​5 เรื่องต้องรู้! ก่อนเปิดธุรกิจร้านดอกไม้

Text : Miss.Nim


     สาวๆ หลายคนอยากเปิดร้านดอกไม้ แต่อาจมีความลังเลอยู่บ้าง เพราะขาดประสบการณ์ ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี SME Thailand มีคำแนะนำมาฝากกัน หากใครคิดที่จะกระโดดเข้าสู่ธุรกิจนี้ อยากแรกที่คุณๆ ต้องรู้ไว้ก่อนลงมือทำ นั่นก็คือ...
 



1.เริ่มต้นด้วย passion


    หลายคนอาจคิดว่าสิ่งที่ต้องเริ่มต้นทำเป็นอันดับแรกเมื่อสนใจอยากเปิดร้านขายดอกไม้ คือ ต้องไปลงเรียนจัดดอกไม้ให้เป็นก่อน แต่ในความจริงแล้วการจัดดอกไม้อาจเริ่มต้นได้ง่ายๆ จากความสนใจและชื่นชอบก่อน ซึ่งแต่ละคนล้วนมีสไตล์ความชอบไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงอาจลองเริ่มจัดในแบบที่ตัวเองชอบก่อน รวมถึงศึกษาหาความรู้สิ่งที่สนใจเพิ่มเติมเข้าไปด้วย จากนั้นอาจลองนำผลงานดังกล่าวไปให้เพื่อนๆ หรือคนรอบข้างดู รวมถึงลองโพสต์ลงสื่อโซเซียลมีเดียต่างๆ เพื่อหาฟีตแบล็ก ซึ่งวิธีเริ่มต้นธุรกิจร้านดอกไม้ง่ายสุด คือ อาจจะลองทำและโพสต์ขายผ่านออนไลน์ก่อนก็ได้ และให้ลูกค้าสั่งทำล่วงหน้า ด้วยช่องทางที่หลากหลายอาจทำให้ได้รับการตอบรับที่เร็วขึ้น ที่สำคัญยังได้ฝึกตัวเองไปในตัว ทั้งการบริหารจัดการสต๊อก การคิดคำนวณกำไรขาดทุน การบริหารจัดการเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าได้ทัน การขนส่ง และอีกหลายๆ อย่าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็ควรมีหน้าร้านของตัวเอง เพื่อสร้างตัวตน และขยายฐานลูกค้า


    นอกจากต้องมีแรงบันดาลใจ มีความมุ่งมั่นที่อยากทำจริงแล้ว บททดสอบต่อไปก่อนลงทุนเปิดร้าน คือ ลองอยู่กับมันจริงๆ ให้ได้ก่อน ลองดูว่าถ้าได้ทำบ่อยๆ ทุกวันเราจะยังมีความสุขเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า ซึ่งก็เหมือนกับหลักการทำงานด้านอื่นเช่นกัน ที่สำคัญคือ ต้องดูว่าทิศทางแนวโน้มความเป็นไปได้เป็นอย่างไร สามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอไหม อยู่ได้จริงหรือเปล่า ซึ่งพอได้ลองลงมือทำแล้วเราจะรู้เองว่าไปได้หรือไม่ได้
 

2.รู้จักดอกไม้


    เมื่อมั่นใจว่าจะทำเป็นธุรกิจจริงจังขึ้นมา สิ่งสำคัญต่อไปที่ต้องเรียนรู้ คือ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับชนิดของดอกไม้ รู้ว่าดอกไม้แต่ละชนิดมาจากประเทศอะไร ธรรมชาติของดอกไม้แต่ละอย่างเป็นอย่างไร มีวิธีการเก็บรักษายังไง ซึ่งเหตุผลที่ต้องรู้แหล่งที่มาของดอกไม้ เป็นเพราะว่าจะได้รู้เอกลักษณ์ของดอกไม้แต่ละพื้นที่ อาทิ ในชนิดดอกไม้ประเทศเดียวกัน ดอกไม้ที่มาจากจีนอาจไม่ได้มีกลิ่นหอม แต่มีความทนทานแข็งแรง ดอกใหญ่ ในขณะที่ของไทยอาจมีขนาดเล็กกว่า แต่มีกลิ่นหอมกว่า สิ่งเหล่านี้ต้องตอบลูกค้าให้ได้ รวมไปถึงรู้จักชนิดของดอกไม้ที่หลากหลาย เพื่อเก็บสะสมเป็นคลังความรู้ ช่วยให้การจัดดอกไม้แต่ละแบบดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาค่อยๆ เก็บสะสมความรู้กันไป อีกส่วนที่ต้องรู้ คือ วันที่ดอกไม้ลง ก็เพื่อช่วยในการบริหารจัดการสต๊อก และช่วยคำนวณอายุการใช้งานของดอกไม้ได้ถูก อย่างถ้าเป็นกุหลาบอาจอยู่ได้ประมาณ 5-7 วัน ไฮเดรนเยียอยู่ได้ประมาณ 3-5 วัน


    โดยแหล่งซื้อขายดอกไม้ขนาดใหญ่นั้นอยู่ที่ปากคลองตลาดอย่างที่รู้กันดีอยู่แล้ว ดอกไม้นำเข้าจากต่างประเทศมักลงขายในทุกวันพุธ ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศจีน และฮอลแลนด์ สำหรับดอกไม้ในเมืองไทยที่นิยมใช้ คือ ของโครงการหลวง โดยในช่วงแรกที่เริ่มทำอาจใช้วิธีไปเดินเลือกซื้อเอาเอง แต่เมื่อซื้อขายจนกลายเป็นขาประจำสามารถใช้บริการโทรสั่งซื้อ หรือสั่งออนไลน์ และให้ทางร้านจัดส่งให้ได้ก็ได้ นอกจากนี้ในส่วนของอุปกรณ์สำหรับจัดดอกไม้และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ยังสามารถหาซื้อเพิ่มเติมได้ที่ตลาดนัดจตุจักร และสนามหลวง 2 อีกทาง
 

3.บริหารสต๊อก หัวใจธุรกิจร้านดอกไม้


    สำหรับร้านขายดอกไม้ที่เริ่มต้นมีหน้าร้านอย่างจริงจัง การบริหารจัดการสต๊อกถือเป็นหัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจนี้ ต่างจากขายออนไลน์ ที่ยังสามารถให้ลูกค้าเข้ามาสั่งจองล่วงหน้าได้ และจึงค่อยไปซื้อดอกไม้มาทำให้ เพราะการมีหน้าร้านต้องมีการจัดดิสเพลย์ให้สวยงาม อีกทั้งยังต้องรองรับกลุ่มลูกค้าขาจรที่อาจจะเดินเข้ามาสั่งด่วน การมีดอกไม้สำรองไว้ใช้ หรือเพื่อให้ลูกค้าเลือก จึงจำเป็นต้องมี ซึ่งหากเป็นร้านขนาดใหญ่ มีพื้นที่ มีการลงทุนซื้อตู้แช่ขนาดใหญ่อาจไม่มีปัญหา แต่สำหรับร้านเล็กๆ มีพื้นที่น้อย อาจจะอาศัยวิธีสั่งบ่อยๆ ในปริมาณที่ไม่มากเกินไปนักมาใช้ อาจจะสัปดาห์ละประมาณ 3 ครั้งก็ได้ เพื่อให้ได้ดอกไม้ที่สดที่สุดส่งมอบให้กับลูกค้า โดยต้องคำนวณจากทั้งออเดอร์ที่สั่งจองมาทางออนไลน์ และในส่วนของหน้าร้านเอง
 




4.วิธีการจัดดอกไม้ และการคิดราคา


    ในส่วนของขั้นตอนการรับจัดดอกไม้ให้ลูกค้า ควรเริ่มต้นจากถามความต้องการลูกค้าก่อนว่าอยากได้ดอกไม้ประเภทใด ซึ่งดอกไม้ที่นำมาจัดส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1.ดอกไม้สด และ2.ดอกไม้สดที่เก็บแห้งได้ จากนั้นจึงค่อยลงรายละเอียดต่อไปว่า ต้องการนำไปใช้ในงานอะไร หรือมอบให้กับใคร เนื่องในโอกาสอะไร พร้อมกับแนะนำชนิดของดอกไม้ที่มีอยู่ และรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยแต่ละรูปแบบนั้นย่อมต้องใช้เวลาแตกต่างกันไป อาทิ หากเป็นช่อเล็กๆ จะใช้เวลาทำประมาณ 15-20 นาที ถ้าเป็นช่อใหญ่ประมาณ  ½ - 1 ชั่วโมง หรือเป็นรูปแบบกล่องหรือตะกร้าที่ต้องใช้เวลาประดิษฐ์อาจใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากไม่มีดอกไม้ที่ลูกค้าต้องการจริงๆ อาจจะแนะนำดอกไม้อื่นที่มีลักษณะและความหมายใกล้เคียงกันให้แทน


    ในด้านของการคิดราคาจะอยู่ที่ 1.รูปแบบของผลิตภัณฑ์ อาทิ ห่อเป็นช่อ จัดใส่กล่อง ตะกร้า หรือขวดโหล 2.ชนิดของดอกไม้ที่เลือก 3.ขนาด มีวางไว้เป็นไซส์ตั้งแต่ s m l xl  ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วการคิดราคาจะต้องให้ได้กำไรประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ในส่วนของการจัดส่งจะคิดแยกออกมาอีกต่างหาก โดยปกติสามารถใช้บริการได้ทั้งวินมอเตอร์ไซด์รับจ้าง หรือบริการจัดส่งต่างๆ ที่มีให้เลือกหลายตัวในปัจจุบัน
 

5.หมั่นหาสินค้าใหม่ ขยันอัพรูป กลเมล็ดกระตุ้นยอดขาย


    ด้วยยุคของโซเซียลมีเดียที่ติดต่อถึงกันอย่างรวดเร็ว แน่นอนหากใครคิดอยากจะทำธุรกิจร้านขายดอกไม้ในยุคนี้ สื่อออนไลน์ต่างๆ คือ สิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะการอัพรูปเพื่อลงโซเซียลบ่อยๆ รวมถึงการหาผลิตภัณฑ์แปลกใหม่มานำเสนออยู่เสมอ น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นยอดขายและสร้างความสนใจของลูกค้าได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะไม่โพสต์บอกราคาตายตัว เนื่องจากดอกไม้เป็นสินค้าที่มีราคาขึ้นลงตามฤดูกาล


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน