หากเป็นไซส์พิเศษที่ใหญ่ขึ้นมาอีกราคาจะแพงขึ้นตามเนื้อผ้าที่ใช้
ข้อดี เหมาะสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้น ไม่ต้องลงทุนซื้อเยอะ คละไซส์คละสีได้ตามต้องการ สร้างความหลากหลายให้กับงาน
ข้อเสีย คือ ราคาต่อตัวแพงกว่าผลิตเอง
2.จ้างผลิต ตัดเย็บเอง โดยการไปซื้อผ้ามาเป็นพับๆ และนำมาจ้างตัดเย็บเอง แหล่งที่นิยมไปเลือกซื้อผ้ายืดกันมาก คือ วัดสน ซอยสุขสวัสดิ์ 35 เขตราษฎร์บูรณะ นอกจากเป็นแหล่งขายผ้ายืด ยังมีบริการรับตัดตามไซส์และเย็บด้วยเลย สำหรับการขายจะขายกันเป็นกิโลกรัมแบบยกพับ 1 พับมีประมาณ 20 กิโลกรัม ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 160 – 190 บาท สำหรับ Cotton No.20 ส่วน Cotton NO.32 จะแพงขึ้นมากว่าเล็กน้อย นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่ที่สีผ้าสีเข้มจะราคาแพงกว่า โดยผ้า 1 พับจะมีความยาวประมาณ 65-90 หลาแล้วแต่ชนิดของผ้า สามารถตัดเสื้อได้ประมาณ 80 - 120 ตัว ขึ้นอยู่ที่ไซส์ที่ตัดด้วย บางคนก็นิยมคละไซส์ โดยราคาค่าตัดผ้าต่อตัวอยู่ที่ 2-5 บาท เวลาตัดจะใช้โต๊ะตัดใหญ่ๆ วางผ้าทับไปทับมาและใช้เครื่องตัดออกมาทีเดียวในแต่ละส่วน ส่วนค่าเย็บราคาอยู่ที่ 12 – 20 บาท
นอกจากผ้าแบบหน้าเดียว ยังมีผ้าทออีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ผลิตเสื้อยืด เรียกว่า ผ้าแบบถุงกลม หรือ Body Size เป็นผ้าที่ทอออกมาเป็นตัวติดกันทั้งด้านหน้าด้านหลัง ไม่มีรอยต่อของตะเข็บผ้า ไม่ระคายเคืองต่อผู้สวมใส สามารถตัดเสื้อได้จำนวนมากขึ้นต่อกิโลกรัม มีผ้าเศษเหลือน้อย สะดวก รวดเร็ว เพราะลดขั้นตอนการเย็บไปหนึ่งขั้นตอน แต่ข้อเสีย คือ ใน 1 พับจะตัดได้ 1 ไซส์เท่านั้น เพราะผ้าจะถูกทอมาให้พอดีกับขนาดของแต่ละไซส์
ข้อดี ราคาต่อหน่วยถูกกว่าซื้อสำเร็จรูป สามารถออกแบบในรูปแบบที่ต้องการได้ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์
ข้อเสีย ต้องผลิตจำนวนมาก และลงทุนสูงกว่า ค่าผ้า ค่าตัดเย็บ หากอยากคละสีก็ต้องลงทุนต่อพับใหม่ เสียเวลาเยอะกว่า เพราะต้องติดต่องานในหลายส่วน
เพิ่มลวดลายด้วยงานพิมพ์
งานพิมพ์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ การพิมพ์โดยใช้บล็อกสกรีน และการพิมพ์โดยใช้เครื่อง
1.การพิมพ์โดยใช้บล็อกสกรีน หรือเรียกว่า Silk Screen เป็นอีกวิธีที่นิยมทำกันมาก โดยเฉพาะเหล่าบรรดานักศึกษา หรือพ่อค้าแม่ค้าที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ซิลค์สกรีน คือ วิธีการปาดหมึกพิมพ์ ผ่านตะแกรงไหมที่ถูกนำมาขึงเป็นบล็อค โดยหมึกจะซึมผ่านรูของตะแกรงไหมที่ออกแบบมาเป็นรูปต่างๆ ลงไปบนเนื้อผ้า
วิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายหลักด้วยกัน 2 ส่วน คือ ค่าบล็อกและค่าสกรีน การทำบล็อกขึ้นมาสำหรับเสื้อ 1 ลาย จะนับตามจำนวนสีที่ใช้ เช่น เสื้อลายนี้ประกอบด้วยสี 3 สี ก็ต้องทำบล็อกขึ้นมา 3 สี ราคาขึ้นอยู่กับขนาดความใหญ่ของลาย เริ่มต้นที่ A4 = 200 บาท A3 = 350 บาท แหล่งทำบล็อกราคาถูกจะอยู่ย่านสนามกีฬาแห่งชาติ ย่านมาบุญครอง ในส่วนของค่าสกรีน ซึ่งคิดตามสีและตำแหน่งของลายด้วยเช่นกัน เช่น หากลายมี 3 สี ต้องสกรีน 3 ครั้ง ราคาก็จะเพิ่มขึ้นตามเนื้องานไปด้วย โดยเริ่มต้นสีแรกที่ 10 – 20 บาท สีต่อไป 5 - 10 บาท หากมีการสกรีนจำนวนมาก บางร้านอาจไม่คิดค่าบล็อก
สำหรับสีที่ถูกนำมาใช้ในงานสกรีนมีหลายประเภทด้วยกัน แต่ที่นิยมใช้กันมากมี 3 ชนิด ได้แก่ สีจม สียาง และสีลอย สีจมเหมาะสำหรับใช้กับผ้าสีอ่อนๆ เท่านั้น เนื่องจากสีจะซึมลงไปในเนื้อผ้า เรียกว่าจนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน หากเป็นเสื้อสีเข้มจึงอาจทำให้สีเพี้ยนหรือมองเห็นลายไม่ชัดเจน สามารถระบายความร้อนได้ดี ส่วนสียางซึ่งนิยมใช้กันมาก เพราะสามารถพิมพ์ได้ทั้งผ้าสีอ่อนและสีเข้ม มีความยืดหยุ่นสูงและให้สีสดมีความเงางามในตัว ระบายความร้อนได้ไม่เท่าสีจม และสุดท้ายสีลอย ลักษณะคล้ายสียาง แต่สีที่ได้จะออกมาด้าน สามารถพิมพ์ได้ทั้งผ้าสีอ่อนและสีเข้ม แต่ไม่เหมาะพิมพ์กับเสื้อกีฬาหรือเสื้อที่มีความมันของเส้นด้าย หาซื้อได้แถวสนามกีฬาแห่งชาติเช่นกัน
ข้อดี มีความคงทน ราคาไม่แพง ถึงแม้ต้องลงทุนในหลายส่วน ลงทุนทำบล็อกครั้งเดียว ก็สามารถทำซ้ำได้เรื่อยๆ รวมถึงในบล็อกๆ เดียว ยังสามารถปรับเปลี่ยนสีได้ตามใจชอบด้วย จึงเหมาะกับงานที่คิดจะทำในระยะยาว
ข้อเสีย ต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายส่วนไม่สามารถพิมพ์งานที่ละเอียดมากๆ มีหลายโทนสีได้
2.การพิมพ์โดยใช้เครื่อง แบ่งออกเป็น 2 ระบบ ได้แก่ ระบบดีทีจีและระบบฮีททรานเฟอร์
- DTG (Direct to Garment) หรือการพิมพ์แบบดิจิตอล เหมาะสำหรับรูปภาพที่ต้องการสีสัน ความละเอียดสูง วิธีนี้จะเป็นการพิมพ์สีลงไปบนตัวเสื้อเลย ผ้าที่ใช้ คือ ผ้า Cotton 100 เท่านั้น โดยราคาจะคิดตามขนาดของภาพตั้งแต่ 4 x 4 นิ้ว 1 ตัว = 90 บาท A4 = 140 บาท จนถึง A3 = 160 บาท
- Heat Transfer หรืองานรีดร้อน ลักษณะคล้ายงานสกรีนดิจิตอล แต่ต่างกันตรงที่ขั้นตอนการสกรีนเสื้อและเนื้อผ้าที่ใช้ โดยเป็นการพิมพ์งานลงบนกระดาษ จากนั้นจึงนำไปรีดด้วยความร้อนเพื่อพิมพ์ลายลงไปบนเนื้อผ้าอีกที เนื้อผ้าที่ใช้จะมีส่วนผสมของโพลีเอสเตอร์ ไม่สามารถทำลงบนเนื้อผ้า Cotton เปล่าๆ ได้ และเหมาะพิมพ์ลงบนผ้าสีอ่อนมากกว่า
ข้อดี สามารถพิมพ์ได้ละเอียด หลายเฉดสี ไม่ต้องทำจำนวนเยอะ ตัวเดียวก็สามารถผลิตได้แล้ว เหมาะสำหรับการรับจ้างผลิตเสื้อตามวาระโอกาสต่างๆ อาทิ เสื้อวันเกิด เสื้อคู่รัก รวมถึงการทดลองตลาดในช่วงแรกๆ
ข้อเสีย ราคาต่อหน่วยสูง สีไม่ทนทานเท่าการพิมพ์แบบซิลล์สกรีน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย
เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน