Text : กองบรรณาธิการ
อะไรๆ ก็ขายออนไลน์ แม้แต่ “ส้ม” เกษตรยุค 4.0 แบบไม่ง้อพ่อค้าคนกลางที่ทำให้ “ส้มอองตอง” แบรนด์ส้มสายน้ำผึ้งจากอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ของ สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้มากขึ้นจากช่องทางออนไลน์ โดยมีจุดเริ่มต้นจาก วิบูลย์ ไชยมงคล และ อังคณา อ่างทอง คู่ชีวิตที่มีความตั้งใจเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตรแบบเดิมๆ ไปสู่เกษตรสมัยใหม่ กลายเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่โลดแล่นอยู่บนโลกออนไลน์ ทำเอง ขายเอง ไม้ต้องง้อพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป
สวนส้มแปลงเล็กๆ เพียง 12 ไร่ของคนทั้งคู่ในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเดิมนั้นเคยเป็นสวนส้มที่ยืนต้นใกล้ตายด้วยโรคระบาดอย่างหนักเมื่อช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา
“5 ปีที่แล้วมีคนรู้จักแนะนำให้ไปดูสวนส้มที่เขาเลิกกิจการ ด้วยเห็นว่าเราทำธุรกิจเกี่ยวกับเคมีเกษตร ผลิตพวกปุ๋ย ยา สารอาหารที่จะบำรุงต้นส้มอยู่แล้ว เราก็ตัดสินใจขับรถจากลพบุรีไปอำเภอฝาง ประมาณ 700 กว่ากิโลเมตร เพื่อไปดู เพราะช่วงนั้นธุรกิจด้านเคมีเกษตรค่อนข้างอิ่มตัว พื้นที่ทำการเกษตรในจังหวัดลพบุรีกลายเป็นนาข้าว 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีพืชอื่นเลย บวกกับภัยน้ำท่วม ธุรกิจเราจึงทรุดตามไปด้วย ทำให้เราตัดสินใจคว้าโอกาสที่จะลองพลิกแนวมาเป็นเกษตรกรไร่ส้มดูบ้าง เพราะอยู่นิ่งไม่ค่อยเป็น ประกอบกับสมัยตอนเรียนปริญญาโททางด้านเกษตรก็ติดตามอาจารย์ไปดูสวนส้ม สวนลำไย ในเขตภาคเหนืออยู่บ่อย ทำให้พอรู้ปัญหาของการทำสวนส้มว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง โดยเฉพาะเมื่อ 6 ปีก่อน ราคาส้มตกต่ำมาก ทั้งโรคระบาดในส้มที่กระจายไปทั่วพื้นที่ภาคเหนือ แต่เราก็ตัดสินใจสู้และทำให้ดีที่สุด”
สองสามีภรรยาช่วยกันพลิกฟื้นสวนส้มให้กับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยใช้ความรู้และความใส่ใจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ด้วยการให้ความสำคัญเรื่องดิน น้ำ และการบำรุงรักษา เนื่องจากส้มเป็นพืชที่อ่อนไหวต่อโรคง่าย ดังนั้นการทำความเข้าใจกับวงจรของต้นส้ม ระบบการดึงอาหารของราก ลำต้น ใบ ตลอดจนสภาพภูมิอากาศในอำเภอฝางที่มีอากาศเย็นทั้งปี เหมาะกับส้มสายน้ำผึ้งอยู่แล้ว ทำให้การจัดการทุกอย่างง่ายขึ้น ประกอบกับข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนที่ต่ำในเรื่องยารักษาโรค สารอาหาร หรือสารเคมีต่างๆ จึงเป็นปัจจัยที่เสริมให้สวนส้มอองตองฟื้นตัวได้เร็ว จากต้นส้มสายน้ำผึ้งเดิมมีเพียง 800 ต้น ปัจจุบันกลายเป็น 2,000 ต้น ให้ผลผลิตได้ 100 ตัน จากพื้นที่ทั้งหมด โดยใช้เวลาปรับสภาพสวนเพียง 3 ปี
ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ทั้งสองจึงใช้เครื่องมือออนไลน์ที่มีอยู่อย่าง เฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์ เป็นช่องทางขายผลผลิตออนไลน์ ขับเคลื่อนธุรกิจโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง แม้ช่วงแรกๆ ที่เริ่มมีผลผลิตให้เก็บเกี่ยว สัดส่วนพ่อค้าที่มารับหน้าสวนสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยสาเหตุเดิมๆ ในเรื่องการกดราคา รวมถึงผลผลิตก็ไม่ได้มากเหมือนสวนใหญ่ๆ ทั้งคู่จึงตัดสินใจที่จะขายออนไลน์ให้ผู้บริโภคโดยตรง โดยดึงจุดเด่นในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสวนผ่านสื่อโซเชียลในทุกๆ วัน เน้นการลงภาพบรรยากาศของสวนส้ม การทำงาน การดูแลเอาใจใส่ และการออกแบบแพ็กเกจกล่องส้มให้มีความแข็งแรงและน่าสนใจ ตลอดจนคำว่าอองตองซึ่งเป็นชื่อแบรนด์แปลว่าสดใส ผุดผ่อง เป็นภาษาคำเมือง และเป็นชื่อของลูกชายคนเดียวด้วย ฟังแล้วสะดุดหู จึงทำการตลาดได้ไม่ยาก
“ช่วงแรกๆ ที่เรายังพึ่งพ่อค้าคนกลางเราไม่มีทางทราบได้เลยว่า ช่วงไหนจะถูก ช่วงไหนจะแพง เพราะเขาเป็นคนกำหนดราคา จากปีแรกที่เราขายให้พ่อค้าคนกลางถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ออนไลน์ 30 เปอร์เซ็นต์ เราก็พลิกกลับมาเป็นขายให้พ่อค้าคนกลาง 40 เปอร์เซ็นต์ และขายออนไลน์ 60 เปอร์เซ็นต์ เราสามารถกำหนดราคาด้วยตัวเองได้ เพราะเราใส่ใจ ไม่ใช่ว่าเอาส้มไม่ดีใส่กล่องให้ลูกค้าไป เราไม่ทำแบบนั้น ส้มของเรามีคุณภาพ ตั้งแต่การคัดขนาด บรรจุกล่อง และระบบขนส่งเอกชนที่ถึงมือลูกค้าเร็วและไว้ใจได้ เรามีแพ็กเกจที่ออกแบบมาให้เหมาะกับผลิตภัณฑ์ เป็นกล่องกระดาษลูกฟูกสีน้ำตาล มีหูจับ แข็งแรงไม่ทำให้ผลส้มช้ำระหว่างการขนส่ง จริงๆ แล้ว ผลส้มเราก็มีห่อพลาสติกอยู่แล้วชั้นหนึ่ง ฉะนั้นเราพูดได้เต็มปากว่า ส้มของเรามีคุณภาพตั้งแต่กระบวนการปลูก ดูแลรักษา เก็บเกี่ยว และการส่งต่อจนถึงมือลูกค้า” วิบูลย์ กล่าว
ด้านอังคณา กล่าวเสริมว่า อีกปัจจัยที่ทำให้การขายออนไลน์ดูจะมีภาษีดีกว่าการขายหน้าสวนให้พ่อค้าคนกลางก็คือ ความแตกต่างของราคาที่เห็นได้ชัด โดยราคาหน้าสวนที่พ่อค้ารับซื้ออยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 40 - 50 บาท เมื่อขายเองแบบออนไลน์สามารถทำราคาได้ถึง 100 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับขนาดของผลส้ม ซึ่งส้มอองตองที่ส่งให้ลูกค้าออนไลน์จะถูกคัดเฉพาะเบอร์ 6 ซึ่งเป็นขนาดใหญ่สุดของส้มอองตอง เพื่อให้ลูกค้าได้มีความสุขกับการรับประทานส้มที่มีรสชาติหวานกำลังดี ส้มที่ถือว่าอร่อยและมีรสชาติดีคือเบอร์ 5 และเบอร์ 6 โดยจะให้รสชาติเปรี้ยวอมหวาน เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ แต่ถ้าเป็นเบอร์ 7 หรือเบอร์ใหญ่สุดจะออกหวานอย่างเดียว ส่วนใหญ่เอาไว้ไหว้เจ้าหรือคนมีอายุจะชอบ
“เราให้ความสำคัญกับการตอบคำถามมาก เพราะในโลกออนไลน์ถ้าลูกค้าอินบ็อกซ์มาปุ๊บต่อให้เราขับรถอยู่หรือทำธุระส่วนตัว เราต้องเข้าใจว่าเขาต้องการคำตอบตอนนั้น เพราะถ้าเราตอบช้าหรือข้ามวันแล้วมาตอบ นั่นหมายถึงเราพลาดโอกาสในการขายแล้ว ฉะนั้นเราจะตอบทุกคำถาม และใส่ใจในทุกรายละเอียด เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสที่เข้ามา” วิบูลย์ย้ำว่าการขายออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จ ความเร็วในการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย
เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน