Text : กองบรรณาธิการ
ย้อนไปเมื่อราว 70 กว่าปีก่อน สมัยที่ถนนเยาวราชยังเป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าหลักของคนกรุงเทพฯ ในยุคที่ห้างร้าน ซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ยังไม่มีเกิดขึ้นมากนัก ร้านขายน้ำพริกเผาเล็กๆ แห่งหนึ่งก็ได้เริ่มต้นก่อตัวขึ้นจากที่นี่ ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร รสชาติกลมกล่อม ไม่เผ็ดมาก จึงทำให้เป็นที่นิยมถูกอกถูกใจบรรดาร้านอาหารน้อยใหญ่ พ่อครัวจากร้านอาหารชื่อดังหลายแห่งมักซื้อไปปรุงอาหารให้กับลูกค้า จนเกิดการร่ำลือบอกต่อปากต่อปาก
จากร้านน้ำพริกเผาเล็กๆ จึงเติบโตขึ้นมามีแบรนด์เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ฉั่วฮะเส็ง” แต่เมื่อเวลาดำเนินมาถึงโลกยุคดิจิตอลที่อะไรๆ ก็สามารถทำได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วขึ้น การพยายามรักษาคุณภาพเอาไว้ให้เหมือนเช่นเดิมและอาศัยการบอกต่อปากต่อปาก อาจไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ได้
ด้วยเหตุนี้ทำให้เราได้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของฉั่วฮะเส็ง จากน้ำพริกเผากระป๋องอะลูมิเนียมที่นิยมใช้กันในหมู่พ่อครัวแม่ครัวหัวป่าก์ ก็กลับกลายมาเป็นน้ำพริกเผาไซส์มินิที่ใช้งานได้สะดวกเหมาะกับครัวเรือนต่างๆ มากยิ่งขึ้น อะไรคือ ที่มาของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว พิทักษ์ พรหมบันดาลกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ฉั่วฮะเส็ง ฟู้ดโปรดักส์ จำกัด คือ ผู้ที่จะมาให้คำตอบในครั้งนี้
“ฉั่วฮะเส็ง เป็นแบรนด์เก่าแก่ดั่งเดิมที่ทำการค้าขายมานาน เติบโตขึ้นมาด้วยอาศัยการบอกต่อปากต่อปาก เพราะใช้แล้วติดใจในคุณภาพ แต่พอวันหนึ่งที่โลกเปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมาก สินค้าต่างๆ ก็มีเพิ่มมากขึ้น พอต้นทุนต่ำ ทุกคนก็สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น SME ใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นมากมาย ฉะนั้นเราเป็นแบรนด์เก่าจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ เพราะถึงแบรนด์จะแข็งแรง แต่หากไม่มีการต่อยอด ก็อาจจะทำให้แบรนด์ตายหรือหายไปได้ ฉะนั้นเราเองจึงต้องการเปิดตัวแบรนด์ออกสู่ตลาดมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างการจดจำให้แก่ลูกค้า ประจวบเหมาะกับสื่อดิจิตอลเข้ามาพอดี ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก มีทางเลือกมากกว่าสื่อสมัยก่อน จึงทำให้เราสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น นับเป็นช่องทางหนึ่งที่เข้ามาช่วยเราได้มากขึ้น
นอกจากการพยายามสร้างแบรนด์ให้เข้าไปสู่ผู้บริโภคได้มากขึ้นแล้วโดยผ่านสื่อดิจิตอลแล้ว การปรับตัวรองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ ที่จะช่วยให้ธุรกิจเจริญเติบโตก้าวหน้าไปต่อได้
“เดิมทีลูกค้าหลักของเรา คือ ร้านอาหาร ซึ่งแต่ก่อนเราจะมีแต่ไซล์ใหญ่เป็นกระป๋องอะลูมิเนียม แต่ตอนนี้หลังจากที่พยายามสื่อสารกับผู้บริโภคมากขึ้น เรามองถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคโดยตรงด้วย เรามีการปรับขนาดและการใช้งานให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้านี้มากขึ้น เพราะการใช้งานของลูกค้าแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน แต่ก่อนอาจจะมีแค่ B to B (Business to Business) แต่ตอนนี้มี B to C (Business to Customer) เพิ่มขึ้นมาด้วย ในส่วนของช่องทางจำหน่ายเราก็ต้องกระจายให้ได้มากที่สุด โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ เรามีอัตราการเติบโตค่อนข้างดีมาก เนื่องจากเมื่อก่อนเราเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้สื่อสารมากนัก แต่วันนี้คนเริ่มเห็นเรามากขึ้น เมื่อก่อนเขาอาจจะรู้จัก แต่ไม่ได้นำมาใช้โดยตรง แต่ตอนนี้มีขนาดที่เหมาะสมกับเขาแล้ว ลูกค้าก็เพิ่มมากขึ้น โดยแต่ละปีเราเติบโตมากกว่า 20-30 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว”
นอกจากเหตุผลการปรับตัวทางด้านธุรกิจ พิทักษ์มองว่าผู้ประกอบการ SME เองก็ควรที่จะปรับตัว เพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนาตัวผู้ประกอบการเอง ยังอาจช่วยสร้างมุมมองความคิดใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดกิจการได้ในอนาคตด้วย
“ผมว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถึงเราไม่เปลี่ยนลูกค้าก็ต้องเปลี่ยนอยู่ดี ถ้าเราไม่เปลี่ยนเราก็ทำงานกับเขาไม่รู้เรื่อง ซึ่งบางครั้งมันก็ทำให้สื่อสารกันง่ายขึ้น อย่างแต่ก่อนเวลายืนยันสั่งซื้อสินค้า ลูกค้าจะแฟ็กซ์และก็ส่งอีเมลล์ แต่ตอนนี้บางทีก็ส่งไลน์มาง่ายๆ บางครั้งก็เข้ามาซื้อขายผ่านไลน์ก็มีทั้งที่เป็นองค์กรใหญ่ และค่อยส่งเอกสารยืนยันกันอีกที คือ เทคโนโลยีมันช่วยให้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น ซึ่งจริงๆ มันอยู่ใกล้ตัวเรามากๆ อยู่แล้ว เพียงแค่ว่าจะต่อยอดเอามาปรับใช้ยังไงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการหาเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรใหม่ๆ การค้นหาแหล่งวัตถุดิบ ทุกอย่างมันทำได้ง่ายขึ้น เพียงแค่เราเปิดรับ ผมมองว่าเราลองเริ่มจากง่ายๆ ก่อน คือ เปิดรับก่อนก็ได้ ดูว่าอันไหนเหมาะกับเราหรือไม่เหมาะกับเรา และค่อยมาพิจารณาใช้อีกที โดยเฉพาะด้านการสื่อสารกับผู้บริโภคสามารถทำได้ง่ายขึ้น ราคาถูกลง ซึ่ง SME ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็สามารถใช้ได้ ขอแค่เนื้อหาที่ชัดเจนว่าต้องการสื่อสารอะไร จึงถือว่าดิจิตอลเป็นเครื่องมือที่ช่วยได้มากในยุคนี้”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี