วรวุฒิ อุ่นใจ การเรียนรู้คือบันไดต่อยอดสู่ความสำเร็จ

เรื่อง..  ขวัญดวง แซ่เตีย
ภาพ..  Officemate
 
ความสำเร็จจากการพลิกฟื้นธุรกิจครอบครัวที่เป็นเพียงร้านขายเครื่องเขียนห้องแถว ก่อนจะนำไอเดียขายตรงผ่านแค็ตตาล็อกต่อยอดสร้าง “ออฟฟิศเมท” ขึ้นมาเป็นอี-คอมเมิร์ซเบอร์หนึ่ง กระทั่งเข้าควบรวมกับกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล กลายเป็นธุรกิจหมื่นล้านภายใต้ชื่อใหม่ ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) คือเส้นทางการเติบโตที่ทำให้ วรวุฒิ อุ่นใจ ผู้ขึ้นแท่นตำแหน่งซีอีโอใหญ่องค์กรยักษ์ใหญ่แห่งนี้ กลายต้นแบบนักธุรกิจที่หลายคนเฝ้าจับตา
 
คนจำนวนมากอาจคิดว่าเบื้องหลังความสำเร็จอย่างต่อเนื่องนี้ คงเพราะวรวุฒิมีครูฝึกฝีมือดีคอยให้คำแนะนำตลอดเส้นทาง ทว่าความจริงแล้วแต่ละย่างก้าว เขาลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง โดยมีความรู้เอ็มบีเอเป็นพื้นฐานในการต่อยอดสู่การเรียนรู้ตลอดเวลาในแต่ละช่วงชีวิต ซึ่งเขาบอกว่าการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดนี่เองที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เขารู้จักคิดวิเคราะห์ และแก้ปัญหาเป็น อันเป็นรากฐานของการต่อยอดธุรกิจสู่ความสำเร็จ 
 
เพราะความคิดสำคัญกว่าเงินทุน
 
ในทัศนคติของวรวุฒิแล้ว เขามองว่าความคิดสำคัญกว่าเงินทุน คนที่มีความคิดแม้ไม่มีเงินทุนก็จะสามารถคิดหาเงินทุนมาเริ่มต้นธุรกิจ และบริหารจัดการให้ธุรกิจเติบโตยั่งยืนได้ แต่หากไร้ความคิดแม้มีเงินทุนก็ไม่สามารถบริหารจัดการธุรกิจให้อยู่รอดได้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาเมื่อเริ่มต้นธุรกิจ
 
“พอคิดที่จะทำธุรกิจของตัวเอง ผมก็เข้าเรียนต่อเอ็มบีเอที่นิด้าเลย เพราะคิดว่าประสบการณ์ 4-5 ปีจากการทำงานในร้านขายเครื่องเขียนห้องแถวคงไม่พอที่จะทำให้ธุรกิจของผมไปรอดได้แน่ เรียนจบออกมาผมก็เอาความรู้นั้นนั่นแหละมาต่อยอดไอเดียขายตรงผ่านแค็ตตาล็อก เพราะมองว่ามันมีศักยภาพที่จะไปได้อีกไกล แล้วก็เอาวิทยานิพนธ์ที่ทำช่วงขอจบปริญญาโทมายื่นขอสินเชื่อจากแบงก์ เป็นวิทยานิพนธ์ที่ใช้ชื่อเดียวกับบริษัท ออฟฟิศเมท จำกัดเลย”
 
วรวุฒิบอกว่า การเรียนเอ็มบีเอช่วยให้เขาได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่ามหาศาล แต่ก็ใช่ว่าความคุ้มค่านี้จะเกิดขึ้นได้กับทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นเรียนเป็นหรือไม่ 
 
“การเรียนเอ็มบีเอก็เพื่อให้รู้ว่าเรายังไม่รู้อะไรอีกหลายเรื่อง พูดง่ายๆ ก็คือ เอ็มบีเอสอนให้เราจบออกมาด้วยความไม่รู้ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นนะ ไม่อย่างนั้นสตีฟ จอบส์จะบอกเหรอว่า Stay hungry, Stay foolish เป็นคอนเซปต์เดียวกัน ผมพูดมาตลอดเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาว่า การศึกษาสอนให้เรารู้ว่าเราไม่รู้อะไร ฉะนั้นการศึกษาไม่มีวันจบ ผมไม่เคยใช้คำว่าจบการศึกษา การไปเรียนเอ็มบีเอก็เพื่อให้เรารู้ว่าเรื่องไฟแนนซ์เราต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง เรื่องโอเปอเรชั่นเราต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง ซึ่งหลายๆ เรื่องคุณต้องไปหาคำตอบข้างนอก เพราะตำราเป็นของตาย แต่การทำงานจริงๆ เป็นของเป็น ถ้าเรียนเป็นมุ่งเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการทำงาน ผมว่าเงินค่าเรียน 2-3 แสนคุ้มมาก ทุกวันนี้มาร์เก็ตแคปของธุรกิจผมเป็นหมื่นล้าน มูลค่าตรงนี้เกิดขึ้นมาเพราะเรียนเอ็มบีเอ 
 
“คุณจะไม่เข้าไปนั่งเรียนเอ็มบีเอแล้วไปซื้อหนังสือมานั่งอ่านเอาก็ได้นะ แต่คุณต้องเก่งมากๆ เพราะคุณจะต้องเข้าใจ และวิเคราะห์ในสิ่งที่เขาสอนได้โดยที่ไม่เข้าใจผิด จริงๆ ก็มีคนเยอะแยะที่ไม่ได้เรียนเอ็มบีเอแล้วประสบความสำเร็จ ถามว่าเรียนรู้อย่างไร ก็เรียนรู้จากการลองผิดลองถูกของเขานั่นแหละ ฉะนั้นความรู้ไม่ได้จำเพาะเกิดในตำรา คุณอาจจะมีความรู้ที่เกิดจากการทดลองทำด้วยตัวคุณเองก็ได้ ซึ่งอันนั้นมันเหนื่อยกว่า และอาจจะผิดได้ง่ายกว่า เพราะเหมือนคุณลองผิดลองถูกโดยไม่มีหลักเกณฑ์ แต่ถ้าคุณมีหลักเกณฑ์มาแล้วมาลองผิดลองถูก กรอบในการลองของคุณก็แคบลง ฉะนั้นใครไม่เรียนผมว่าเสียเปรียบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเรียนแล้วจะการันตีว่าจะประสบความสำเร็จ แล้วก็ไม่ได้บอกว่า การไม่ไปเรียนจะแปลว่าล้มเหลว อยู่ที่คุณเรียนรู้จากสิ่งที่คุณทำได้หรือเปล่า เวลาทำงานจริงต่อให้คุณเรียนมาแค่ไหน สิ่งที่ทำงานจริงกับสิ่งที่ตำราบอกไว้ก็ไม่เหมือนกัน เราต้องรู้จักประยุกต์ รู้จักประเมินผลว่า เราทดลองทำอย่างนี้เวิร์กไม่เวิร์ก ถ้าเวิร์กก็ลุยต่อ ไม่เวิร์กก็ต้องหาวิธีใหม่มาทำ แต่อย่างน้อยเรามีหลักคิด”

 
แก้ปัญหาอย่างคนมีตรรกะ
 
วรวุฒิบอกว่า ความรู้จะทำให้เราคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้เรามีแนวทางในการแก้ปัญหา แต่ยังนำไปสู่ไอเดียในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อันเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ 
 
“บางทีปัญหาก็ไม่ได้แย่เสมอไปนะ หลายครั้งปัญหาช่วยให้เราได้ต่อยอดการเรียนรู้ ครั้งหนึ่งธุรกิจของผมเกือบไปไม่รอดเพียงเพราะเราขายดีจนเก็บเงินไม่ทัน ทำให้กระแสเงินสดมีปัญหาจนต้องเกือบเอาไม่รอดเหมือนกัน คือเดือนหนึ่งเราขาย 26 วันแต่ลูกค้าหลายรายที่เราขายในหนึ่งเดือนเก็บเงินเขาได้แค่หนึ่งวันทำให้เราเก็บเงินไม่ทัน พอไม่ทันลูกค้าก็ให้ไปเก็บเงินเดือนหน้า แต่เดือนหน้าเราก็ยังเก็บไม่ทันอีก เพราะเก็บได้แค่วันเดียว ตอนนั้นเราแทบไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน ทั้งๆ ที่สินค้าขายดีแล้วลูกน้องก็ทำงานหนักมาก ช่วงนี้เองที่เราเอาระบบไอทีมาใช้เพราะเริ่มประเมินแล้วว่าเงื่อนไขการเก็บเงินที่เราเจอตอนนั้นมันมีตั้ง 80 เงื่อนไข จากปัญหาในครั้งนั้น เลยเป็นโอกาสที่ทำให้เราเห็นความสำคัญของการเอาไอทีเข้ามาช่วยบริหารจัดการงานต่างๆ ในบริษัททั้งระบบตั้งแต่สต็อก การจัดส่ง ระบบขาย ทำศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ให้สามารถตอบลูกค้าได้ในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งสิ่งที่ออฟฟิศเมทแตกต่างจากบริษัทอื่นก็คือเวลาเจอวิกฤตหรือปัญหาเราจะหาเครื่องมือหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสมอแล้วก็พัฒนาจากจุดนั้นขึ้นมา จากไอทีตอนแรกเรามีโปรแกรมเมอร์แค่คนเดียวจนเดี๋ยวนี้มีเกือบร้อยคนเราเขียนและออกแบบโปรแกรมการทำงานด้วยตัวเองไม่ซื้อซอฟต์แวร์จากที่อื่นเลยเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดเดียวกัน เรามีทีมไอทีที่ใหญ่มาก การที่เราลงทุนสร้างทีมไอทีที่แข็งแกร่งทำให้เราพัฒนากระบวนการสร้างโนว์ฮาวของเราขึ้นมาเอง เพราะไอทีจะไปสนับสนุนกระบวนการ และกระบวนการที่ดีก็ต้องมีตรรกะที่ดีนำมาก่อนเราใช้รูปแบบนี้ในการพัฒนาการทำงานของเรา"
 
วรวุฒิเล่าว่า การผลักดันธุรกิจให้เติบโตมีมูลค่าหมื่นล้านเช่นปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายเหมือนเช่นตอนเริ่มต้น ระหว่างทางออฟฟิศเมทต้องเจอกับปัญหาที่เป็นเหมือนบททดสอบอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทุกครั้งที่เกิดปัญหาเขาจะใช้หลักคิดแบบพุทธศาสนาที่ว่า “เพราะมีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนั้น” ในการนำพาธุรกิจที่เขาสร้างเดินผ่านพ้นวิกฤตไป
 
“อิทัปปัจจยตา หรือเพราะมีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนั้น เป็นการคิดแบบปฏิกิริยาลูกโซ่ ผลย่อมเกิดแต่เหตุ ก็คือหลักเหตุผลนั่นแหละ เผอิญผมเป็นคนชอบศึกษาศาสนาพุทธ แล้วไม่ใช่มาเริ่มศึกษาเอาช่วงที่เกิดวิกฤตในชีวิตขึ้นนะ ผมศึกษามาตั้งแต่ช่วงที่เรียนอยู่ มศ. 5 แล้ว ตอนนั้นได้อ่านหนังสือศาสนาแล้วชอบ เหมือนได้อ่านปรัชญา คือชอบหลักคิด ไม่ได้อ่านเพราะเคร่งศีลธรรมจรรยาอะไรหรอก แต่ชอบแนวคิด และตรรกะของพุทธศาสนา ก็จะศึกษาหลักปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นแก่นของการวิเคราะห์ปัญหาของพุทธศาสนา เราก็เอามาใช้กับการทำงานด้วย และชีวิตประจำวันด้วย แต่ได้ใช้มากๆ กับการทำงานมากกว่า ก็จะดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีอะไรเป็นเหตุ หรือเป็นปัจจัย แล้วถ้าเราจะแก้ตรงเหตุที่เป็นปัจจัยแล้ว เราจะต้องไปแก้ตรงไหนก่อน
 
“ถ้าคิดเป็นลูกโซ่แล้ว คุณจะรู้ว่าทุกปัญหาสุดท้ายมันจะไปจบที่คน ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่าการทำงานทุกอย่างสุดท้ายแก่นมันอยู่ที่คน ถ้าเอาคนแย่ๆ มาอยู่ในระบบดีๆ ระบบดีแค่ไหนก็เละ แต่ถ้าเอาคนดีๆ ไปอยู่ในระบบแย่ๆ ไม่นานหรอกเดี๋ยวคนพวกนี้ก็จะช่วยพัฒนาระบบขึ้นมาได้ ระบบที่สร้างขึ้นมาไม่ใช่ทำขึ้นมาเพื่อควบคุม แต่เป็นการปฏิสัมพันธ์กับคนมากกว่า การบริหารจัดการก็คือ การบริหารคน เราจะทำยังไงให้คนเข้าใจในสิ่งที่องค์กรคิด แล้วทำยังไงให้เขาคิดเห็นด้วยกับสิ่งที่องค์กรกำลังจะทำ การจะทำให้เขาเห็นด้วยได้ก็คือ ทำให้เขามีจุดหมายร่วมกับเรา ผมจะบอกกับลูกน้องเสมอว่าเมื่อไหร่ที่บริษัทดีขึ้น ชีวิตพวกคุณดีขึ้นด้วยเสมอ เขาก็จะรู้สึกว่าเขาอยากจะทำให้บริษัทดีขึ้น แต่การพูดเป็นเรื่องง่าย ที่ยากคือทำให้เขาเชื่อในสิ่งที่เราพูด ซึ่งต้องใช้การกระทำพิสูจน์
 
“หลักคิดแบบนี้เป็นหลักคิดแบบแบ่งปัน หรือ Profit Sharing ที่ฝรั่งเรียกกัน แต่ผมมองว่าเรื่องอย่างนี้คือแก่นของการบริหารมนุษย์ เพราะถ้าเราเข้าใจความต้องการของเขา ทำให้เขาอยากเติบโตพร้อมๆ กับบริษัท เขากับบริษัทก็มีเป้าหมายอันเดียวกัน ไม่ได้ขัดแย้งกัน เราก็เอาหลักคิดแบบนี้มาสร้างเป็นระบบให้ผลตอบแทน เรารู้ว่ามนุษย์อยากได้ผลตอบแทนตามความสามารถที่ตัวเองมี เราก็ออกแบบระบบให้สามารถจ่ายค่าตอบแทนตามจำนวนผลงานที่ได้รับ ขณะเดียวกันระบบของเราก็ต้องมีการควบคุมตรวจสอบที่ดีพอเพื่อไม่ให้เกิดการโกงด้วย เมื่อคุณมีระบบการตรวจสอบที่ดีคุณก็จะกล้ากระจายอำนาจ แต่จะมีระบบควบคุมตรวจสอบที่ดีได้ คุณก็ต้องมีระบบบัญชีที่ดีก่อน นี่คือวิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้วจะเอาไปใช้ในการบริหารจัดการอะไรก็ได้ เพราะคุณจะสร้างเงื่อนไขเหตุและผลที่ดีไว้รองรับเสมอ”
 
เสพติดความสำเร็จ
 
วรวุฒิบอกว่า เขาใช้หลักคิดอิทัปปัจจยตาในการแก้ปัญหาทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิต กระนั้นก็ยอมรับว่ามีบ้างบางเรื่องที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งเขาก็มองว่า ความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่เคยผ่านช่วงเวลาของความล้มเหลวมาก่อน
 
“เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีบ้างบางเรื่องที่เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง ตัวผมเองทุกวันนี้ก็มีความโง่อยู่เยอะ บางอย่างเราก็มองไม่ทะลุตัวเอง หรือมองเข้าข้างตัวเองไปบ้าง ไม่มีใครหรอกที่สมบูรณ์แบบได้จริงๆ ชีวิตผมก็มีหลายเรื่องที่ล้มเหลว แต่พอล้มเหลวแล้วทำให้เราอยากเรียนรู้ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ ผมบอกเลยว่าเพราะผมล้มเหลวบ่อย แล้วเราเรียนรู้บ่อย ก็สามารถแก้ไขตัวเองให้ดีขึ้นได้ แต่ถ้าคุณไม่เคยลงมือทำอะไรเลยคุณก็จะไม่เคยล้มเหลว ถ้าคุณไม่เคยล้มเหลว และไม่เคยเรียนรู้จากความล้มเหลว คุณก็จะล้มเหลวอย่างสมบูรณ์แบบ 
 
“สิ่งที่ผมทำไม่ได้เลย คือเรื่องการสร้างสมดุลให้กับชีวิต ไลฟ์สไตล์ผมเป็นคนทำงานตลอดเวลา ทำงานหนักโดยไม่รู้ตัว ตอนนี้เลยต้องหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ถ้ามีเวลาก็จะไปว่ายน้ำ พยายามจับเวลาและเพิ่มขีดความเร็วในการว่ายเพื่อเพิ่มอัตราจังหวะการเต้นของหัวใจให้เหมาะสมกับการรักษารูปร่างและลดน้ำหนัก แล้วก็ใส่ใจกับการกินมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่เคยกินแต่อาหารอร่อย แต่มีไขมันสูง หรือรสจัดจ้านเกินไป ก็เลิกไป หันมากินผักและผลไม้มากขึ้น พอมีเวลาพักผ่อนมากขึ้นก็เริ่มหัดเล่นกีตาร์ หรือไม่ก็เล่นเปียโนกับลูกชาย พยายามใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น”
 
วรวุฒิบอกว่า เขามีความสุขเมื่อเห็นงานที่ทำเกิดผลสำเร็จ ซึ่งเขาเชื่อว่าผู้บริหารเก่งๆ แทบทุกคนล้วนเป็นพวกเสพติดความสำเร็จเช่นเดียวกับเขา ซึ่งบางครั้งไม่ได้ต้องการเงินทองอะไร หากแต่อยากเห็นเพียงแค่ว่าสิ่งที่ตนคิดเป็นจริงในทางปฏิบัติ โดยตั้งเป้าไว้ถ้าต้องเกษียณจากงานประจำที่ทำอยู่จริงๆ ก็อยากจะผันตัวเองไปทำงานโค้ชชิ่งเพื่อช่วยให้ความรู้กับธุรกิจเอสเอ็มอีต่อไป เพราะสำหรับเขาแล้วการต้องอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำงานยังเป็นเรื่องที่น่าเครียดเสียยิ่งกว่าการเครียดกับงานที่ทำอีก
 
ที่มา : วารสาร K SME Inspired ธนาคารกสิกรไทย
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน