​เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนคิดจะปลูกผักสลัดขาย

Text : Miss.Nim
Photo : กฤษฏา ศิลปไชย


    จากกระแสรักสุขภาพที่มาแรง เริ่มเห็นผู้คนหันมาดูแลใส่ใจกับตัวเองอย่างจริงจังมากขึ้น ทำให้ยอดขายสินค้าสุขภาพเลยพุ่งตามไปติดๆ ผักสด ผลไม้ปลอดสารพิษดูเหมือนจะได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย จนกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจในฝันของใครหลายคนที่คิดเอาไว้ว่า วันหนึ่งอยากจะทำฟาร์มผักเล็กๆ ของตัวเอง โดยเฉพาะผักสลัดที่กำลังเป็นที่นิยมกันในขณะนี้ เพราะสามารถนำไปดัดแปลงเป็นเมนูได้หลากหลาย ที่สำคัญยังขายได้ราคาดีด้วย





    แต่ก็ใช่ว่าทำแล้วจะประสบความสำเร็จกันทุกคน เพราะนอกจากต้องปลูกผักให้ดีแล้ว ยังต้องขายให้เป็นด้วย มิเช่นนั้น ธุรกิจผักเขียวๆ ในฝัน อาจจะเหี่ยวเฉาลงแบบไม่ทันตั้งตัวก็ได้
 
ก่อนปลูกผักสลัดขายต้องรู้อะไรบ้าง
 




ผักสลัดเขียวๆ มาจากไหน?


    ผักสลัดที่นิยมปลูกและรับประทานกันมากในปัจจุบันมีอยู่ 6 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค คอส ฟิลเลย์ บัตเตอร์เฮด ปัตตาเวีย วิธีการที่นิยมใช้กัน คือ การปลูกแบบไฮโดรโปรนิกส์ ถ้าจะให้พูดเข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ การปลูกพืชไร้ดิน โดยใช้น้ำที่ผสมสารอาหารและแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต่อพืชหล่อเลี้ยงพืชให้เจริญเติบโต ซึ่งข้อดีของการปลูกพืชแบบไฮโดรโปรนิกส์ คือ ใช้เวลาในการเตรียมพื้นที่ปลูกน้อย หากเป็นดินต้องมีการเตรียมดินและกำจัดวัชพืช นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมการให้สารอาหารได้ดีและทั่วถึงกว่า ทำให้สามารถกำหนดขนาดของพืชให้เติบโตใกล้เคียงกันได้


    นอกจากการปลูกแบบไฮโดรโปรนิกส์แล้ว ผักสลัดยังสามารถปลูกลงดินได้เช่นเดียวกับผักอื่นๆ หากมีพื้นที่เหมาะสม ทั้งดินและอากาศที่เอื้ออำนวย เย็นตลอดทั้งปี ก็สามารถเพาะปลูกได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงเรือน ซึ่งมักเรียกสั้นๆ ว่า “ผักดิน”
 

อยากปลูกต้องลงทุนอะไรบ้าง?


    ในการลงทุนปลูกผักสลัดไฮโดรโปรนิกส์ สิ่งที่ต้องลงทุนหลักๆ ได้แก่ ที่ดิน โรงเรือน แปลงปลูก อุปกรณ์การปลูกและเมล็ดพันธุ์ต่างๆ


    เริ่มต้นต้องมาสำรวจก่อนว่า เรามีต้นทุนอะไรอยู่บ้าง เช่น พื้นที่ปลูกเป็นอย่างไร เหมาะสมต่อการปลูกลักษณะใด   ก่อนลงมือทำต้องมีการคำนวณคิดต้นทุนดีๆ ว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และจะขายในลักษณะใด ผลผลิตที่คาดว่าจะทำได้ สามารถตอบโจทย์หรือครอบคลุมต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหรือเปล่า มีกำไรเพียงพอให้สามารถทำธุรกิจได้หรือเปล่า


  • ที่ดิน หรือ พื้นที่ปลูก


    ต้องมาสำรวจก่อนว่าเรามีพื้นที่ปลูกอย่างไร เป็นที่ดินของตัวเองหรือพื้นที่เช่า หรือพื้นว่างของอาคาร เช่น บนดาดฟ้าตึก มีทำเลที่ตั้งอยู่ที่ใด ใกล้กับเมืองหรือต่างจังหวัด ซึ่งพื้นที่ปลูกจะเป็นหนึ่งในปัจจัยกำหนดวิธีการปลูกที่เหมาะสม รวมถึงลักษณะการทำธุรกิจ เช่น หากมีพื้นที่เล็กๆ อยู่ในเมือง กลุ่มลูกค้าอาจเป็นลูกค้าปลีก หรือส่งร้านอาหาร พ่อค้าแม่ค้ารายเล็กๆ เป็นในลักษณะปลูกเองขายเองในละแวกใกล้เคียง หรือดัดแปลงเป็นสลัดส่งขาย หรือเปิดร้านอาหารเล็กๆ ก็ได้ จะทำให้ได้ราคาดีกว่าขายส่ง แต่หากมีพื้นที่กว้างอยู่ต่างจังหวัดหรือนอกเมืองไปไกลๆ อาจปลูกเพื่อขายในลักษณะขายส่งให้กับเจ้าประจำรายใหญ่ ซึ่งต้องการปริมาณผักที่มากและสม่ำเสมอ


  •     โรงเรือนและแปลงปลูก


    ควรเลือกในแบบที่สนใจ แต่ทั้งนี้ต้องดูเรื่องของสภาพพื้นที่ ขนาดที่ต้องการลงทุน และเงินทุนที่มีด้วย
               

  • อุปกรณ์การปลูกและเมล็ดพันธุ์

·       
     1.อุปกรณ์ที่ใช้เพาะกล้า สามารถเลือกเป็นฟองน้ำ แกลบ หรือจะใช้เป็นเพอร์ไลท์ + เวอร์มิคูไลท์อย่างที่นิยมใช้ปลูกผักแบบไฮโดรโปรนิกส์ก็ได้ โดยเพอร์ไลท์จะเป็นก้อนเล็กๆ สีขาวไว้ช่วยยึดเกาะรากพืช ส่วนเวอร์มิคูไลท์จะเป็นก้อนแบนๆ มีสีน้ำตาลจะช่วยในเรื่องการอุ้มน้ำได้ดี


     2.เมล็ดพันธุ์ มีให้เลือก 2 ชนิด คือ แบบเคลือบดินและไม่เคลือบ เมล็ดเคลือบราคาแพงกว่าหลายเท่าตัว เนื่องจากเชื่อว่ามีเปอร์เซ็นต์การงอกที่ดีกว่า
·       

     3.ปุ๋ยหรือแร่ธาตุสำคัญ ที่ใช้สำหรับปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์จะเรียกว่า ปุ๋ย A B แร่ธาตุในปุ๋ย A ประกอบด้วย แคลเซียมไนเตรท, เหล็ก ดีพี, เหล็ก โล ปุ๋ย B ประกอบด้วย โปแตสเซียมไนเตรท, แมกนีเซียมซัลเฟต, โมโนโปแตสเซียมฟอสเฟส ซึ่งแต่ละตัวจะมีฤทธิ์ความเป็นกรดด่างต่างกัน เวลาใช้จึงต้องแยกผสมน้ำทีละตัว โดยเว้นระยะเวลาให้ห่างกันเล็กน้อย ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดตะกอน พืชไม่สามารถนำไปใช้ได้
 








ฟาร์มต้นผักแมวน้ำ ธุรกิจฟาร์มผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ เริ่มต้นได้ไม่ยาก


    บนพื้นที่กว่า 100 ตารางวา ย่านลาดพร้าว 64 คือพื้นที่ของฟาร์มผักสลัดไฮโดรโปนิกส์เล็กๆ แห่งหนึ่ง ชื่อว่า ฟาร์มต้นผักแมวน้ำ ที่เพิ่งเริ่มต้นได้เพียงปีเศษ คืองานอดิเรกที่กลายมาเป็นงานหลักของ บุษกร เบญจกุล


    “เราเริ่มต้นทำฟาร์มผักเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มีความคิดอยากทำมานานแล้ว ได้จังหวะออกจากงานพอดีเลยมาเริ่มต้นทำ เริ่มแรกก็ไปเรียนมาก่อนและมาทดลองปลูกด้วยตัวเอง จากนั้นก็หาพื้นที่ปลูก โชคดีมาได้พื้นที่ว่างใกล้บ้าน ทำให้สะดวกไม่ต้องเดินทาง ดูแลผักได้อย่างใกล้ชิด เราเป็นฟาร์มเล็กๆ ไม่ใหญ่มาก จึงใช้วิธีเปิดขายหน้าฟาร์ม และหาลูกค้ารายย่อย รวมถึงนำออกไปจำหน่ายขายเองบ้างตามตลาดนัดออฟฟิศหรือตลาดสด โดยเราพยายามใส่ใจคุณภาพและดูแลผักให้ดี ที่ฟาร์มของเราไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ใช้เป็นสมุนไพรพวกน้ำส้มควันไม้ไล่แมลงบ้าง เมล็ดที่ปลูก เราก็ใช้เมล็ดอย่างดี เป็นเมล็ดแบบเคลือบนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งลำต้นจะใหญ่และขึ้นทรงเป็นพุ่มสวยกว่า จึงขายได้ราคาดีกว่า อย่างหน้าฟาร์มเราขายต้นละ 25 บาท ถ้าชั่งน้ำหนักจะขายกิโลกรัมละ 100-120 บาท สำหรับคนที่เริ่มต้นปลูก อยากให้ลองเริ่มจากเล็กๆ ไปก่อนเมื่อมีตลาดเพิ่มมากขึ้นจึงค่อยขยายพื้นที่ปลูก เพราะความยากอย่างหนึ่งของการทำฟาร์ม นอกจากต้องดูแลให้ได้ผลผลิตดีแล้ว จะต้องบาลานซ์ระหว่างผลผลิตที่ได้กับการจำหน่ายออกไปให้สมดุลกันด้วย อย่างของเรามีลูกค้าปลีกด้วย เราจึงใช้วิธีค่อยๆ ปลูกไล่ไปทีละโต๊ะ เพื่อจะได้เก็บผักได้ทุกวัน เราจะปลูกแบบวันเว้นวันเลย บางฟาร์มก็ปลูกทุกวันหรือสัปดาห์ละ 2 ครั้ง แล้วแต่ว่าลูกค้าใครเป็นยังไง”
 




ปลูกแล้วขายที่ไหนดี?


    มีหลายตลาดให้เลือก แต่ก่อนลงทุน ควรวางแผนตั้งแต่แรกแล้วว่าจะขายแบบใด ลูกค้า คือ ใคร เกี่ยวเนื่องไปถึงปริมาณการผลิตที่สามารถผลิตได้ด้วย


    ตลาดขายส่ง เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มีพื้นที่เพาะปลูกเยอะ ผลิตผักได้คราวละจำนวนมากๆ ราคาที่ได้อาจจะต่ำกว่าตลาดอื่นๆ แต่อาศัยขายเร็ว ขายหมดไว


    ร้านอาหาร ส่วนใหญ่จะสั่งในปริมาณไม่มาก แต่สั่งบ่อย เพราะต้องการความสดใหม่ของสินค้า รวมถึงมีข้อจำกัดในพื้นที่จัดเก็บสินค้า จุดเด่นของตลาดประเภทนี้ คือ การจัดส่งที่ดี ตรงเวลา สร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้า    


    โมเดิร์นเทรด เป็นตลาดที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้า แบรนด์ดิ้ง และแพ็กเกจจิ้ง สินค้าต้องได้มาตรฐาน อาจขายได้ราคาดี แต่ค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างสูงตามไปด้วย เช่น ค่า GP ที่คิดจากยอดขายกว่า 20 -30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว


    โรงงานแปรรูป ที่ส่งให้กับร้านอาหารเชนต่างๆ เป็นช่องทางที่เหมาะสำหรับฟาร์มขนาดใหญ่ และมีระบบการปลูกที่เป็นระบบ ผักทุกต้นจะมีสเปคกำหนดว่าต้องปลูกได้ขนาดเท่าไหร่ เป็นตลาดที่น่าสนใจ ราคาปานกลาง แต่มีความต้องการใช้ที่แน่นอน ผู้ที่จะเข้าตลาดนี้ได้ต้องมีมาตรฐานในการผลิต เช่น GAP GMP


    ขายปลีกหน้าฟาร์ม หรือตลาดสีเขียว เป็นการขายตรงถึงมือผู้บริโภค ได้ราคาดีกว่า เหมาะสำหรับฟาร์มขนาดเล็ก มีปริมาณการผลิตไม่มาก โดยสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผักได้ เช่น การทำเป็นผักปลอดสารพิษ ไม่ใช่ยาฆ่าแมลง
ผู้สนใจในช่องทางนี้ต้องเน้นการสร้างแบรนด์และทำการตลาดควบคู่กันไป
 


อยากผักขายเข้าห้างต้องทำอย่างไร?


    บุญชะนะ เอกวานิช เจ้าของร้านสลัดจานด่วน farmfactory - Healthy Fast Food แห่งแรกของไทย ได้เล่าถึงประสบการณ์การนำผักสลัดเข้าไปวางขายในห้าง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจ ภายใต้แบรนด์ The Secret Salad Farm ก่อนที่จะต่อยอดเป็นร้านสลัดจานด่วนไว้ว่า


    “การจะเข้าโมเดิร์นเทรดหรือห้างใหญ่ๆ สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องมีมากๆ คือ ความสม่ำเสมอในการส่ง และมาตรฐานการผลิต เริ่มต้นผมลองไปติดต่อที่แม็คโคร ก็ได้คำตอบกลับมาว่าเขาต้องการผักสัปดาห์ละ 200 กิโลกรัม ซึ่งในตอนนั้นฟาร์มของเราสามารถผลิตได้ประมาณ 100 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ พอกลับมาเราก็เริ่มมาวางแผนการผลิต เริ่มเพิ่มโต๊ะปลูก จากเดิมปลูกอยู่ 1 ไร่ก็ขยายเป็น 4 ไร่ ในระหว่างนั้นเราก็ยื่นขอมาตรฐาน GAP ไว้ด้วยเลย เมื่อทุกอย่างพร้อมก็กลับไปคุยกับเขาอีกครั้ง จนรอทำเรื่องอยู่ 6 เดือน ก็ได้เข้าไปวางขาย แต่ก็ใช่ว่าเขาจะซื้อเราประจำเลย ต้องมีช่วงทดลองงานอีก 3 เดือนว่าเราสามารถส่งให้เขาได้สม่ำเสมอหรือเปล่า จนปัจจุบันเราส่งประจำให้กับแม็คโครทั้ง 4 สาขาในจังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้เรายังมีส่งให้กับ super cheap ด้วย เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ท้องถิ่นอีกกว่า 50 สาขา ในส่วนของ super cheap ลูกค้าที่มาซื้อส่วนใหญ่เป็นลูกค้าปลีก เราต้องจัดใส่ถุงไว้ถุงละ 2-3 ขีด ส่วนของแม็คโครลูกค้าที่มาซื้อไปใช้ คือ ร้านอาหาร พ่อค้าแม่ค้าที่เอาไปแปรรูปขายอีกที เราจะใส่เป็นแพ็คละ ½ กิโลกรัม
ในการคิดค่าตอบแทน มีให้เลือกหลายวิธีขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างทั้งสองฝ่าย เช่น เสียค่า GP ซึ่งส่วนใหญ่จะคิดกันที่ 30 เปอร์เซ็นต์ จากยอดขาย และบางแห่งอาจเก็บค่าขึ้นเชลล์ด้วย แต่ระบบนี้ถ้าสินค้าเหลือต้องมีการเข้าไปเก็บสินค้าเอง อีกระบบ คือ ขายขาดให้ห้างไปเลย ผมเลือกระบบนี้ ถึงแม้จะได้กำไรน้อยกว่า แต่ก็ยุ่งยากน้อยกว่า ซึ่งห้างที่รู้ว่าสินค้าขายได้แน่นอน เขาจะชอบระบบนี้ เพราะทำกำไรได้มากกว่า”
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน